2/13/23

4 ก.พ.66 ขายบุหรี่ไฟฟ้า : ครอบครอง : ผิดกฎหมาย E cigarette

4 ก.พ.66 ขายบุหรี่ไฟฟ้า : ครอบครอง : ผิดกฎหมาย E cigarette

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 นายพันธุ์ทอง จันทร์สว่าง สาธารณสุขอำเภอเลิงนกทา บันทึกไว้

เตือนความจำ จาก เหตุการณ์ ตำรวจ กับ บุหรี่ไฟฟ้า ที่กำลังมีข่าวโด่งดัง ทุกช่องทางในช่วงนี้

บุหรี่ไฟฟ้า มีคำที่ใช้อื่นๆ เช่น บารากู่ไฟฟ้า  หรือ อี-ซิกาแรต  Electronic Cigarette : E cigarette) 

ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า : ผิดกฎหมาย 

ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องสินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำผ่านเข้ามาในราชอาณาจักร ดังนั้น ผู้ที่ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าจึงมีความผิดฐานรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาโดยหลีกเลี่ยงข้อกำจัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ตามมาตรา 246 ประกอบมาตรา 244 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้น ตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 วางหลัก ให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบ เนื่องจากเป็นการนำสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกายโดยการสูบ ดังนั้น หากสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเขตปลอดบุหรี่ ก็จะมีความผิดฐาน สูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ ซึ่งมีระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท

 

“ถ้าขายก็จะผิดกฎหมายอีกตัว ตามคำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีคำสั่งเรื่องห้ามขายหรือให้บริการสินค้าบารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่และน้ำยาบารากู่ไฟฟ้า กฎหมายบังคับทั้งตัวบุหรี่ ตัวเครื่อง และก็ตัวน้ำยาด้วย ถ้าฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท โดยปกติเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำสำนวนสั่งฟ้องทั้งหมด ส่งให้อัยการ ส่งศาล ก็จะพิจารณาพิพากษาตามบทหนักสุด”  พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (กมค.) ...

 

สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/1952029/ 

 

ขายบุหรี่ไฟฟ้า : ผิดกฎหมาย

            การจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ามีความผิดฐาน “ฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งห้ามขาย หรือห้ามให้บริการบารากู่ บารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า” ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มาตรา 29/9 มาตรา 56/4 และคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ลงวันที่ 28 มกราคม 2558” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา : พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ปี 2564 สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 57 ล้านคน พบผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน ( 17.4 %)  ซึ่งมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบจากปี 2560 (19.1%) อย่างไรก็ตาม สัดส่วนที่ลดลง มาจากการประสานพลังกับภาคีเครือข่าย พร้อมทั้งร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนสังคมไทยปลอดบุหรี่อย่างเข้มแข็ง แต่มีข้อกังวลว่าบางส่วนเลิกสูบบุหรี่ แต่หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน

 

 

กฎหมายที่บังคับใช้กับบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ ณ ปัจจุบัน คือ

ห้ามนำเข้า ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2557 โดยหน่วยงานที่สนับสนุนการบังคับใช้ คือ กรมศุลกากรในการตรวจจับ

ห้ามขาย ห้ามให้บริการ ตาม คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2558

สูบในสถานที่สาธารณะ มีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1411/2564  ยืนยันว่า ผู้ครอบครองอ้างว่าไม่รู้ ว่าไม่ผิดกฎหมายไม่ได้ แม้คดีนี้จะเป็นเรื่องการครอบครองเตาบารากู่ แต่กฎที่ใช้ก็ใช้บังคับกับบุหรี่ไฟฟ้าเช่นเดียวกัน

ดังนั้น ถ้าคิดข้อเท็จจริง การที่บุคคลคนหนึ่ง "ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า" ก็ย่อมต้องเกิดคำถามขึ้นอยู่แล้วว่า คุณได้บุหรี่ไฟฟ้ามาอย่างไร เพราะโดยต้นทาง ของระบบกฎหมายเพื่อควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของไทยเราดักตั้งแต่ต้นทาง คือ "ห้ามนำเข้า" และกำจัดบุหรี่ไฟฟ้าที่มีในประเทศด้วยการ "ห้ามขาย/ห้ามบริการ" จึงอาจกล่าวได้ว่า การครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าก็ย่อมมี "ความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี"

 

 

บารากู่ ถือเป็นยาสูบที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ

ปัจจุบัน ห้ามขายสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้ ให้รวมถึงการให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือจัดหาให้ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ รวมถึงการเสนอหรือการชักชวนเพื่อการดังกล่าว ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ลงวันที่ 28 มกราคม 2558 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค(ฉบับที่3) พ.ศ. 2556

และกำหนดให้ บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือ บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีหรือปรับเป็นเงินห้าเท่าของสินค้าที่ส่งออกหรือนำเข้า หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมทั้งให้ริบสินค้ารวมทั้งสิงที่ใช้บรรจุและพาหนะ ที่ใช้บรรทุกสินค้าด้วย ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 และพระราชบัญญัติ การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522

           กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
          1. คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า พ.ศ. 2558
          2. พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่3) พ.ศ. 2556
          3. ประกาศกระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้าม ในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557
          4. พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522

รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถาม
ได้ที่  : สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

 

https://mnfda.fda.moph.go.th/narcotic/?p=6009

 




ขอบคุณภาพประกอบจาก

 

https://en.wikipedia.org/wiki/Electronic_cigarette

 



No comments:

Post a Comment