1/9/10
เจ็ดวันอันตราย ปีใหม่ 2553 ตาย 347 คน
ปภ.สรุป เจ็ดวันอันตรายเกิดอุบัติเหตุ 3,534 ครั้ง เชียงราย เชียงใหม่ โคราช ครองแชมป์ตายมากที่สุด 12 ราย
ผมนายพันธุ์ทอง จันทร์สว่าง ขออนุญาต นำข้อมูล จาก http://www.dailynews.co.th สรุปให้ทราบดังนี้ วันนี้(5ม.ค.)ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553 แถลงปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติภัยทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553 ( ศปถ.) ว่าในวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ป้องกันลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553 โดยมีสถิติอุบัติเหตุในช่วง 7 วันที่ผ่านมา คือ 1. เกิดอุบัติเหตุ 3,534 ครั้ง เปรียบเทียบกับปี 52 เกิด 3,824 ครั้ง ลดลง 290 ครั้ง 2. มีผู้เสียชีวิต 347 ราย เปรียบเทียบกับปี 52 เสียชีวิต 367 ราย ลดลง 20 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.45 และ 3. มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3,827 ราย ปี 52 มีผู้บาดเจ็บ 4,107 ราย ลดลง 280 ราย คิดเป็นร้อยละ 6.82
รมว.มหาดไทย กล่าวต่อว่า จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด คือ นครศรีธรรมราช 125 ครั้ง เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ และนครราชสีมา 12 คน บาดเจ็บสะสมสูงสุด คือ นครศรีธรรมราช 146 คน ไม่มีจังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุช่วง 7 วัน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตช่วง 7 วัน คือ นราธิวาส ปัตตานี สกลนคร และอ่างทอง และไม่มีจังหวัดที่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บช่วง 7 วัน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากเมาแล้วขับเป็นอันดับหนึ่ง รองลงไปเป็นการขับรถเร็วกว่ากำหนด อุบัติเหตุเกิดจากรถจักรยานยนต์มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 82 ส่วนผู้ประสบอุบัติเหตุ เกือบครึ่งเป็นคนในวัยแรงงาน คืออายุตั้งแต่ 20-49 ปี พื้นที่เกิดอุบัติเหตุ ยังคงเกิดบนถนนสสายรอง ซึ่งเป็นพื้นที่ตำบล หมู่บ้านมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 64.6 แต่จากการป้องกันโดยให้ชุมชนตั้งจุดตรวจตักเตือน ได้ผลดีสามารถลดอุบัติเหตุที่เกิดบนถนนสายรองได้ประมาณร้อยละ 9.8
นายชวรัตน์ กล่าวต่อว่า แนวทางในการแก้ปัญหา คือ 1.จังหวัดและหน่วยงานต่างๆ จะต้องนำข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติเหตุ ไปปรับแผนในการป้องกันและลดอุบัติเหตุ ทั้งในช่วงปกติ และเทศกาลสงกรานต์ 2.ให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับกระทรวงแรงงาน จัดอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน 3. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินโครงการ 365 วัน ลดการตายด้วยวินัยจราจรอย่างต่อเนื่อง 4. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งรัดการดำเนินการให้ความรู้เรื่องการขับขี่อย่างปลอดภัย จัดกิจกรรมรณรงค์ที่เด็กและเยาวชนจะได้มีส่วนร่วมได้มากที่สุด 5. กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( ส.ส.ส.) ควรร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ป้องกันเด็กและเยาวชนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วมาขับขี่รถจักรยานยนต์ ตลอดจนรณรงค์ให้ผู้เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ทราบและปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อย่างเคร่งครัด
“ศปถ.รณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุทางถนนรวม 7 วัน มีคติพจน์ว่า ไปสะดวก กลับสบาย จากการดำเนินการที่ผ่านมา แม้จะมีอุบัติเหตุ มีผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่ก็สามารถป้องกันอุบัติเหตุให้ลดลงจากปี 52 ได้เกินร้อยละ 5 ซึ่งจะได้มีการนำปัญหาอุบัติเหตุ ไปวิเคราะห์ในเชิงวิชาการทุกด้าน ซึ่งจะต้องรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น และให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ให้แก้ไขปัญหาได้สอดคล้องกับสภาพปัญหาตัวเอง อุบัติเหตุลดลงร้อยละ 5 – 7 เสียชีวิตไม่เกินร้อยละ 5 ก็เป็นที่น่าพอใจ
กรณีที่มีข่าวว่า นักวิชาการระบุตัวเลขอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นต่ำกว่าความเป็นจริงนั้น ก็ต้องตรวจสอบดูให้ละเอียด แต่ผมเชื่อว่าข้อมูลที่ได้มาใกล้เคียงความเป็นจริงกว่าร้อยละ 90 หรือบวกลบไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา โดย น.พ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ นายแพทย์จากโรงพยาบาลวิชัยยุทธ กล่าวว่า อัตราการเสียชีวิตของคนไทยจากอุบัติเหตุยังถือว่า มีมาก เพราะอยู่ในอัตรา 20 ราย ต่อประชากร 100,000 ราย ซึ่งถ้าเป็นบางประเทศ อัตราการเสียชีวิตจะอยู่ที่ 4 หรือ 5 ต่อ 100,000 จึงต้องรณรงค์มากขึ้น ปัญหาหลักคือเรื่องหลับใน โดยแนวทางของผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรมีความน่าสนใจ ถ้าเกิดตรวจจับพบคนขับจะหลับใน จะถูกให้พักนอนทันที.
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment