26 กพ.2558: R2Rคำเขื่อนแก้ว_Phase
2_การเยี่ยมบ้านให้มีคุณภาพ
วันที่ 26
กุมภาพันธ์ 2558 วันนี้ผมนายพันธุ์ทอง จันทร์สว่าง รับคำแนะนำที่ดี
เกี่ยวกับงาน วิชาการ
R2Rคำเขื่อนแก้ว_Phase 2 จาก
อาจารย์ ดร.กระปุ๋ม นายวิทยา เพชรรัตน์
สาธารณสุขอำเภอคำเขื่อนแก้ว
นางอนงค์ลักษณ์ ฤทธิวุฒิ หัวหน้ากลุ่มการพยาบาล
โรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว
“เยี่ยมบ้านคุณภาพ”
ขอบคุณที่ดูแลประชาชนครับ
“เยี่ยมบ้านคุณภาพ” คือ อะไร ทำไม จึง ต้อง“เยี่ยมบ้านคุณภาพ”
ผมชื่นชม คนนี้ ครับ นพ.สุรเดชช ชวะเดช ท่านเขียนไว้ เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2558
ขออนุญาตนำข้อความที่ผมได้รับ จาก นายวิทยา เพชรรัตน์ สาธารณสุขอำเภอคำเขื่อนแก้ว
เป็น ข้อเขียนของ นพ.สุรเดชช ชวะเดช มาเผยแพร่ ดังนี้
จากนโยบาย
“ทศวรรษของบริการปฐมภูมิ” ทำให้เกิดกระบวนการมากมายเสริมในการทำงานปฐมภูมิ
เริ่มจาก ระบบสุขภาพอำเภอ(รสอ.) หรือ District Health System(DHS) จนมาถึงการเสริมการทำงาน DHS ด้วย ทีมหมอครอบครัว
หรือ Family Care Team(FCT) โดยมีนโยบายให้เชื่อมโยงการทำงานทั้งภายในและภายนอกสาธารณสุขเอง
ภายในขับเคลื่อนด้วย FCT ระดับอำเภอและตำบล
ร่วมออกแบบระบบการดูแลสุขภาพผู้ป่วยให้ถึงผู้ป่วยอย่างแท้จริง
ภายนอกขับเคลื่อนผ่านทีมระดับชุมชนเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้พี่น้องประชาชนเป็นคนดี
สุขภาพดี รายได้ดีและมีสิ่งแวดล้อมดี
ทีมหมอครอบครัวเริ่มต้นการทำงานด้วยกระบวนการเยี่ยมบ้าน
มาถึงตรงนี้คงมีคำถามว่าแล้วแตกต่างจากเดิมที่ผ่านมาอย่างไร
จากการติดตามการเยี่ยมบ้านในเขตสุขภาพที่ 10 บางพื้นที่
พบว่าการเยี่ยมบ้านในอดีตเป็นเพียงการเยี่ยมยามถามข่าว “เป็นจังได๋” “สบายดีบ่”
ซึ่งตอบโจทย์เรื่องใกล้บ้านใกล้ใจเกิด engagement ระหว่างหมอ
อสม.และพี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี
แต่หันกลับมาดูสถานะสุขภาพและระบบการดูแลของเรายังคงย่ำอยู่กับที่
ตรงจุดนี้เองเป็นโอกาสให้เราสามารถพัฒนาอะไรได้มากขึ้น ดีขึ้น
แต่ยังคงความงดงามของกระบวนการปฐมภูมิใกล้บ้านใกล้ใจได้ด้วยกระบวนการ
“เยี่ยมบ้านคุณภาพ”
เยี่ยมบ้านคุณภาพ
ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นเรื่องเดิมที่ถูกหลงลืมจากกระบวน Home
visit ตามหลักเวชศาสตร์ครอบครัว(Family Medicine) โดยลงไปเยี่ยมบ้านและประเมินตามหลัก INHOMESSS เพื่อเป็นข้อมูลนำเข้า(input)ในการออกแบบระบบการดูแลโดยทุกคนมีส่วนร่วมตามความถนัดตามหน้าที่แต่ละวิชาชีพแต่ละการงาน
วันนี้ได้มีโอกาสพาทีมหมอครอบครัวลืออำนาจประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล เภสัชกร
นักกายภาพบำบัดจากโรงพยาบาล พยาบาลเวช นวก. จพ.สาธารณสุข จากรพ.สต.ดงบัง
พี่น้องอสม.หมู่ 8-11 กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปลัด อบต.และรอง นายก อบต.
