8/21/09
อนามัยโลกเผยไทยสอบตกทุกมาตรการสร้างความปลอดภัยบนถนน
วันที่ 21 สิงหาคม 2552:อนามัยโลกเผยไทยสอบตกทุกมาตรการสร้างความปลอดภัยบนถนน
ตัวแทนองค์การอนามัยโลกเปิดเผยรายงานความปลอดภัยทางถนนปี 51 ระบุไทยตกรวด 5 มาตรการสร้างความปลอดภัยการเดินทางบนถนน ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผนึกกำลังลุยลดอุบัติเหตุ ตำรวจเตรียมยกระดับปัญหาอุบัติเหตุเทียบชั้นปัญหาอาชญากรรม รวมในกลุ่มคดีต้องแถลงผลงานประจำเดือน
วันที่ 20 ส.ค.52 ที่ไบเทค บางนา ในงานสัมมนาระดับชาติเรื่องอุบัติเหตุจราจร ครั้งที่ 9 หัวข้อ “พลังเครือข่ายเพื่อถนนปลอดภัย” จัดโดยศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย มีการเสวนาเรื่องสถานการณ์อุบัติเหตุบนท้องถนน ดำเนินรายการโดย กฤษณะ ไชยรัตน์
ดร.มัวรีน เบอร์มิ่งแฮม ตัวแทนองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยรายงานความปลอดภัยทางถนน ซึ่งได้ทำการศึกษาเมื่อปี 2551 พบว่า การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนโดยเทียบกับอัตราการครอบครองยานพาหนะในประเทศต่างๆ ทั่วโลกนั้น ประเทศที่ครอบครองยานพาหนะสูง หรือประเทศที่ร่ำรวย มีความสูญเสียจากอุบัติเหตุน้อยกว่าประเทศที่มีประชากรครอบครองยานพาหนะน้อยกว่า รวมถึงในประเทศไทย
ทั้งนี้ การศึกษาถึงสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและมาตรการป้องกัน 5 ประการ พบว่า ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกจำกัดความเร็วของรถยนต์ในเมืองอยู่ที่ 50 กม.ต่อชั่วโมง แต่ประเทศไทยได้จำกัดความเร็วที่ 80 กม.ต่อชั่วโมง ซึ่งเมื่อนำไปเทียบและจัดเป็นดัชนีชี้วัดทำให้ มาตรการเกี่ยวกับความเร็วของไทยได้คะแนนเพียง 2 จาก 10 ในส่วนมาตรการดื่มแล้วขับ แม้มาตรฐานแอลกอฮอลล์ในกระแสเลือดของไทยจะเท่ากับประเทศต่างๆ แต่ด้วยองค์ประกอบอื่นๆ ทำให้ประเทศไทยได้ได้คะแนนเพียง 5 ด้านมาตรการหมวกนิรภัย ซึ่งช่วยลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ได้ถึงร้อยละ 40 แต่จากการเก็บสถิติในปี 50 อัตราการใส่หมวกของผู้ซ้อนท้ายยังอยู่ในระดับที่ต่ำมากจึงได้เพียง 4 ส่วนการใช้เข็มขัดนิรภัยได้ 5 และมาตรการสุดท้าย การกำหนดให้มีที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กนั้น ประเทศไทยไม่มีการบังคับใช้หรือมีมาตรการใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงไม่ได้คะแนน
นายจำเริญ ยุติธรรมสกุล ตัวแทนกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงงานของกรมควบคุมบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนว่า ที่ผ่านมาสถิติการเกิดอุบัติเหตุได้ลดลงตามลำดับ แต่คาดว่าตัวเลขคงไม่ลดลงตลอดไป เพราะจำนวนคนเพิ่มและรถบนท้องถนนก็เพิ่มขึ้น พร้อมระบุถึงเป้าหมายว่าจะผลักดันแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนจะลดจำนวนผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุบนท้องถนนจากปี 2547 ที่มีกว่า 22.21 คนต่อประชากรแสนคน ให้อยู่ที่ 14.15 คนต่อประชากรแสนคนให้ได้ในปี 2555
ด้านนายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ นักวิชาการจากสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สถานการณ์อุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดจาก 3 ปัจจัย ประกอบด้วย คน ถนน และรถ ในเรื่องคน กระทรวงคมนาคมเตรียมยกระดับมาตรฐานการขับขี่และการออกใบอนุญาตขับขี่ โดยเปิดให้มีโรงเรียนสอนขับรถยนต์ที่มีมาตรฐานมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรบแก่ผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะ และรถบรรทุกด้วย โดยในเรื่องรถ นอกจากการส่งเสริมการตรวจเช็กสภาพรถ กำหนดให้รถโดยสารสาธารณะมีการเช็กสภาพ 2 ครั้งต่อปี โดยเฉพาะรถที่มีการประกอบในประเทศ ส่วนปัจจัยด้านถนน มีการกำหนดจุดอันตรายเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ส่วนแผนการที่สำคัญในอนาคตเตรียมนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาใช้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ
ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถานบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ภารกิจหลักของสถาบัน คือการส่งต่อผู้บาดเจ็บจากจุดเกิดเหตุไปยังโรงพยาบาลอย่างปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันมีการขนส่งทางบกเป็นหลัก และเร็วๆ นี้ทางสถาบันจะทำข้อตกลงกับสามเหล่าทัพ เพื่อขอใช้เฮลิคอปเตอร์ทหารเพื่อขนส่งคนเจ็บด้วย ทั้งนี้สถาบันได้กำหนดมาตรฐานการบริการว่า ภายในเวลา 10 นาทีหน่วยบริการฉุกเฉินจะเดินทางถึงจุดรับ โดยตั้งเป้าหมายที่จะทำให้ได้ร้อยละ 70 โดยอาศัยกลไกของท้องถิ่น อาทิ โครงการ 1 ตำบล 1 กู้ชีพ-กู้ภัย พร้อมรถฉุกเฉิน 1 อำเภอ 1 คัน ผ่านงบไทยเข้มแข็ง
ด้าน พล.ต.ต.วัฒนา กฤติยะโชติ ผู้บังคับการกองพัฒนาการจราจรและบริการประชาชน กล่าวว่า ประเทศไทยมีอัตราการตายจากอุบัติเหตุจราจรสูงมาก คือ 11,830 คดี เปรียบเทียบกับคดีอุจฉกรรจ์ที่มีการเสียชีวิตแล้วเรื่องอุบัติมีผู้เสียชีวิตมากกว่าถึง 4.52 เท่า หากคิดการสูญเสียจากอุบัติเหตุเทียบกับเครื่องบินโบอิ้งตกก็เท่ากับประเทศมีเครื่องบินตกปีละ 40 ลำ โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาอุบัติเหตุจราจรมากที่สุดคือ การขาดวินัยของคน
“ถ้าเรารักชาติเราต้องมีวินัยจราจร เพราะวินัยจราจรคือวินัยชาติ” ผู้บังคับการกองพัฒนาการจราจรฯ กล่าว และเปิดเผยด้วยว่า เตรียมยกระดับความสำคัญปัญหาอุบัติเหตุจราจรให้สูงขึ้นเหมือนที่เราให้ความสำคัญกับปัญหาอาชญากรรม ซึ่งขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่นำเรื่องสถิติอุบัติเหตุมาแถลงเป็นผลงานรวมกับกลุ่มคดีอื่นๆ ด้วยแล้ว.
-----------------------------------------------------------------
สอบถามรายละเอียดที่ โทรศัพท์ 02-511-5855 ต่อ 103 หรือ 141
หรือที่เว็บไซต์ www.roadsafetythai.org หรือ www.thainhf.org
http://www.thaitownusa.com/New-0908000317-1.aspx
ดูข่าวนี้แล้ว..ดีใจ อยู่ 3 ประการ คือ
1. หากพวกเราไม่ร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติงานนี้ ผลการประเมินอาจจะต่ำกว่านี้
2. บางมาตรการที่เกินขีดความสามรถของพวกเรา ...ผู้บริหารในหลายๆภาคส่วน น่าจะให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น ...ทั้งด้านขวัญ กำลังใจคนปฏิบัติงาน ที่ปัจจุบัน มี 2 มาตรฐาน สถานบริการบางแห่งมีค่าตอบแทนให้ 2 เท่า บางแห่งไม่ได้เลย บางแห่งได้น้อยมากๆ...เป็นต้น
3. ประการ สุดท้ายคือ เป็นข้อมูลนำเข้า เพื่อส่งเสริมแรงใจ ให้ทำงานให้ดียิ่งๆขึ้นไป จนกว่า จะบรรลุเกณฑ์มาตรฐานสากล...ครับ
No comments:
Post a Comment