วันที่ 10 มกราคม 2555 7แผน 4ปรับ 3หลัก 6เร่ง ขับเคลื่อนเอาชนะยาเสพติด ยโสธร
ภาคบ่าย ผมนายพันธุ์ทอง จันทร์สว่าง ร่วมประชุมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พลังแผ่นดิน เอาชนะยาเสพติด ในระดับพื้นที่ จังหวัดยโสธร ณ ห้องประชุมบั้งไฟโก้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร
ประธานการประชุม โดย นพ.จิณณพิภัทร ชูปัญญา รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร (ว่าที่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ)
วาระที่ 1 ประธานแจ้งให้ทราบ
การเตรียมความพร้อม การดำเนินงาน ในวโรกาส ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงติดตามผลการดำเนินงานโครงการ TO BE NUMBER ONE จังหวัดยโสธร ณ วิทยาลัยเทคนิคยโสธร อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ในวันพุธที่ 25 มกราคม 2555 ขอให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติตามมติที่ประชุม เพื่อให้งานสำเร็จตามวัตถุประสงค์ต่อไป
วาระที่ 2 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พลังแผ่นดิน เอาชนะยาเสพติด ในระดับพื้นที่ จังหวัดยโสธร
ปี 2555 กลยุทธดำเนินงานยาเสพติด 7แผน 4ปรับ 3หลัก 6เร่ง*
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พลังแผ่นดิน เอาชนะยาเสพติด มีที่มาสำคัญจาก พระราชเสวานีย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2554 ที่ทรงชี้ให้เห็น ภัยอันตรายของยาเสพติด รัฐบาล ได้นำมากำหนดเป็นนโยบายวาระแห่งชาติ ภายใต้ปฏิบัติการวาระแห่งชาติพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ซึ่ง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เปิดปฏิบัติการวาระแห่งชาติ “พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด” พร้อมแสดงเจตนารมณ์ของรัฐบาลต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งคณะรัฐมนตรีและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน 2554 เวลา 10.09 น.
โดยตั้งเป้าหมาย ต้องลดปัญหายาเสพติดให้ได้ภายใน 1 ปี ภายใต้กรอบแนวทางยุทธศาสตร์ พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด โดยบูรณาการจากทุกภาคส่วน และจะต้องลดความรุนแรง ยาเสพติดได้ร้อยละ 80 ซึ่งดำเนินงานตามกลยุทธการดำเนินงาน 7แผน 4ปรับ 3หลัก 6เร่ง ใน7 แผนงานนั้น กระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบแผนงานที่ 2 การแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติด (Demand) และในปี 2555กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้ งานยาเสพติด เป็น โครงการที่ 1 ตามแผน ตรวจราชการแบบบูรณาการของกระทรวงสาธารณสุข
7 แผน 4 ปรับ 3 หลัก 6 เร่ง มีอะไรบ้าง 7 แผน 4 ปรับ 3 หลัก 6 เร่ง คืออะไร
7 แผน ประกอบด้วย
1. แผนสร้างพลังสังคมและพลังชุมชนเอาชนะยาเสพติด ทำให้หมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศ ประมาณ 60,000 แห่ง มีการรวมตัวเป็นพลังแผ่นดิน และใช้พลังนี้ดำเนินการป้องกันเฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน
2. แผนการแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติด (Demand) ลดจำนวนผู้เสพยาเสพติดในประเทศไทย ประมาณการว่า จำนวนผู้เสพยาเสพติดในประเทศไทยในขณะนี้ ประมาณ 1.2 ล้านคน รัฐบาลจะดำเนินการลดผู้เสพเหล่านี้ทั้งหมดใน 4 ปี โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปีแรกจะดำเนินการให้ได้ถึง 400,000 คนทั่วประเทศ
3.แผนสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันยาเสพติด (Potential Demand) มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดให้กับประชาชน เยาวชนทั่วไป เยาวชนกลุ่มเสี่ยง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อปัญหายาเสพติดให้กับประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งจะเป็นการตัดการเพิ่มขึ้นของผู้เสพรายใหม่
