9/19/12

30บาทยุคใหม่เริ่มให้บริการ เพื่อสุขภาพคนไทยที่ยั่งยืน


วันที่ 1 กันยายน 2555: 30บาทยุคใหม่เริ่มให้บริการ เพื่อสุขภาพคนไทยที่ยั่งยืน
            ผม นายพันธุ์ทอง  จันทร์สว่าง ขอบันทึก วันแรกที่เริ่มให้ประชาชนที่ถือบัตร 30 บาท ต้องร่วมจ่ายค่าบริการ 30 บาท ต่อการให้บริการ 1 ครั้ง เพื่อร่วมพัฒนาบริการและพัฒนาบริการให้เกิดประโยชน์สูงสุด




ทั้งนี้บุคคลที่ร่วมจ่ายค่าบริการ30 บาท คือ เข้ารับการรักษาพยาบาลจนสิ้นสุดและได้รับยา  ณ โรงพยาบาลชุมชน(โรงพยาบาลอำเภอ)เป็นต้นไป  ส่วนผู้ที่ไปรับบริการ ที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล( รพ.สต.) หรือ สถานีอนามัย ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องจ่าย 30 บาทครับผม
            นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดโครงการ รัฐบาลพบประชาชน ทุน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ศาลากลางหลังเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 25 สิงหาคม 255 ตอนหนึ่งว่า ผลดำเนินการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์แล้วว่าคนไทยได้รับการคุ้มครองด้านการรักษาพยาบาล ทำให้กว่า 100,000 ครัวเรือน ไม่ต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วย คนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป รัฐบาลชุดนี้ได้ต่อยอดโครงการและพัฒนาให้เป็น “30 บาทยุคใหม่ เพื่อสุขภาพของคนไทยที่ยั่งยืนโดยในปีงบประมาณ 2555และ 2556 จัดงบเฉลี่ยรายหัว 2,755.60 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 หัวละ 209.12 บาท ครอบคลุมประชากร 48,333,000 คน คิดเป็นร้อยละ 75 ของประชากรทั้งประเทศ และจะให้ประชาชนร่วมจ่ายค่าธรรมเนียมบริการ 30 บาทต่อครั้งเฉพาะกรณีที่รับยา ตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไปจนถึงโรงพยาบาลศูนย์ ทั้งรัฐและเอกชนที่ร่วมโครงการ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2555 เป็นต้นไป
การร่วมจ่าย 30 บาท เป็นการสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจแก่ผู้รับบริการ ซึ่งนโยบายการดำเนินงานของรัฐบาล จะเน้นให้บริการด้วยหัวใจ ด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ไม่ใช่บริการแบบอนาถา โดยโครงการ 30 บาทยุคใหม่นี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญของการป้องกันการเจ็บป่วยทุกโรค ซึ่งเป็นการจัดการสุขภาพที่เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด ได้ดำเนินการจัดตั้งกองทุนตำบลทุกพื้นที่ ซึ่งมีประมาณ 7,700 กว่าแห่งทั่วประเทศ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. สนับสนุนเงินปีละกว่า 2,200 ล้านบาท และจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. อีกประมาณ 800 กว่าล้านบาท
ทั้งนี้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาพในการป้องกันโรค ดูแลสุขภาพเชิงรุกตามสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ และกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม      
สำหรับโฉมหน้าบริการ 30 บาทยุคใหม่ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 เป็นต้นไป ประชาชนที่ใช้สิทธิโครงการนี้ จะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 11 ประการ ดังนี้ 1.หากเจ็บป่วยฉุกเฉินรุนแรงอาจถึงแก่ชีวิต  สามารถรับบริการที่โรงพยาบาลใดก็ได้ทั้งรัฐและเอกชนที่ใกล้ที่สุด ไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน 2.ผู้ป่วยเอดส์ จะได้รับการดูแลเท่าเทียมกันทุกสิทธิ และเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยด้วยระบบออนไลน์ หากย้ายที่อยู่ หรือย้ายสิทธิก็จะได้รับบริการต่อเนื่อง ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ 3.ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทุกสิทธิ จะใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับผู้ป่วยเอดส์ 4.ผู้ป่วยทุกสิทธิจะได้รับยาดีที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม ตามมาตรฐานการรักษาของประเทศ 5.มีระบบให้คำปรึกษาออนไลน์ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่านระบบเทคโนโลยีทางไกล เทเลเมดิซิน (Telemedicine) ระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองที่อยู่ใกล้บ้าน กับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และจะพัฒนาให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายใน 2 ปี 6.เพิ่มเมนูอาหารเพื่อสุขภาพแก่ผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อให้หายป่วยเร็ว และปลูกฝังนิสัยการกินอาหารที่มีคุณภาพ เหมาะกับโรค ไม่ก่อให้เกิดโรคเรื้อรัง
                 7.ผู้ป่วยอายุ 70 ปีขึ้นไปไม่ต้องรอคิวในการรับบริการที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง 8.มีบริการแพทย์แผนไทยที่ได้มาตรฐานที่หน่วยบริการใกล้บ้าน ทำให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย 9.กรณีเปลี่ยนที่อยู่อาศัยสามารถเปลี่ยนหน่วยบริการประจำได้บ่อยขึ้นปีละไม่เกิน 4 ครั้ง จากเดิมจะให้เปลี่ยนปีละไม่เกิน 2 ครั้ง โดยใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียว ก็ลงทะเบียนสิทธิหรือเปลี่ยนหน่วยบริการได้ 10.โรงพยาบาลชุมชนขึ้นไปทุกแห่งในสังกัดฯ จะให้บริการผู้ป่วยเต็มเวลา และ11.ประชาชนจะได้รับการส่งเสริมสุขภาพ การตรวจคัดกรองโรค ลดความเสี่ยง ป้องกันการเจ็บป่วย และเกิดโรคเรื้อรัง ทั้งหมดนี้จะทำให้คนไทยทุกคนได้รับบริการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพ ทั้งผู้ที่ป่วยแล้ว และประชาชนทั่วไป รวมทั้งเด็กแรกเกิดก็ได้รับวัคซีนป้องกันโรคอย่างเหมาะสม
ที่มา กระทรวงสาธารณสุข http://www.moph.go.th/

No comments:

Post a Comment