7/29/17

เสียงกระซิบ จากหมอที่แม่สอด จ.ตาก สะท้อนถึง ..หมออนามัย

23 ก.ค.2560_เสียงกระซิบ จากหมอที่แม่สอด จ.ตาก..สะท้อนถึง ..หมออนามัย
            วันที่ 23 กรกฎาคม 2560 ผมนายพันธุ์ทอง จันทร์สว่าง   ประทับใจ บทความเรื่องเล่า นี้ครับ
เสียงกระซิบ  จากหมอที่แม่สอด  ....จะดังให้ทุกคนได้ยินได้อย่างไร  และขอบพระคุณผู้แต่งและเผยแพร่ ต่อๆกันมานะครับ  ขอบคุณภาพประกอบด้วยครับ         ความว่า
..วันนี้ออก OPD NAPHA นั่นคือห้องตรวจผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวี เป็นคิวของผู้ป่วย NAPHA extension คือกลุ่มผู้ป่วย migrant ชาวกะเหรี่ยง พม่า ที่ไม่ใช่คนไทยที่มาขอใช้สิทธิ์รับยาที่ รพ แม่สอด
ภารกิจประจำวันของฉันค่อนข้างยุ่งเหยิง ตอนเช้าต้องไปราวน์ICU ราวน์วอร์ดเกือบ 30 เตียงสอนนักศึกษาแพทย์ ราวน์วอร์ดพิเศษ สะสางงานที่รับผิดชอบที่ต้องจัดการในเช้าวันนั้น ทำให้วันนี้ลง OPDเกือบ 10.30 น คนไข้งดน้ำงดอาหารมารอตั้งแต่ 6 โมงใครมาก่อนได้ตรวจก่อนตามคิว
ฉันมาถึง..คนไข้นั่งรอเป็นระเบียบ ไม่มีใครพูดเลยสักคนเงียบกริบ
คนไข้เข้ามาตรวจทีละคน ส่วนใหญ่ต้องใช้ล่าม แทบไม่มีการปรับยาสำหรับ OPD นี้ ไขมันในเลือดเป๊ะ เบาหวานคุมได้เป๊ะ ไวรัสกดได้ตลอด คนไข้เกือบ 60 คนใช้เวลาตรวจไม่ถึงสองชั่วโมง
ตอนฉันยื่นใบสั่งยาให้คนไข้ไปรับยา คนไข้ทุกคนยกมือไหว้ เอามือข้างหนึ่งแตะที่ศอกอีกข้างราวกับรับของจากพระผู้ใหญ่ บางคนมีย่อถอนสายบัวด้วย ถ้าไม่มาเห็นด้วยตาตัวเองจะหาว่าโอ้อวดเกินจริง....
คนไข้ส่วนใหญ่ห่อข้าวมากิน ไม่รีบไม่ร้อน หมอมาเมื่อไหร่ก็ได้ ได้ยาเมื่อไหร่ก็ได้แม้ว่าค่ำนี้ยังไม่รู้จะนอนที่ไหนเพราะบ้านอยู่ฝั่งพม่าไกลโพ้น ..เขาก็เตรียมตัวมาอย่างดี
นึกแล้วมันช่างแตกต่างจากสังคมไทยปัจจุบันที่มีคนจำนวนมากลุกขึ้นมาด่าหมอ ด่าพยาบาลกันปาวๆ ยังกับเป็นบุคคลน่ารังเกียจ
ยอมรับว่าไม่ได้อ่านทั้งหมด อ่านเพียงเล็กน้อยก็ยังรู้สึกได้ถึงความเสื่อมศรัทธาต่อวงการแพทย์..ไม่รู้ว่าอะไรคือต้นเหตุ เพราะส่วนตัวเอง และเพื่อนแพทย์ใกล้ชิดก็ไม่มีใครทำอะไรผิดจากจรรยาบรรณที่พึงมี แพทย์พยาบาลไทยยังทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถเหมือนเดิมซ้ำยังพยายามพัฒนาศักยภาพให้มากขึ้นตามโลกยุคใหม่
แพทย์ไทยไม่ได้เปลี่ยนไป...แต่สายตาที่มองมาคู่นั้นต่างหากที่เปลี่ยนแปลง
รพ.แม่สอดได้เงินจากคนต่างชาติโดยเฉพาะชาวพม่ารวม 110,000,000 บาทต่อปีพอๆกับที่ได้เงินจากคนไทยจากกองทุนบัตรทอง ดังนั้นคนพม่าเขามาซื้อบริการเราทั้งนั้นแต่การปฏิบัติต่อหมอไทยประดุจเราเป็นเทพเจ้า
มีคนไข้หนุ่มน้อยอายุ 16 ปีมาด้วย Encephalitis สงสัยวัณโรคขึ้นสมอง โคม่ามาตั้งแต่แรกรับไปโรงพยาบาลที่เมาะละแหม่งหนึ่งสัปดาห์ไม่ดีขึ้นจึงพากันมาที่ รพ แม่สอดอย่างทุลักทุเล หายใจพะงาบๆ ใส่ท่อช่วยหายใจอยู่วอร์ดสามัญ ตอนนี้ตื่นดีเตรียม off ท่อช่วยหายใจ แพทย์ณัฐกานต์เดินไปราวน์ทีไรทุกคนในครอบครัวยกมือไหว้ท่วมหัวถ้ากราบได้คงทำไปแล้ว แววตาเปี่ยมไปด้วยศรัทธา ไม่เคยเรียกร้องอะไรยืนฟังแพทย์อธิบายอย่างเงียบๆ ไม่เคยร้องขอไป ICU มาถึงวันนี้ค่ารักษาแสนกว่าบาท
มาถึงวันนี้ค่ารักษาแสนกว่าบาท เขาจ่ายทุกบาททุกสตางค์เพราะกลัวหมอจะทิ้งเขา...เราพูดกันคนละภาษา แต่เรื่องของศรัทธาเป็นเรื่องสากลที่เข้าใจกันได้ระหว่างมนุษยชาติ  เขาวางชีวิตไว้ในมือหมอไทยที่เพิ่งเคยเจอหน้ากันครั้งแรกด้วยซ้ำ...
ในความเห็นของฉัน..วิกฤตศรัทธาในครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากจรรยาบรรณแพทย์ที่เปลี่ยนไป  แต่เกิดจากความไม่รู้ที่มากจนสะสมกัดกินลักษณะที่ดีของคนไทย ที่เคยคิดดีทำดีต่อกัน ที่เคยอ่อนน้อมพูดจากันด้วยภาษาไพเราะ มีเหตุมีผล เห็นอกเห็นใจกัน
สังคมชื่นชมคนดีหายไปไหน...
โชคดีที่ฉันยืนอยู่ตรงนี้ ที่ตรงชายขอบ..ฉันจึงเห็นความแตกต่าง
ตอนเช้ามีคนรอใส่บาตรพระรายเรียงเป็นแถวรับหมอกอ่อนๆ กลางวันถีบรถจักรยานไปทำงานมีปิ่นโตคนละเถา ในวันฝนตกหนักที่อาจจะมีคนแอบแช่งฝนแต่เด็กๆอาบน้ำฝนกันอย่างสนุกสนาน มือพ่อแม่จูงลูกๆพะรุงพะรังไปดูหนังกลางแปลงทั้งครอบครัว ...
ฉันได้รู้ว่าถ้าความสุขในสังคมและครอบครัวได้มาง่ายๆ กลับไปเป็นสังคมห่อใบตองและถีบรถถีบแต่ประเทศเราอาจไม่เจริญขึ้น...ฉันจะยอมแลก
มาช่วยกันปรับปรุงสังคมไทยไหมคะ ..ไม่รู้ว่ามันจะสายเกินไปหรือยัง
..







