4/13/09

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ใน กทม.


วันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน 2552 เช้า ไป รับ ลูกสาว ที่ จังหวัดอุบลราชธานี เพียรได้หยุดพัก 1 สัปดาห์
( บอกว่าเรียนหนักจนหัวกระเซิงเลย ...หุ หุ หุ )
ข่าวเด่นวันนี้ จาก http://www.thairath.co.th
ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง [12 เม.ย. 52 - 14:55]
วันนี้ (12 เม.ย.) เวลา 14.30 น. ที่กระทรวงมหาดไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ดังนี้

"หลีกเลี่ยงในเรื่องของการเผชิญหน้าหรือการใช้ความรุนแรง แต่กลับปรากฏว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา การชุมนุมกลับพัฒนาการไปเป็นการชุมนุมในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มีการปลุกระดมให้มีการกระทำที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการไปปิดล้อมสถานที่ราชการ การบุกรุก การขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ แม้กระทั่งการตั้งรางวัลไล่ตามจับบุคคลต่าง ๆ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ทั้งหมดนี้ครับเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่อาจเพิกเฉยได้ ในช่วงที่ผ่านมาเราอาจจะมีข้อจำกัดเพราะพยายามที่จะรักษาบรรยากาศของบ้านเมือง แต่วันนี้มีความจำเป็นแล้วครับที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ก่อนที่สถานการณ์จะลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้ แล้วก็จะมีแต่ความรุนแรง ความสูญเสียหรือแม้กระทั่งการเผชิญหน้าระหว่างหมู่พี่น้องประชาชนด้วยกัน

ด้วยเหตุนี้ครับ ผมจึงได้ดำเนินการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในท้องที่ ซึ่งเมื่อสักครู่นั้นได้มีการประกาศไปแล้ว และเมื่อได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงนี้ ผมได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานของหัวหน้าผู้รับผิดชอบ พนักงานเจ้าหน้าที่ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ทั้งนี้ ให้ท่านรองนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นผู้รับผิดชอบในทุกท้องที่ที่ได้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรง

นอกจากนั้นได้มีการออกข้อกำหนด ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 ซึ่งได้กำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุม ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ห้ามมิให้มีการเสนอข่าวการจำหน่ายหรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจจะทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือน ข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทั่งต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขในการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนด ห้ามใช้อาคาร หรือเข้าอยู่ในสถานที่ใด ๆ หรือห้ามเข้าไปในพื้นที่ใด ๆ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนด และให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชน หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนด
จากนั้นได้มีการออกประกาศตามมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 ซึ่งเป็นเรื่องของการให้อำนาจหน้าที่แก่เจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ ในเรื่องของการจับกุม ควบคุมตัว ออกคำสั่งเรียกบุคคล ออกคำสั่งยึดหรืออายัดอาวุธ ออกคำสั่งตรวจค้นรื้อถอนซึ่งอาคารสิ่งปลูกสร้าง สิ่งกีดขวาง ตามความจำเป็น ตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด แล้วก็รวมไปถึงอำนาจที่เกี่ยวข้องกับการห้ามมิให้ผู้ใดออกไปนอกราชอาณาจักร รวมทั้งการซื้อ ขาย ใช้ หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งอาวุธ สินค้า เวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัสดุอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดที่จะใช้ในการก่อความไม่สงบ สามารถที่จะออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ ระงับเหตุการณ์ร้ายแรง แล้วก็ให้ข้าราชการทหารตามที่กำหนดในคำสั่งนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ นั้น ช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ เพื่อระงับเหตุร้ายแรง หรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วน"

No comments:

Post a Comment