4.แผนปราบปรามยาเสพติดและบังคับใช้กฎหมาย ลดผู้ผลิต ผู้ค้าผู้ลำเลียงยาเสพติดในทุกระดับ เพื่อตัดวงจรที่จะนำยาเสพติดมายังตลาดผู้เสพ โดยบังคับใช้กฎหมายตามหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด ใช้มาตรการทางด้านทรัพย์สิน การสืบสวนขยายผล เป็นแนวทางปฏิบัติหลัก
5.แผนความร่วมมือระหว่างประเทศ รัฐบาลจะแสวงความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อร่วมกันปราบปรามการผลิตและค้ายาเสพติด รวมทั้ง ใช้นโยบายเชิงรุกในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อให้ชายแดนมีความเป็นอยู่อย่างสันติ
6.แผนสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดน สกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดนทุกด้าน มิให้มีการลักลอบนำยาเสพติดสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสร้างแนวสกัดกั้นที่มีประสิทธิภาพ
7.แผนบริหารจัดการแบบบูรณาการ ระดมสรรพกำลังทั้งประเทศเข้าแก้ไขปัญหายาเสพติด มีการจัดองค์กร กลไกการแก้ไขปัญหายาเสพติดทุกระดับ และบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
4 ปรับ ปรับปรุงสิ่งที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆ เพื่อทำให้การเอาชนะยาเสพติด มีประสิทธิภาพมากขึ้น
1.ปรับปรุงข้อมูล การข่าวให้ถูกต้อง ทันสมัย
2.ปรับบทบาท พฤติกรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐ
3.ปรับกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ
4.ปรับทัศนคติของสังคมและชุมชนมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด
3 หลัก ยึด 3 หลักในการแก้ปัญหา ประกอบด้วย
1.หลักเมตตาธรรมที่มีความรักในเพื่อนมนุษย์อยากเห็นคนผิดกลับตัวเป็นคนดี คืนความรักให้ครอบครัว คืนสุขให้ชุมชน
2.ยึดหลักนิติธรรม ทางกฎหมายมาบังคับใช้อย่างจริงจังตามหลักนิติธรรม
3.หลักแก้ปัญหาโดยยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง หรือ Area Approach โดยยึดจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เป็นตัวตั้งของการแก้ไขปัญหา ให้พื้นที่เป็นเจ้าของปัญหา
6 เร่ง ข้อฏิบัติเร่งด่วน 6 เรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินการ
1.เร่งดำเนินการในด้านข้อมูล ปัญหา ให้ทุกหน่วยหาข้อมูลปัญหายาเสพติดที่เป็นจริงในระดับพื้นที่ ในทุกจังหวัด โดยจะใช้วิธีการที่รอบคอบ ชัดเจน
2.เร่งลดจำนวนผู้เสพยาจากหมู่บ้าน/ชุมชน จัดทำแผนบำบัดรักษาลดจำนวนผู้เสพยาเสพติดในพื้นที่โดยเร็ว และอย่างมีคุณภาพ และจะดำเนินการให้ครบวงจร
3.เร่งแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศและการสกัดกั้นยาเสพติด ขยายความร่วมมือกับประเทศที่มีผลกระทบต่อปัญหายาเสพติดกับประเทศไทยมากที่สุด ขยายความร่วมมือในระดับปฏิบัติให้มากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการสกัดกั้นตามแนวชายแดน
4.เร่งปราบปรามผู้ค้า ลดความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหายาเสพติด ตามที่ข้อร้องเรียนของประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ ให้เป็นเรื่องเร่งด่วนลำดับแรก และจะมีการแจ้งผลการดำเนินงานให้ประชาชนรับทราบ รวมทั้ง จะเร่งขยายผลการดำเนินงานในด้านยึดทรัพย์ผู้ค้ายาเสพติดตามหลักนิติธรรม ให้เพิ่มมากขึ้น
5.เร่งแก้ไขปัญหาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงทั้งในและนอกสถานศึกษา ให้ทุกจังหวัดเข้มงวด กวดขันพื้นที่เสี่ยง ปัจจัยเสี่ยงที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับชุมชนและสังคม เร่งสร้างระบบป้องกัน และเฝ้าระวังยาเสพติดในสถานศึกษาในทุกจังหวัด เพื่อสร้างความสบายใจให้กับผู้ปกครอง
