2/28/10
ใช้ยาถูกวิธี:แบบเรียนรู้ผ่านวิถีชุมชน
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2553 : : ผมนายพันธุ์ทอง จันทร์สว่าง เข้าร่วม ประชุม โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชน ด้านพฤติกรรมการใช้ยาและความรู้ด้านการใช้ยาปฏิชีวนะ แบบเรียนรู้ผ่านวิถีชุมชน จังหวัดยโสธร ณ ห้องประชุมชั้น 5 โรงพยาบาลยโสธร โดยผู้เข้าร่วมประชุมจากภาคีเครือข่ายในทุกภาคส่วน วิทยากร โดย ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถือเป็นโครงการที่ดีมากๆ และที่สำคัญ ผมประทับใจในความพยายามและความตั้งใจจริงของผู้ประสาน
งานหลักโดย ภก.กาญจนพงษ์ เพ็ญทองดี เภสัชกรชำนาญการ กลุ่มงานเภสัชกรรมชุมชนและคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ที่สมารถประสานงบประมาณ มา จัดำโครงการนี้ได้ใน จังหวัดยโสธรเรากว่า 5 แสนบาท
โดยมี วัตถุประสงค์ คือ
ลดปัญหาการกระจายยาและการใช้ยาสเตียรอยด์ในชุมชน ในเขตพื้นที่นำร่อง
ลดปัญหาการจำหน่ายเครื่องสำอางที่มีสารห้ามใช้ในเขตพื้นที่นำร่อง
เพิ่มศักยภาพของผู้บริโภคในเขตพื้นที่นำร่องในการเฝ้า-ระวังตนเองจากผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่เหมาะสม
สร้างภาคีเครือข่ายในการเฝ้าระวังปัญหา
ยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานโครงการ
จัดตั้งภาคีเครือข่ายระดับอำเภอ
เร่งประชาสัมพันธ์ในชุมชน
สร้างพลังชุมชนผ่านผู้นำหรือแกนนำในชุมชน
บูรณาการในกิจกรรมชมรมคุ้มครองผู้บริโภคในโรงเรียน หรือ อย.น้อย ทุกโรงเรียนในเขตอำเภอคำเขื่อนแก้ว
ตรวจสอบและเฝ้าระวังเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงเป้าหมาย
ให้ความรู้และสื่อประชาสัมพันธ์ สร้างการมีส่วนร่วมแก่ผู้ประกอบการ
สร้างระบบการรายงานการเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพ
หลักการและเหตุผลของโครงการนี้
ด้วยเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอคำเขื่อนแก้ว และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร ได้เข้าร่วมโครงการการศึกษาสถานการณ์การใช้ยาที่ไม่เหมาะสม ในประเทศไทย ของ กพย. ซึ่ง ได้ดำเนินการในปี ที่ผ่านมา โดยเป็น หนึ่งใน ๑๐ จังหวัดที่เข้าร่วมทำการสำรวจสถานการณ์การใช้ยาที่ไม่เหมาะสม ทั้งกลุ่มยาที่เพิกถอนทะเบียนตำรับแล้วในต่างประเทศ อย่างน้อย ๕ ประเทศ, การใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมและปลอดภัย รวมทั้งพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม ถูกต้อง ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาและภาวะการดื้อยาในระยะยาวได้ ในส่วนจังหวัดยโสะรเอง ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลในเขตพื้นที่อำเภอเมืองยโสธร และอำเภอคำเขื่อนแก้ว ในกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ โรงพยาบาลยโสธร, โรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว, ร้านขายยาประเภท ขย ๑ ในเขตเทศบาลเมืองยโสธร และเทศบาลตำบลคำเขื่อนแก้ว และร้านชำ ตามชุมชนนอกเขตเทศบาล ทั้งในอำเภอเมืองยโสธร และอำเภอคำเขื่อนแก้ว โดยรายงานข้อมูลเบื้องต้น เฉพาะพื้นที่ทำการศึกษาของจังหวัดยโสธร นั้น พบว่า ร้านชำที่ทำการสำรวจทั้งหมด ๒๑ ร้าน ใน ๒ อำเภอมีการจำหน่ายยาอันตราย โดยเฉพาะกลุ่มยาปฏิชีวนะ เกือบทุกร้าน ( ร้อยละ ๙๔ ) และพบว่าประชาชนในชุมชนนอกเขตเทศบาล มีองค์ความรู้และการซื้อหา ยาไปใช้ในครัวเรือน ที่ไม่เหมาะสม การใช้ผิดวัตถุประสงค์ การใช้ที่เสี่ยงต่อการแพ้ หรือ อาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา และการดื้อยาได้ โดยเฉพาะในกลุ่มยาปฏิชีวนะ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานสรุปผลการดำเนินการทั้งประเทศ ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาที่ทำการสำรวจ (กพย.) คือ มีการใช้ยาและจำหน่ายยาปฏิชีวนะในร้านชำ ในชุมชน สูงถึง ร้อยละ 33.15 และประชาชนในชุมชนมีพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม สูงถึง ร้อยละ39.92 ส่วนการสำรวจข้อมุลในร้านขายยา ของการสำรวจทั้งประเทศ ที่พบว่ามีปัญหานั้น เป็นร้านขายยาในเขตจังหวัดยโสธร ถึงร้อยละ 30.77 ประเภทร้านขายส่งในเมือง ถึงร้อยละ 50.00 และเมื่อแยกรายการยาที่มีความไม่เหมาะสมทั้งด้านการกระจายยาและพฤติกรรมการใช้ยา 10 อันดับแรกของทุกกลุ่มนั้น พบว่า มีการจำหน่ายในทุกร้านในเขตพื้นที่ที่ทำการสำรวจประเภทร้านขายยาในชุมชนและร้านชำของจังหวัดยโสธร ( ยกเว้น โรงพยาบาลทั่วไป ) ส่วน 10 อันดับรายการยาที่มีความไม่เหมาะสม ของโรงพยาบาลชุมชนนั้น พบเพียง 4 รายการเท่านั้น และเมื่อจำแนกตามกลุ่มประเภทของปัญหาที่พบในพื้นที่นั้น ก็ยังพบว่า การใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสม ทั้งการใช้ ความรู้ และการกระจายยา และพฤติกรรมการใช้ยา ยังเป็นปัญหาสำหรับพื้นที่โดยเฉพาะในชุมชนนอกเขตเมือง จากการจำหน่ายโดยตรง ที่ร้านชำ ดังนั้น ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร จึงได้นำรายงานผลการศึกษาเบื้องต้น ของ กพย. ว่าด้วยเรื่อง การศึกษาสถานการณ์ยาที่ไม่เหมาะสม หรือเพิกถอนทะเบียน และข้อมูลเฉพาะพื้นที่ มาต่อยอด ในลักษณะการสร้างเครือข่าย เรียนรู้สถานการณ์ของปัญหา ผ่านวิถีชุมชน และลดปัญหา ทั้งการกระจายยาที่ไม่เหมาะสม สร้างองค์ความรู้ด้านการใช้ยาที่ถูกต้อง ในกลุ่มยาปฏิชีวนะ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ยาในระดับชุมชน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในภาพรวมของระดับจังหวัด จึงได้จัดทำเสนอโครงการในภาพจังหวัด
No comments:
Post a Comment