3/10/09

อะไรคือ สอบGAT สอบPAT เข้ามหาวิทยาลัย

วันที่ 7 มีนาคม 2552: อะไรคือ สอบGAT สอบPAT เข้ามหาวิทยาลัย ครั้งแรก จาก http://www.thairath.co.th
จากกรณีที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปลี่ยนแปลงระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ในระบบแอดมิชชั่น ปีการศึกษา 2553 มีองค์ประกอบ 4 ส่วนคือ คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรม.ปลาย, คะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (o-net) คะแนนแบบทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ General Aptitude Test( GAT) และคะแนนแบบทดสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ Professional and Academic Aptitude Test (PAT) ที่ยังแบ่งออกเป็น 7 กลุ่มวิชา ได้แก่ ความถนัดทางคณิตศาสตร์ (PAT-1), ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ (PAT-2), ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ (PAT-3), ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ (PAT-4), ความถนัดทางวิชาชีพครู (PAT-5), ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์ (PAT-6), ความถนัดทางภาษา (PAT-7) ที่ประกอบด้วยภาษาฝรั่งเศส (PAT-7.1) เยอรมัน (PAT-7.2) ญี่ปุ่น (PAT-7.3)จีน (PAT-7.4) อาหรับ (PAT-7.5) และบาลี (PAT-7.6) โดยมอบให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือ สทศ. เป็นผู้จัดสอบ ซึ่งผู้มีสิทธิเข้าสอบ ได้แก่ ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ชั้น ม.5 เป็นต้นไป หรือบุคคลทั่วไปที่จบชั้น ม.6 โดยสามารถสอบได้ปีละ 3 ครั้ง และเริ่มจัดสอบเป็นครั้งแรก ในวันที่ 7-15มี.ค.นี้ เพื่อนำคะแนนไปใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2553 นั้น
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่สนามสอบโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยมศึกษา เวลา 09.00 น. นางอุทุมพร จามรมาน ผอ.สทศ. เดินทางไปตรวจสนามสอบและให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงเช้าเป็นการสอบแบบทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) มีผู้เข้าสอบทั่วประเทศ 224,199 คน แบ่งเป็นนักเรียน ม.5จำนวน 217,444 คน ม.6 จำนวน 6,471 คน ผู้ที่จบ ม.6 แล้ว อายุระหว่าง 27-56 ปี จำนวน 284 คน โดยข้อสอบ GAT แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก ความสามารถในการอ่าน เขียน คิด วิเคราะห์ และแก้โจทย์ปัญหา ส่วนที่ 2 คือ ความสามารถ ในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ขณะที่ภาคบ่ายเป็นการสอบแบบทดสอบความถนัดทางคณิตศาสตร์ (PAT-1) มีผู้เข้าสอบทั่วประเทศ 143,978 คน ผู้เข้าสอบส่วนใหญ่เป็นนักเรียน ม.5 ส่วนผู้สอบที่มีอายุ 27-56 ปี มีจำนวน 181 คน
ผอ.สทศ. กล่าวต่อว่า เนื่องจาก สทศ.เปิดกว้างให้บุคคลที่จบการศึกษาตั้งแต่ ม.6 ขึ้นไป มาทดสอบความสามารถของตนเอง ทำให้บริษัท ร้านค้า ส่วนหนึ่งให้ความสนใจต้องการใช้แบบทดสอบของ สทศ.ในการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน และในการสอบ GAT-PAT ครั้งแรกนี้ มีบริษัทก่อสร้างส่งคนเข้ามาร่วมสอบด้วย โดยเฉพาะการสอบความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ (PAT-3) นอกจากนี้ บางส่วนเป็นกลุ่มพ่อแม่ที่เข้าสอบเพื่อดูแนวข้อสอบสำหรับติวบุตรหลานต่อไปในการสอบครั้งหน้า รวมทั้งกลุ่มจากสถาบันกวดวิชา เป็นต้น
“ที่น่าสังเกตคือ มีนักเรียนจำนวน 47 คน สมัครสอบแบบทดสอบความถนัดทั่วไป และแบบทดสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ ซึ่งในปีนี้ สทศ.เปิดสอบ 3 ครั้ง ก็ได้สมัครสอบทั้ง 3 ครั้งและทุกวิชา เสียค่าใช้จ่ายรวม 4,800 บาท ซึ่งผู้ปกครองไม่สามารถคัดค้านเด็กได้ หรือบางส่วนก็สนับสนุนให้ลูกหลานสมัครเผื่อทุกครั้ง แสดงให้เห็นว่าทั้งเด็กและผู้ปกครองคิดไม่เป็น และพบว่า นักเรียน ม. 5 จำนวนมากสมัครสอบแบบทดสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ ซึ่งเป็นการสอบความรู้ระดับชั้น ม.6 ทำให้โรงเรียนต้องเร่งสอนให้จบบทเรียน หรือเด็กไปเรียนกวดวิชามากขึ้น ซึ่ง สทศ.คาดไม่ถึงว่าเด็กจะบ้าระห่ำได้ขนาดนี้” นางอุทุมพรกล่าว และว่าจะเตรียมเสนอ ทปอ. อาจขอให้มีการจำกัดอายุผู้เข้าสอบแบบทดสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ โดยให้เป็นนักเรียน ม.6 ทั้งควรจำกัดจำนวนครั้งในการสอบเหลือ 1-2 ครั้งต่อปี เป็นต้น
จากนั้นเวลา 17.30 น. นางอุทุมพรกล่าวถึงภาพรวมของการสอบวันแรกว่า ดีมาก ปัญหาที่พบมีเพียงเล็กน้อยคือ นักเรียนที่มีสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง แต่เข้าใจผิดคิดว่าตนเองออยู่ในกลุ่มสายตาผิดปกติ ซึ่งต้องใช้ข้อสอบเบรลล์ หรืออักษรคนตาบอด ทำให้ต้องออกบัตรประจำตัวเข้าห้องสอบใหม่ และกลุ่มที่ชำระเงินล่าช้า ขณะเดียวกัน สทศ.กำลังรอฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าสอบว่า แบบทดสอบความถนัดทั่วไป โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ซึ่งเท่าที่ดูจากที่เด็กๆ ตั้งกระทู้ในเว็บไซต์ต่างๆ บอกตรงกันว่า “ยาก”

No comments:

Post a Comment