4/29/15

23 เมย.2558: ใกล้บ้านใกล้ใจ : รักประชาชน รักหมออนามัย_ก้าวให้ไกลก้าวไปด้วยกัน

23 เมย.2558: บริการองค์รวม ใกล้บ้านใกล้ใจ : รักประชาชน รักหมออนามัย_ก้าวให้ไกลก้าวไปด้วยกัน
วันที่ 23 เมษายน 2558 วันนี้ ผม นายพันธุ์ทอง  จันทร์สว่าง เข้าร่วม ประชุมเพื่อพัฒนากลไกการสื่อสารเครือข่ายหมออนามัย สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชน ณ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งกำหนดจัดขึ้น วันที่ 22-23 เมษายน 2558  
ประธานดำเนินการประชุม โดย ผศ.ดร.สงครามชัย ลีทองดี คณะบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
วิทยากร โดย อาจารย์ สฤษดิ์ ผาอาจ คณะสาธารณสุขศาสตร์ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร (วสส.) ยะลา
อาจารย์ บุญเรือง ขาวนวล   คณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยทักษิณ

หมออนามัย จุดกำเนิดของคำว่าบริการแบบองค์รวม  เชื่อมโยง ผสมผสาน : ใกล้บ้านใกล้ใจ 
หลักบริการในระดับปฐมภูมิ 1A4C หรือ ที่ผม (พันธุ์ทอง ใช้ ว่า 3CHAI ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่3ประการ )

นั้น มีที่มาที่ไปจากการให้บริการ ของหมออนามัย มาต่อเนื่องและยาวนาน กว่า 100 ปี

บริการในระดับปฐมภูมิ 1A4C สรุปสั้นๆว่า หมออนามัย ใกล้บ้านใกล้ใจ

ซึ่งสะท้อน สัมพันธภาพที่ดีทั้งของผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ ส่งผ่านคุณภาพบริการด้วยพฤติกรรมการบริการที่ดี**

จึงมีวลี ของท่าน ศ.นพ.ประเวศ วะสี อนุญาตให้ใช้เป็น Motto ประจำของ วารสารเราว่า รักประชาชน รักหมออนามัย

 

จากแนวคิดหลัก 1A4C บริการปฐมภูมิ ได้แก่ 

Accessibility การเข้าถึงบริการ

Continuity การให้บริการอย่างต่อเนื่อง

Comprehensiveness การให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ( องค์รวม +ผสมผสาน )

Coordination การประสานงาน  

Community participation ชุมชนมีส่วนร่วม

 

ทักษะ ด้านของ หมออนามัย   ประกอบด้วย PC ESB 

ทักษะ ด้านเวชปฏิบัติครอบครัว Practice

ทักษะด้านการให้คำปรึกษา Consulting

ทักษะ ด้านระบาดวิทยา Epidemic

ทักษะ ด้านการจัดทำแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์  Strategy Rout Map : SRM

ทักษะ ด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ Behavior Changing  

 

เพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน และง่ายต่อการจดจำ ผม (พันธุ์ทอง ) จึง แปลง 1A4C ใช้คำว่าสามชัย 3CHAI หรือ สามช่า 3CHA  โดยคงเนื้อหา Concept เดิมเอาไว้ครบถ้วนดังนี้

 

3CHA นั้น แยก ใช้  Holistic Care  แทนคำว่า Comprehensiveness

และ 3CHAI นั้น แยก Comprehensiveness ออกเป็น 2 ตัว คือ Holistic Care และ Integrate

รวมความแล้ว ก็เพื่อให้ง่ายแก่การจดจำ แต่ แก่นแท้ คือ หลักการดูแลระดับปฐมภูมิ 1A4C นั่นเอง

 