ลงเรียนรู้การเยี่ยมบ้านคุณภาพผ่านกระบวนการ INHOMESSS หลังจากนั้นเปิดโอกาสให้แต่ละคนได้เสนอข้อมูลที่ตนเองได้สัมผัสในมุมมองเฉพาะตนมาหาข้อสังเกตที่ได้จากการเยี่ยมบ้าน
จากนั้นร่วมกันออกแบบเพื่อการดูแลส่วนขาดของผู้ป่วยรายนี้ตามความถนัดแต่ละคนต่อไป
ผลลัพธ์ที่จะเกิดกับผู้ป่วยรายนี้(ตาหนู)คือ
- ปลัดอบต.อาสาจะพาทีมมาซ่อมเตียงที่ตานอน
จัดหารถเข็น สัญญาว่าจะเตรียมรถรับส่งเวลาไปหาหมอและประสานงบประมาณทำทางลาดให้
- สสอ.และ
อสม.จะเชิญชมรมผู้สูงอายุมาทำกิจกรรมเพื่อให้กำลังใจตาหนูหลังจากประเมินพบภาวะซึมเศร้า(ตรงนี้เองน้ำตาแห่งความปิติของตาหลั่วไหลออกมาจากตาที่บอดสนิททั้งสองข้าง)
- นักกายภาพบำบัด สอนข้างเตียงการกายภาพบำบัด ผป.CVA
และวางแผนพัฒนาหลักสูตรเพื่อสอน care giver และ
อสม. ทั้งอำเภอ หลังจากได้รับข้อมูลว่า อสม.ยังไม่มั่นใจในการทำกายภาพบำบัดเบื้องต้น
- นักโภชนากรแนะนำการรับประทานไข่ขาวให้ตาหนู
หลังจากประเมินพบภาวะขาดโปรตีนและกล้ามเนื้อลีบ
และกินได้แต่ข้าวต้มเนื่องจากไม่มีฟัน
- รองนายก อบต.และ ทีมอสม.จะมาทำ big
cleaning day หลังจากพบสภาพแวดล้อมที่แออัดและมีตู้วางเกะกะ
ลูกสาวตาหนูขยับเองไม่ไหว
- รองนายก
อบต.จะประสานปศุสัตว์มาทำหมันและฉีดวัคซีนแมวที่มีมากเกือบ 20 ตัวในบ้านหลังนี้
- พยาบาลเวช ใน รพ.สต. จะประสาน
อสม.ที่อยู่ใกล้เคียงมาช่วยเฝ้าตาหนู หลังจากพบว่า ลูกสาวดูแลคนเดียวตลอด 24 ชม.เริ่มดูอิดโรยและตอบคำถามน้อยลง
- เภสัชกร วางแผนจะทำ Medical reconcile ทุกราย และออกสมุดบันทึกการดูแล ผป. ให้ตาหนูใหม่ หลังจากพบยา losec
ที่จ่ายคู่กับ ASA แทบไม่ได้กินเลย
- แพทย์ที่ปรึกษาจัดยาป้ายตาให้ตาหนู
หลังจากตรวจพบตาข้างขวาปิดไม่สนิทและมีโอกาสติดเชื้อ
- นักกายภาพบำบัด แนะนำทีมให้ทำราวรอบที่นอนเพื่อป้องกันตาหนูตกจากเตียง
และกระตุ้นให้ตาขยับมานั่งขอบเตียง เพื่อไม่ให้กลายเป็นคนติดเตียงอย่างถาวร
- อสม.สนับสนุนให้ชมรมผู้สูงอายุมาทำพิธีสูตรขวัญให้ตาหนูตามความเชื่อของคนอิสาน
นี่เป็นเพียงบางส่วนของความงดงามจุดเล็กๆที่เกิดขึ้นในตำบลดงบัง
ที่เชื่อมโยงการออกแบบระดับอำเภอสู่พี่น้องประชาชนครับ
ขอบคุณที่ดูแลประชาชนครับ
นพ.สุรเดชช ชวะเดช
23 กุมภาพันธ์ 2558
No comments:
Post a Comment