6.เร่งสร้างหมู่บ้าน/ชุมชนให้มีความเข้มแข็ง โดยน้อมนำพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2554 เรื่องโครงการกองทุนแม่ของแผ่นดิน จะทำให้หมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินทั้งหมดที่มีอยู่มีความเข้มแข็ง จะขยายจำนวนหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินให้เพิ่มขึ้น ประมาณ 50% ของหมู่บ้าน/ชุมชนทั้งประเทศในระยะ 4 ปี และจะสมทบกองทุนแม่ของแผ่นดินเพิ่มขึ้น ตามปรัชญาของโครงการ ซึ่งถือเป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลอย่างแท้จริง
วาระที่ 3 เป้าหมายการดำเนินงานแก้ไขปัญหาผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด ระดับพื้นที่
จังหวัดยโสธร ประชากร 539,257 คน เป้าหมายการบำบัด 2,633 คน เป้าหมายการติดตามเยี่ยม ผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาไม่ให้มาเสพซ้ำอีก 2,106 คน(80%)
อำเภอคำเขื่อนแก้ว ประชากร 68,012 คน เป้าหมายการบำบัด 331 คน เป้าหมายการติดตามเยี่ยมผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาไม่ให้มาเสพซ้ำอีก 265 คน(80%)
การเข้าค่าย9วันปรับเป็นหลักสูตร5:4
รูปแบบการจัดค่ายบำบัดหลักสูตร 9 วัน มาตรฐาน
งบประมาณหลักสูตร จาก 9 วัน มาตรฐานคือ รายละ 2,500 บาท
งบประมาณ ปรับหลักสูตร จาก 9 วัน เป็น 5 ในค่าย และ 4 วัน ใน รพ.สต. เพื่อประหยัดงบประมาณ
โดย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธรมีงบสนับสนุนเพียง 1,000 บาท ต่อคน ในจำนวน เป้าหมายการบำบัด Output จำนวน 2,633 คน
ส่วนกิจกรรม Input ในการหา เป้าหมายให้ได้ Output 2,633 คน นั้น ให้แต่ละพื้นที่รับผิดชอบเอง
เป้าหมายInput เรื่อง มี อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)อสม.เชี่ยวชาญ หมู่บ้านละ 1 คน
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร เป็นผู้รับผิดชอบ
ทั้งนี้ ให้ยึดถือและปฏิบัติตาม 3ยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข
3ยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย
1. ยุทธศาสตร์ด้านการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ
2. ยุทธศาสตร์การปลุกพลังแผ่นดินและการป้องกัน โดย โครงการ ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
TO BE NUMBER ONE (TO BE NUMBER ONE Friend Corner ครอบครัว การเรียน ความรัก เพื่อน)
3. ยุทธศาสตร์การควบคุมตัวยาและสารเคมี
ข้อเสนอแนะจาก ที่ประชุม
การคัดกรองกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติด กลุ่มเป้าหมาย นี้ มีที่มาจาก 2 แหล่งคือ ในโรงเรียน และใน หมู่บ้าน ซึ่งมีปัญหาสำคัญคือ ความร่วมมือ จากทุกภาคส่วน โดยเจ้าภาพหลักในการคัดกรองคือ ผู้ว่าราชการจังหวัด และ นายอำเภอ
การคัดกรองในหมู่บ้าน ได้จากเวทีการประชาคม(ตัวอย่างที่ดีจากอำเภอมหาชนะชัย) ซึ่งมีการประชาคม 2 รอบ รอบแรก ค้นหา รอบที่ 2 ยืนยันบุคคล เพื่อเข้ารับการบำบัด โดยนายอำเภอ มอบนโยบาย ให้ นายก อบต . ว่าพื้นที่ใด มีกลุ่มเป้าหมาย ให้สนับสนุน งบประมาณ ตามจำนวนกลุ่มเป้าหมาย
การคัดกรองในโรงเรียน ได้จากการออกคัดกรอง ให้สมัครใจ และ ตรวจปัสสาวะ (ตัวอย่างที่ดีจากเลิงนกทา)
ข้อสังเกต ข้อเสนอจากที่ประชุม
แบบ บสต. 3 ไม่ให้บันทึก ในกรณี ที่เป็นเด็กนักเรียน เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับเด็กในอนาคต
เดิม กรณีที่เป็นคดี การตรวจคัดกรองปัสสาวะแล้ว เดิม ให้ กระทรวงสาธารณสุขสั่งการให้ โรงพยาบาลที่มีนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจยืนยันอีกครั้ง ปัจจุบัน หลายจังหวัดยกเลิกแล้ว จังหวัดยโสธร จะยกเลิกการปฏิบัติตามคำสั่งนี้หรือไม่
การบันทึก บสต. ผ่านระบบ Internet เข้ายาก และ บันทึกไม่ได้
เครื่องอ่าน Smart Card ใช้งานไม่ได้ เป็นส่วนมาก
No comments:
Post a Comment