**พฤติกรรมการบริการที่ดี โดยมีทักษะขั้นพื้นฐาน ของFamily Care Team: FCT เน้น ทักษะ 5 ด้าน คือ PC ESB

 ทำไมจึงใช้ PC ESB  ทักษะ 5 ด้านของ หมออนามัย  

ปกติเราจะคุ้นชิน คำว่า Excellent  Service Behavior :  ESB  อยู่แล้ว

ผม ใช้ PC ESB ทักษะ 5 ด้านของ FCT คือ ที่ผมใช้ เพื่อให้จดจำง่ายทักษะ ประจำตัว ของหมออนามัยทุกคน

และเตือนใจ เตือนจำว่า  PC ก็ให้บริการแบบองค์รวม ผสมผสาน ถูกต้อง ทันสมัย ให้ได้ดั่ง Personal Computer : PC  



เนื้อหา ประวัติศาสตร์ ที่ประทับใจ ของหมออนามัย 

เรื่องเด่นประจำ ปีที่ 10 ฉบับ 6  (พฤษภาคม – มิถุนายน 44)
ตอน  สิบหนาวที่ก้าวผ่าน  “วารสารหมอนามัย”

โดย กอง บ.. วารสาร หมออนามัย
(เกริ่นนำโดยสแกนคุยกับหมออนามัย ในปีที่ 1 ฉบับ 1 ลง)
หากเปรียบการเปิดตัวของ วารสารหมออนามัยดั่งการแสดงของมหรสพประเภทหนึ่ง  เนื้อความข้างต้นก็คล้ายเป็น การออกแขก  ซึ่งเป็นลักษณะของการอารัมภบทเพื่อพูดคุยทักทายและนำเสนอเพื่อดึงดูดใจและชี้แจงถึงที่มาที่ไปของการแสดงของมหรสพนั้นๆ 
              เนื้อความทั้งหมดทั้งสิ้นที่เห็น  เป็นการออกแขกภายใต้ชื่อ คุยกับหมออนามัย”  ซึ่งคงอยู่คู่กันกับวารสารเล่มนี้มาตั้งแต่แรกเริ่มจนกระทั่งถึงปัจจุบัน     ทว่าฉบับแรกมีความพิเศษตรงผู้ที่ ออกแขกมาพูดคุยกับหมออนามัยนั้นเป็น  อาจารย์ประเวศ  วะสี  ครูใหญ่ทางความคิด ของหลายต่อหลายคนในบ้านนี้เมืองนี้นั่นเอง  การคุยกันครั้งแรก ได้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นมาและทิศทางของการก่อกำเนิด       คราวนั้น  ถือเป็นคำพรอันยิ่งใหญ่ที่ช่วยอำนวยชัยให้วารสารเล่มเล็กๆ เล่มนี้ได้ขับเคลื่อน ดำรงและสืบทอดหลักคิดของการทำงานสืบมา        ซึ่งหากนับช่วงเวลาของการออกแขกโดยครูใหญ่ ณ วันนั้นจนถึงวันนี้แล้ว   ตัวเลข 10  ปี  คงพอจะยืนยันถึงความคงอยู่บนบรรณพิภพผืนนี้ได้เป็นอย่างดี    และหากเปรียบเป็นดั่งความหนาวของฤดูกาล   ก็เท่ากับว่า  เป็นการเดินทางที่ผ่านหนาวมาแล้วถึง 10  ฤดู
 แทรกหนาวบนก้าวแรก

              วารสารหมออนามัย ก่อกำเนิดขึ้นโดยการผลักดันของกลุ่มแพทย์ในชมรมแพทย์ชนบทแห่งประเทศไทย  ซึ่งอาจารย์ ประเวศ   วะสี ได้อธิบายถึงรายละเอียดไว้ในบทความเรื่อง บนเส้นทางชีวิต (นิตยสารหมอชาวบ้าน  ปีที่ 21 ฉบับที่ 244  สิงหาคม 2542 : 39 – 40)  ไว้ว่า

