12/26/17

14 ธค.2560เพิ่มพื้นที่เล่น เน้นกิจกรรมทางกาย ร่วมจัดการขยะ เลิกละยาเสพติด” ณ จ. ยโสธร สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ รับฟังความเห็น_ครั้งที่ 10

14 ธค.2560เพิ่มพื้นที่เล่น เน้นกิจกรรมทางกาย ร่วมจัดการขยะ เลิกละยาเสพติด ณ จ. ยโสธร สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ รับฟังความเห็น_ครั้งที่ 10
            วันที่ 14 ธันวาคม 2560 ผมนายพันธุ์ทอง จันทร์สว่าง และคณะ  บันทึกการเข้าร่วมกิจกรรม
เวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 ณ ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร
ใน 4 ประเด็น หลัก ประกอบด้วย
1.     การส่งเสริมให้คนไทย ทุกช่วงวัย มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น
2.     การมีส่วนร่วมของชุมชน ในการเฝ้าระวังและแก้ปัญหา ยาเสพติด
3.     การพัฒนาพื้นที่เล่น สร้างเสริมสุขภาวะ ของเด็กปมวยและเด็กประถมศึกษา
4.     การจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนแบมีส่วนร่วม อย่างยั่งยืน













ทั้งนี้ สวท.ยโสธร ได้สรุปกิจกรรม ออกรายการวิทยุ ดังนี้

ยโสธร  เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10        
                 จังหวัดยโสธร  เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจังหวัดยโสธร ครั้งที่ 10  เพื่อเป็นการคัดเลือกตัวแทนในแต่ละประเด็นเข้าร่วมประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
                 วันนี้(14 ธ.ค.2560 )นายบรรจบ แสนสุข  หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนายุทธศาสตร์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารสมัชชาสุขภาพจังหวัดยโสธร เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจังหวัดยโสธร ครั้งที่ 10   ณ ห้องประชุมสาธารณสุข 1 ชั้น 4 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร  ซึ่งการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจังหวัดยโสธรในครั้งนี้เป็นการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในจังหวัดยโสธร ที่มีต่อร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และเพื่อเป็นการคัดเลือกตัวแทนในแต่ละประเด็นเข้าร่วมประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 21 -22 ธันวาคม 2560  ณ เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี และการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจังหวัดยโสธรครั้งนี้เป็นการจัดเวทีอย่างต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 10  โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ  สมัชชาสุขภาพจังหวัดยโสธร และประชาชนเข้าร่วมนับร้อยคน
                ทางด้าน นายบรรจบ แสนสุข  หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนายุทธศาสตร์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร  กล่าวว่า  ตามที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดยโสธร ดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในจังหวัดยโสธร 4 ประเด็น ได้แก่ 1. ประเด็นการส่งเสริมให้คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น   2. ประเด็นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหายาเสพติด   3. ประเด็นการพัฒนาพื้นที่เล่นสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา   4. ประเด็นการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน  สำหรับการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจังหวัดยโสธร ครั้ง ได้รับความร่วมมือจากทุกส่วนของจังหวัดยโสธรในการส่งตัวแทนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างพร้อมเพรียง ทั้งนี้เพื่อมีมติร่วมกันในการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพของคนในชุมชน ให้นำไปสู่การเป็นนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมตามวิถีทางประชาธิปไตยที่ยั่งยืนต่อไป
นายอุทัย  มานาดี / สวท.ยโสธร /  โทร.098-1194212

ขอบพระคุณ ข้อมูลประกอบ จาก สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ



สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๖๐ ๑๐ ปี พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ สู่สังคมสุขภาวะเสนอ ๔ ระเบียบวาระสำคัญ มุ่งแก้ปัญหาสุขภาวะใกล้ตัว เสริมพื้นที่เล่น เน้นกิจกรรมทางกาย ร่วมจัดการขยะ เลิกละยาเสพติดพร้อมนำเสนอรูปธรรมความสำเร็จการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และเรื่องราวดีดีจากการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ตลอด ๑๐ ปีหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐

   วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดงานแถลงข่าว การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ พ.ศ.๒๕๖๐ ณ บริเวณลานหน้าห้องประชุมวายุภักษ์ ชั้น ๕ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธาน คจ.สช. กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นเครื่องมือที่ถูกกำหนดไว้ในหมวด ๔ ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมที่สร้างพื้นที่สาธารณะให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทย เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและผลักดันนโยบายสาธารณะ ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแสวงหาทางออกร่วมกันบนฐานข้อมูล ความรู้ และปัญญา ด้วยความเท่าเทียมกันของทุกฝ่าย และนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อฝ่ายต่างๆ ในสังคม

   นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๖๐ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๐๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๐ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยมี ๔ ระเบียบวาระที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาเพื่อพัฒนาข้อเสนอนโยบาย หรือเป็น ขาขึ้นนโยบายในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประกอบด้วย (๑) การส่งเสริมให้คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น (๒) ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด (๓) การพัฒนาพื้นที่เล่นสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กปฐมวัยและวัยประถมศึกษา และ (๔) การจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ซึ่งทั้ง ๔ ประเด็นล้วนใกล้ชิดกับสังคมไทย เริ่มจากการจัดการพฤติกรรมเนือยนิ่ง เคลื่อนไหวร่างกายน้อยของคนไทย ที่ส่งผลต่อภาวะอ้วนลงพุงและการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง ฯลฯ ในส่วนของเด็กปฐมวัยและเด็กประถมศึกษา ก็พบการขาดแคลนพื้นที่เล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ รวมถึงขาดความปลอดภัยและการจัดการดูแลที่ดีพอ ขณะเดียวกันปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดก็ต้องการการสานพลังเชิงรุกร่วมกันของทั้งชุมชน สังคมเพื่อสร้างเกราะคุ้มกัน ปราบยาเสพติดในชุมชนด้วยการสร้างความเข้าใจและให้โอกาส และท้ายที่สุดคือประเด็นการจัดการขยะที่เกิดขึ้นถึงปีละกว่า ๒๗ ล้านตัน แต่กำจัดได้เพียง ๒๐ ล้านตัน จึงต้องให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานทุกระดับที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกัน โดยให้ความสำคัญกับแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างวินัยของคนในชาติ มุ่งสู่การจัดการอย่างยั่งยืน

   ด้าน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการ คจ.สช. กล่าวว่า เนื่องจากปี ๒๕๖๐ ตรงกับวาระครบรอบ ๑๐ ปี การประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ คจ.สช.จึงกำหนดประเด็นหลักของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๐ นี้ว่า ๑๐ ปี พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ สู่สังคมสุขภาวะซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายนี้มุ่งให้เกิดกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ผ่านเครื่องมือและกลไกต่างๆ ที่กำหนดใน พ.ร.บ. โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมตามยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา กล่าวคือ คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของ ๓ ภาคส่วน ได้แก่ ภาควิชาการ เพื่อสร้างความรู้เป็นฐานพัฒนาข้อเสนอนโยบาย ภาคประชาชน ซึ่งรวมทั้งประชาสังคม เอกชน สื่อมวลชนฯ เพื่อสร้างความเคลื่อนไหวทางสังคม และภาคนโยบาย เพื่อเชื่อมโยง ขับเคลื่อนร่วมกับรัฐและการเมือง ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางประชารัฐเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนรวมทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ตลอดการทำงานที่ผ่านมาได้มีการสอดแทรกแนวคิด ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” (Health in All Policies) เพื่อให้หน่วยงาน องค์กรต่างๆ สร้างนโยบายโดยคำนึงถึงมิติด้านสุขภาพควบคู่ไปด้วยเสมอ ทั้งนี้เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสากล คือ การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๐ จะมีการนำรูปธรรมของการดำเนินงานพัฒนานโยบายสาธารณะผ่านเครื่องมือทุกชนิดตาม พ.ร.บ.สุขภาพฯ มาเผยแพร่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในลานสมัชชาและนิทรรศการ โดยประชาชนที่สนใจสามารถสมัครร่วมกิจกรรม สมัชชาพาทัวร์ภายในงานได้ด้วย

   นพ.พลเดช กล่าวอีกว่า ในทศวรรษต่อไป สช. ซึ่งรับผิดชอบการทำงานตาม พ.ร.บ.สุขภาพ มีภารกิจสำคัญ คือ การทำให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ได้ทำงานร่วมกัน ซึ่งนับวันจะทวีจำนวนขึ้น ได้เรียนรู้ซึมซับแนวคิดการทำงานแบบ สานพลัง” (Synergy) คือ การทำงานแบบข้ามภาคส่วน ซึ่งจะทำให้เกิดพลังในการผลักดันนโยบายสาธารณะบนฐานปัญญา นำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงของสังคมในทุกด้าน

   นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ รองประธานกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน กล่าวถึงความสำเร็จในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จากการจัดมาแล้ว ๙ ครั้ง มีมติรวม ๗๓ มติว่า จากการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติของหน่วยงาน ภาคี เครือข่าย ทำให้เกิดรูปธรรมที่สำคัญในหลายลักษณะ ทั้งผลสำเร็จในการประกาศเป็นนโยบายระดับชาติ การมีแผนยุทธศาสตร์ การมีแผนปฏิบัติงานของหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน องค์กรต่างๆ รวมไปถึงการเกิดผลเปลี่ยนแปลงถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมาย

   ทั้งนี้ ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ นี้ จะได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าและรูปธรรมจากการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา รวม ๑๕ มติ เช่น มติพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ ซึ่งมีมติมหาเถรสมาคมนำไปเข้าสู่แผนงานสาธารณะสงเคราะห์ และกำลังจัดทำเป็น ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติมติการควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ที่เป็นพลังร่วมผลักดันให้เกิดพ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.๒๕๖๐ เป็นต้น ทั้งนี้ การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จะเน้นการเปิดพื้นที่การหารือและการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน องค์กรทุกภาคส่วน โดยใช้ความรู้เป็นฐาน เพื่อขับเคลื่อน บูรณาการการทำงานเรื่องที่ยากและซับซ้อน มีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ซึ่งแตกต่างจากการทำงานของหน่วยราชการตามปกติ และยังเป็นการเสริมพลังการทำงานของทุกฝ่ายด้วย

No comments:

Post a Comment