9/16/09
มุมอง พรบ.วิชาชีพสาธารณสุข ทางสื่อมวลชน
วันที่ 14 กันยายน 2552 มุมอง พรบ.วิชาชีพสาธารณสุข ทางสื่อมวลชน
ขอขอบคุณข้อมูล จาก http://www.dailynews.co.th
หัวข้อข่าว จาก 'รักษา' เป็น 'ป้องกัน' วันจันทร์ ที่ 14 กันยายน 2552
ระบบสาธารณสุขถึงเวลาเปลี่ยนแปลง
จากปัญหาการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ทำให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขของประเทศยังไม่อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนมาก จนเกิดการเสียชีวิตของประชาชน ทำให้ต้องตั้งคำถามกับหน่วยงานของรัฐที่ดูแลในเรื่องสุขภาพของประชาชนว่า ถึงเวลาหรือยังที่ต้องมีการปรับปรุงระบบสาธารณสุขให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้
ระบบสาธารณสุขปัจจุบันมี 4 มิติ คือ 1.การรักษา 2.การส่งเสริมสุขภาพ 3.การควบคุม ป้องกันโรค และ 4.การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ในความเป็นจริงระบบสาธารณสุขไทยดูจะให้ค่าความสำคัญเฉพาะในการรักษาผู้ป่วยเป็นอันดับหนึ่ง เห็นได้จากงบฯเหมาจ่ายรายหัวที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดสรรลงพื้นที่ งบฯมากกว่าครึ่งเป็นงบฯสำหรับการรักษา
แน่นอนว่ารัฐต้องบริการประชาชน แต่การมุ่งเฉพาะการรักษาประชาชนจนขาดการส่งเสริมและป้องกันโรค ทั้งที่เรื่องนี้ในระบบสาธารณสุขเป็นประหนึ่งปราการด่านหน้าที่ช่วยให้ประชาชนปลอดโรค
ในปี 2552 งบฯเหมาจ่ายรายหัวอยู่ที่ 2,202 บาท แบ่งเป็นค่าบริการผู้ป่วยนอก (OP) 666.96 บาท บริการผู้ป่วยใน (IP) 837.11 บาท รวม 1,507.07 บาท บริการส่งเสริมป้องกัน (PP) 269.66 บาท และบริการ ฟื้นฟูสมรรถภาพ 5 บาท เช่นเดียวกับงบฯ ปี 2553 จำนวน 2,401.33 บาท ถูกจัดสรรปันส่วนเป็นค่าบริการผู้ป่วยในและนอก 1,648.91 บาท บริการส่งเสริมป้องกัน 283.15 บาท และบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ 8.08 บาท
ผลของการดำเนินการเช่นนี้ทำให้งบฯเหมาจ่ายรายหัวที่รัฐจะต้องจัดสรรเพิ่มมากขึ้นทุกปี จากราว 1,202 บาทในปี 2545 เพิ่มเป็น 2,401.33 บาทในปี 2553 ขณะที่จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคที่เกิดจากพฤติกรรมของประชาชนที่สามารถป้องกันได้ด้วยการลด ละ เลิกพฤติกรรมบางอย่างกลับเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งที่มีการคาดการณ์ว่าภายหลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 งบฯเหมาจ่ายรายหัวที่รัฐบาลต้องจัดสรรให้กับประชาชนจะลดลง ซึ่งในการจัดสรรงบฯเหมาจ่ายรายหัวลงไปในระดับพื้นที่ สปสช. จะจัดสรรไปยังโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ตามจำนวนประชาชนในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองที่โรงพยาบาลรับผิดชอบ
ด้วยการจัดแบ่งงบฯสำหรับงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจำนวนน้อยและจัดงบฯไปยังโรงพยาบาล ส่งผลให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ปฏิบัติงานด้านส่งเสริมและป้องกันโรคในสถานีอนามัย (สอ.) เป็นหลัก ต้องใช้เวลาหมดไปกับการเขียนและเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณมาทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพ แทนที่จะได้ลงเยี่ยมชาวบ้านเพื่อให้ความรู้ในการป้องกันโรคแก่ประชาชนอย่างที่ผ่านมา
เดิมเจ้าหน้าที่ใน สอ.จะให้การช่วยเหลือเยียวยาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นให้กับประชาชนในช่วงเช้า ส่วนช่วงบ่ายจะลงพื้นที่ให้ความรู้ในการป้องกันโรคกับประชาชนคู่กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมงต่อ 1 ครัวเรือน แต่หลังจากปี 2545 เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาช่วงบ่ายในการนั่งเขียนรายงานไปแลกกับเงิน ทำให้ความใกล้ชิดกับชาวบ้านหายไป ความสัมพันธ์อันดีเกิดความห่างเหินต่างคนต่างทำ ทำให้งานส่งเสริมสุขภาพประชาชนจึงทำได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
จากรายงานการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประจำปี 2551 ของ สปสช.สรุปผลการดำเนินงานเปรียบเทียบตั้งแต่ปี 2547-2551 แสดงให้เห็นว่า ผลการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ผลไม่คุ้มค่ากับต้นทุนที่เสียไป โดยเด็กอายุ 0-5 ขวบ ที่มีภาวะโภชนาการบกพร่อง และเด็กที่มีภาวะโภชนาการเกินเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะหลอดเลือดในสมองอุดตัน โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคถุงลมโป่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนความล้ม เหลวของนโยบายการส่งเสริมสุขภาพประชาชน และหากปล่อยให้ระบบสาธารณสุขไทยยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ต้นทุนการรักษาพยาบาลคงพุ่งสูงขึ้น รัฐบาลอาจล้มละลาย เมื่อแนวทางการมุ่งเรื่องการรักษาพยาบาลดูจะไม่ใช่คำตอบของระบบสาธารณสุขไทย ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะหันกลับมาทบทวนเรื่อง นี้อย่างจริงจัง
กรณีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 รัฐบาลมุ่งเน้นแต่เฉพาะการรักษาพยาบาลจนหลงลืมการส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักวิธีการป้องกันโรคด้วยตนเอง หากเกิดการระบาดของโรคนี้รอบที่ 2 หรือเกิดโรคอุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำ เช่น ไข้หวัดนก รัฐคงต้องสูญเสียงบประมาณในการรักษาอีกมาก แต่ถ้ามีการส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้การป้องกันตนเอง จะทำให้ผู้ป่วยมีจำนวนน้อย รัฐจะเสียงบฯค่ารักษาไม่มาก
แม้ว่ารัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มาถูกทางในส่วนของนโยบายด้านสาธารณสุข ที่จะเน้นการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้กับประชาชนมากกว่าการรักษา แต่สิ่งที่ควรจะมีการดำเนิน การควบคู่ไปพร้อมกันด้วยคือ การออกกฎหมาย มารองรับการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น แม้ พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาแล้ว แต่ พ.ร.บ.การส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคแห่งชาติ ยังไม่ถูกนำเข้าสภา
สำหรับ พ.ร.บ.การส่งเสริมสุขภาพฯเนื้อหาสาระจะก่อให้เกิดการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแห่งชาติ ที่งบฯจะได้รับจากรัฐบาล ก่อนที่จะจัดสรรลงไปถึงผู้ปฏิบัติงานด้านนี้โดยตรงไม่ต้องผ่านหน่วยงานกลาง ทำให้งบฯในการดำเนินงานด้านนี้ได้รับมากเพียงพอ โดยอาจจะได้ถึง 1 แสนบาทต่อหมู่บ้าน เอื้อให้การส่งเสริมสุขภาพประชาชนและป้องกันโรคทำงานได้ดีขึ้น
ส่วน พ.ร.บ.วิชาชีพมีสาระสำคัญในการจัดตั้งสภาวิชาชีพสาธารณสุข ซึ่งจะมีคณะกรรมการควบคุมวิชาชีพทำหน้าที่ในการควบคุมมาตรฐานและจริยธรรม เท่ากับว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่จะปฏิบัติงานใน สอ.หรือหน่วยงานต่าง ๆ ได้ จะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสาธารณสุข และหากไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณจะถูกลงโทษตามที่กำหนด เช่น การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เป็นต้น
นายไพศาล บางชวด นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า หาก พ.ร.บ. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะสนับสนุนหรือส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและทั่วถึง เป็นหลักประกันว่าประชาชนผู้รับบริการจะได้รับการให้บริการที่มีมาตรฐาน ในขณะเดียวกันผู้ทำหน้าที่ก็ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายด้วย มิใช่ปล่อยให้กระทำการไปอย่างขาด การควบคุมจนประชาชนได้รับบริการที่ต่ำกว่ามาตรฐานและจริยธรรมวิชาชีพ จึงน่าจะเป็นผลดีมากกว่าปล่อยให้กระทำไปโดยขาดการ ควบคุม
“ปัจจุบันโดยพฤตินัยระบบสาธารณสุขได้ปล่อยให้บุคลากรปฏิบัติงานโดยอิสระในการให้บริการประชาชนอยู่แล้ว กล่าวได้ว่าบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในสถานีอนามัยและในชุมชนกระทำการประกอบวิชาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต หากบุคคลเหล่านี้ไม่มีความเป็นวิชาชีพ ก็อาจหมายถึงการที่ประชาชนไม่ได้รับบริการที่มีมาตรฐานไปด้วย” นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุขกล่าว
ถ้าบุคลากรกลุ่มนี้มีความเป็นวิชาชีพและมีกฎหมายรองรับจะเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการได้รับบริการ และเป็นการป้องกันบุคคลผู้ไม่มีมาตรฐานและจริยธรรมในวิชาชีพออกจากชุมชน ผลดีน่าจะเกิดกับประชาชนมากกว่าผลเสีย จึงเป็นการสมควรที่จะมีการพัฒนาความเป็นวิชาชีพของบุคลากรสาธารณสุข เพื่อการได้รับบริการที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงตามที่สิทธิบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
หากระบบสาธารณสุขเปลี่ยนมาให้ ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพ ผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด คือประชาชนที่จะมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง รู้จักการป้องกันตนเองให้เจ็บป่วยเป็นโรคน้อยที่สุด ขณะเดียวกับรัฐบาล จะลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่มีราคาแพง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จากการที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 80 (2) บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ให้ส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาระบบสุขภาพที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ อันนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของประชาชนรวมทั้งจัดและส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ถึงเวลาแล้วที่ระบบการสาธารณสุขของประเทศไทย จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง จากการตรวจรักษาโรคเป็นหลักให้กลายเป็นการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ.
No comments:
Post a Comment