              “…เรื่องนี้ต้องถือว่ากลุ่มแพทย์ชนบทเป็นผู้ผลักดันโดยแท้         โดยปรึกษาหารือกันที่สวนสามพราน  โดยที่เห็นว่า  การพัฒนาโครงสร้างบริการสาธารณสุขได้ผ่านมา 2 ยุค คือ ยุคที่ 1 สร้างโรงพยาบาลจังหวัดให้ครบทุกจังหวัด  ยุคที่ สร้างโรงพยาบาลอำเภอหรือโรงพยาบาลชุมชนให้ครบทุกอำเภอ   ยุคที่ 3 ก็ควรจะเป็นยุคพัฒนาสถานีอนามัย   สถานีอนามัยนั้นมีครบทุกตำบลอยู่แล้ว  แต่ควรส่งเสริมให้มีสมรรถนะมากขึ้น  เพราะหมออนามัยเป็นหมอแนวหน้าของการสาธารณสุข  พวกแพทย์ชนบทก็ศึกษาและทำแผนกันว่าใน ทศวรรษแห่งการพัฒนาสถานีอนามัยควรจะต้องมีการเพิ่มเติมบุคลากร  เครื่องมือ และส่งเสริมสมรรถภาพของเจ้าหน้าที่อย่างใดบ้าง

              … กลุ่มแพทย์ชนบทได้ปรึกษากันว่า     เราน่าจะทำวารสารหมออนามัยเป็นเวทีสื่อสารทางวิชาการ  งานและปัญหาของหมออนามัยเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ…”
 (รายละเอียดนอกเหนือจากนี้ สามารถอ่านได้จาก รายงานพิเศษ เรื่อง เหลียวหลัง มองปัจจุบันและแลหน้า กึ่งนักษัตร วารสารหมออนามัย’ ” ในวารสารหมออนามัยประจำปีที่ 6 ฉบับที่ 6 พฤษภาคม-มิถุนายน  2540 : 19 – 24 )
เนื่องเพราะจุดเริ่มต้นดังกล่าว   วารสารหมออนามัยฉบับปฐมฤกษ์”   ฉบับที่ผืนปกปรากฏภาพ พระอาทิตย์ดวงโตที่ฉายแสงสีเหลืองเจิดจ้าเบื้องหลังสถานีอนามัย เมื่อประมาณกลางปี พ.. 2534  จึงได้ถือกำเนิดขึ้น    กำเนิดขึ้นเพื่อขานรับโครงการ  ทศวรรษแห่งการพัฒนาสถานีอนามัย  ในครั้งนั้นนั่นเอง โดยมี   นพ. สุวิทย์   วิบุลผลประเสริฐ  เป็นบรรณาธิการคนแรก  และอาศัยวิทยาลัยการสาธารณสุขภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  จังหวัดขอนแก่น  เป็นสำนักงานบริหารและดำเนินการจัดทำวารสารในยุคเริ่มต้น   จนกระทั่งประมาณกลางปี พ.. 2539  ซึ่งถือเป็นปีที่ 6ของวารสาร   นพ. อำพล  จินดาวัฒนะ  ก็ได้ รับไม้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการคนถัดมาพร้อมๆ กับมีการปรับเปลี่ยนกองบรรณาธิการบางส่วน         สำหรับแกนหลักในการดำเนินงานนับจากมีการปรับเปลี่ยนคราวนั้น     ก็ยังเป็นบุคคลเดิมจนถึงปัจจุบันคือ    คุณสุทธิสิทธิ์   ไมตรีจิตร์  และคุณสถิตย์   ยะสะกะ   ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการวิชาการ  ปัจจุบันสำนักงานวารสารตั้งอยู่ที่ สถาบันพระบรมราชชนก อาคาร ชั้น สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข   
              อย่างไรก็ตาม    แม้ว่าคณะทำงานหรือกองบรรณาธิการจะมีการผลัดไม้เปลี่ยนมือไป   แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนก็คือ  ความหวังใจของผู้ร่วมคณะทำงานร่วมกองบรรณาธิการทุกชุด ในทุกๆกระบวนการ ไม่ว่าจะร่วมทำหน้าที่ในบทบาทไหนก็คือ  มีความต้องการให้สารที่สื่อออกไป สามารถให้สาระประโยชน์  ให้ความรู้  ช่วยสร้างขวัญและสร้างกำลังใจให้กับผู้อ่านได้  โดยเฉพาะความหวังใจที่ให้กับ  หมออนามัย  ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่สำคัญที่สุด
  
หว่างหนาวที่กร้าวแกร่ง
คือทางเลือกทวนกระแส
              ผู้อ่านหลายคนอาจตั้งคำถามว่า   ทำไม วารสารหมออนามัยจึงแตกต่างจากวารสารหรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ ที่เห็นได้จากหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข  ซึ่งส่วนใหญ่จะให้น้ำหนักกับงานวิชาการ    หลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์    คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินจริงเท่าไรนัก หากจะสรุปแบบอหังการว่า   วารสารหรือสิ่งพิมพ์เหล่านั้นเป็นการ ภูมิใจเสนอ องค์กรของตนเป็นหลัก    จนแทบจะไม่ได้มองไปนอกกรอบสี่เหลี่ยมขององค์กรนั้นๆ เท่าใด   ด้วยเหตุนี้ สีสันที่ออกมาจึงมีความต่างอย่างชัดเจน หากเปรียบกับวารสารเล่มนี้      วารสารที่พร้อมสำหรับการเป็นแหล่งความรู้ใหม่ๆ เป็นเวทีสำหรับการแสดงผลงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์   พร้อมที่จะวิพากษ์วิจารณ์สังคมด้วยหลักการ นำไปสู่ความถูกต้องและสร้างประโยชน์แก่กลุ่มบุคคลและองค์กรต่างๆ ในสังคม   โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องอย่าง   หมออนามัยและสถานีอนามัยแม้  วารสารหมออนามัยจะได้ชื่อว่าเป็นหนังสือเฉพาะกลุ่ม          ดังคำขวัญที่เคียงคู่ หัววารสาร มาตลอดว่า  รักประชาชน-รักหมออนามัย ก็ตาม     หากทว่าบุคลากรอื่นๆ เช่น  แพทย์    พยาบาล   เภสัชกร   ครูอาจารย์  ฯลฯ  แม้กระทั่งประชาชนทั่วไปก็ให้ความสนใจมิใช่น้อย  หลายๆ ครั้งที่มีจดหมายส่งเข้ามายังสำนักงานเป็นนักอ่านเยาวชน   บางรายให้ความสนใจถึงขนาดจะขอเลือกเรียนต่อและทำงานในสายงานนี้    ดังจดหมายของ  น้องณัฐวุฒิ   ภูจิตทอง  จากจังหวัดขอนแก่น  ซึ่งมีเนื้อความบางส่วนว่า
                 “  ผมได้อ่านวารสารจากคุณป้า  ซึ่งทำงานอยู่ที่สถานีอนามัยตำบลแคนเหนือ  อ. บ้านไผ่  จ. ขอนแก่น   ชอบมากครับ   เป็นหนังสือที่อ่านแล้วได้รับความรู้และเรียนรู้วิธีการป้องกันรักษาเกี่ยวกับโรคต่างๆผมอยากเป็นหมออนามัย  เวลาเห็นป้าทำงานรู้สึกชื่นชม  ผมจึงคิดว่าน่าจะทำงานในสายงานเดียวกันกับท่านครับ  
                กระนั้น  ความเป็นหนังสือเฉพาะกลุ่ม  ก็เป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่ง เพราะทำให้หลายๆ คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำงานในสายงานของหมออนามัย   ต้องวางเฉยกับวารสารเล่มนี้ไปอย่างน่าเสียดายด้วยเหตุผลว่าไม่เกี่ยวข้อง  อยู่คนละกลุ่ม อยู่คนละสายงาน  เป็นต้น   ซึ่งแท้จริงแล้วหากได้ลองอ่านลองพินิจก็จะเห็นว่า   กว่าครึ่งหนึ่งของเนื้อหาในวารสารเป็นเรื่องที่ทุกคน ทุกกลุ่มอาชีพ ทุกสายงานสามารถเข้าใจได้    หลายเรื่องมีประโยชน์ในวงกว้าง   ซึ่งหากไม่อคติต่อวิชาชีพก็จะรู้ว่าการอ่านวารสารเล่มนี้  เท่ากับเป็นการเปิดโลกทัศน์   สร้างกลยุทธ์ในการทำงานได้   เช่น   สายงานอื่นที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสายงานของหมออนามัยก็สามารถเข้าใจความคิด  เข้าใจการทำงานของสายงานนี้  ประโยชน์ที่เป็นเป้าหมายสูงสุดก็คือ สามารถปรับวิธีการทำงาน  วิธีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสายงานได้    และที่สุดของที่สุดก็คือ     การที่ได้รับรู้ว่า  สุดท้ายแล้วความรู้ทุกอย่างเป็น  องค์รวม  เพราะสิ่งต่างๆ ล้วนแล้วแต่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กันทั้งสิ้น  สังเกตได้จากเรื่องที่นำเสนอประจำฉบับ  มีทั้งเรื่องในระดับปัจเจก  เช่น  การป้องกันควบคุมโรค  การดูแลสุขภาพ     และเรื่องในระดับโครงสร้างที่ต้องอาศัยความร่วมมือขององค์กรต่างๆ ในการดูแลหรือแก้ไขปัญหา เช่น เรื่องการปฏิรูปการเมือง ปัญหาสิ่งแวดล้อม  การกระจายอำนาจ  หรือระบบการบริหารการบริการสาธารณสุข  เป็นต้น
              “วารสารหมออนามัย”     ไม่ได้เป็นเพียงสื่อที่นำเสนอเฉพาะสารที่เกี่ยวกับความรู้  ความเข้าใจทางด้านวิชาการเพื่อพัฒนาทักษะทางด้านการประกอบอาชีพอย่างเดียว   แต่ยังเป็นเสมือนมุมน้อยๆ ให้ผู้อ่านได้พิงพัก   คงปฏิเสธไม่ได้ว่า  บทกวีหลายๆ บทจากกวีมือสมัครเล่นสามารถสร้างแรงบันดาลใจ     หลายครั้งที่ข้อเขียนจากคอลัมน์เล็กๆ บางคอลัมน์สามารถเรียกรอยยิ้มและหยาดน้ำตาได้    มีเรื่องสั้นไม่ใช่น้อยที่สามารถเป็นครูทางอ้อมให้กับการปรับวิธีการทำงานและเปลี่ยนวิถี
ชีวิต      นอกจากนี้ยังเป็นเสมือนเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดหรือทัศนคติผ่านงานเขียน  บางคราวก็ทำให้ได้พบเจอกันจริงๆ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ก็โดยอาศัยสื่อเล็กๆ สื่อนี้เอง
                คุณประเสริฐ  เก็มประโคน งานแผนงาน สสจ.บุรีรัมย์ ได้กล่าวถึงวารสารหมออนามัยในฐานะแฟนพันธุ์แท้ที่ติดตามตั้งแต่ฉบับแรก ไว้ว่า 
ผมเป็นคนหนึ่งในหลายๆ คนที่ติดตามวารสารมาตั้งแต่แรก แม้ว่าปัจจุบันต้องมาทำงานที่สสจ. ก็ยังติดตามความเป็นไปของวารสารโดยหยิบยืมจากภรรยาที่ทำงานอยู่ สอ. วารสารมีพัฒนาการที่ดีมาโดยตลอด แรกๆ มีลักษณะเป็นแบบลูกทุ่ง หลังๆ มาปรับเปลี่ยนเนื้อหาสาระเป็นเชิงวิชาการมากขึ้น อย่างไรก็ตามขอแสดงความยินดีกับความพยายาม ความบากบั่น จนสามารถยืนหยัดอยู่คู่หมออนามัยมาโดยตลอด และขอเป็นกำลังใจให้ยืนหยัดตลอดไป
            หรือข้อความจากอีเมล์ ของคุณบัณฑิต  เกียรติจตุรงค์ สสอ.วังน้ำเขียว นครราชสีมา
ผมติดตามวารสารมาตั้งแต่เล่มแรก อ่านแล้วอ่านอีก ขอเป็นกำลังใจให้ทีมงานผู้จัดทำวารสารทุกคน  พวกคุณคือปากคือเสียง คือศูนย์รวมใจของพวกเราชาวหมออนามัยทุกคน อยากให้พวกคุณรู้ว่า นี่เป็นสิ่งที่มีค่า และยิ่งใหญ่มหาศาลในวิญญาณและความรู้สึกของพวกเรา  ขอให้เป็นเสียงกู่ก้องจากส่วนลึกของชุมชนที่เป็นด่านแรกของกระทรวงฯและชุมชนชนบทไทยขอให้รักษาดวงใจของพวกเราต่อไปนานๆ นะครับ