ทั้งนี้ ยังมีบุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานกับประชาชน ชนบทห่างไกล อย่างทุ่มเท และคลุกคลีกับชาวบ้าน
ที่เรียกกันว่า หมออนามัยดี

การทำงานและการดำเนินชีวิตของหมออนามัยดี สะท้อนถึงจิตวิญญาณของหมออนามัยที่รักประชาชน รับใช้ประชาชน ดังคำกล่าวจากใจของพวกเขา เช่น
"การได้ดูแลประชาชนเมื่อเขามีความทุกข์ ทำให้เขามีความสุข เราก็มีความสุขด้วย หากเราหาความสุขแต่คนเดียวก็จะเป็นการเอาเปรียบชาวบ้านเกินไป เพราะว่าเรากับเขาต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน"

"ชีวิตการทำงานกับชาวบ้านตลอดเวลากว่า 30 ปี ทุกวันนี้ยังมีความสุข ดีใจทุกครั้งที่ได้ช่วยเหลือชาวบ้าน มีความสุขอยู่กับงานบริการผู้ป่วย อยู่กับชาวบ้าน ชุมชน และอสม. เพราะหมออนามัยที่ดี คือ ที่พึ่งของชาวบ้าน มีคติส่วนตัวว่า รักประชาชน รักอสม. คือ หมออนามัย"

"หมออนามัย หัวใจชาวบ้าน ถ้าชาวบ้านต้องการผม ผมก็จะอยู่กับชาวบ้านตลอดไป"
"ทำงานด้วยใจรัก ให้บริการด้วยหัวใจ เพราะหมออนามัย คือทุกสิ่งทุกอย่างของชุมชน"

"ความเป็นหมออนามัย จะมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีตรงที่มีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ป่วย ต่อชาวบ้าน และคนยากจน สามารถเป็นที่พึ่งเขาได้...ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ แต่มันคือหัวใจของความเป็นมนุษย์ที่จะต้องช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน"

"หากหมออนามัยเปรียบเสมือนชีวิต การทำให้ชีวิตมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่าก็คือ การกระทำคุณงามความดีด้วยการช่วยเหลือชาวบ้าน ชาวบ้านคือกระจกเงาที่จะสะท้อนความดีงามเหล่านี้ สักวันหนึ่งเราจะรู้ว่า ไม่มีอาชีพไหนที่มีโอกาสได้ช่วยเหลือชาวบ้านมากมายเท่านี้"

"ให้ผู้ป่วยและชาวบ้านเป็นศูนย์กลาง ผ่านกระบวนการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และใช้หัวใจเป็นเครื่องมือในการทำงาน ทุกอย่างจะสำเร็จได้อย่างมีความสุข"

"การพัฒนาชุมชนไปสู่การมีสุขภาวะ จุดแตกหักอยู่ที่แกนนำชุมชน สถานีอนามัยถือเป็นหน่วยงานของรัฐที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าหน่วยงานของรัฐอื่นๆ อีกทั้งมีศักยภาพในการสร้างแกนนำชุมชน (อสม.) มาร่วม 30 ปี จึงควรเป็นองค์กรหลักสำคัญที่จะไปพัฒนาชุมชนไปสู้สุขภาวะได้"

หมออนามัยดีเด่นทั้ง 14 ชีวิต คือ แบบอย่างของหมอที่รักประชาชน ทำงานจิตอาสาด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์โดยแท้

No comments:

Post a Comment