              คงจำกันได้ว่า  ณ  ที่แห่งนี้  ก็เคยมีนิยายประจำฉบับด้วยเหมือนกัน     โดยนักเขียนนาม ..” ได้ให้กำเนิดตัวละครที่เป็นหมออนามัยหนุ่มขึ้นมาคนหนึ่งนาม บุญค้ำ คราวนั้น  บุญค้ำได้สร้างสีสัน กลายเป็นแรงดึงดูดที่สำคัญ สามารถสร้างกระแส คนรักบุญค้ำ ขึ้นมาได้    ขนาดนักอ่านในยุคแรกๆ  บางคนยังเคยพูดว่า บางที ยังถามตัวเองเลยว่า  บุญค้ำใช่ตัวเราหรือเปล่า? ”    และเชื่อแน่ว่า ณ วันนี้   ก็คงมีนักอ่านอีกไม่น้อยเลย  ที่อยากรู้ข่าวคราวและชีวิตความเป็นไปของ บุญค้ำ  หลายคนยังอยากให้เขาออกมาแหวกว่ายในทะเลน้ำหมึกอีกครั้ง!
              สิ่งที่ปรากฏขึ้นภายในวารสารเล่มนี้ ทั้งภาพและตัวอักษร  แต่ละหน้าแต่ละบรรทัด  ล้วนถูกสร้างสรรค์ขึ้นด้วยความตั้งใจของคนทำงาน   แม้จะมีความผิดพลาดบ้างก็คงเป็นเพราะข้อจำกัดทางด้านทักษะความชำนาญ  เนื่องด้วยทุกคนที่ร่วมหน่อเนื้อผลิตงานไม่ได้เป็นมืออาชีพ  เพียงแต่มีความตั้งใจและความปรารถนาดีเท่านั้นที่เต็มเปี่ยม
              ตลอดระยะเวลา 10 ปี   จากวารสารแปลกหน้าที่หลายคนไม่คุ้นชิน   หลายคนปรามาสว่าจะครองตัวอยู่ได้นานสักเพียงไหน   ณ บัดนี้ วารสารเล่มเล็กๆ เล่มนี้   ก็ได้กลายเป็นวารสารหนึ่งเดียวที่อยู่ทนทาน   กลายเป็นเพื่อนที่รู้ใจของผู้อ่าน   โดยเฉพาะมิตรภาพที่เกิดขึ้นระหว่างผู้จัดทำกับผู้อ่านสามารถร้อยรัดได้อย่างรวดเร็ว เปรียบดั่งญาติทางตัวอักษรและเปรียบดั่งผู้คุ้นเคย หากได้มีโอกาสสนทนาวิสาสะ  
              อาจารย์ประเวศ    วะสี   ผู้อาวุโสที่เป็นหลักสำคัญในการก่อกำเนิดของวารสารเล่มนี้    ได้กล่าวถึงเนื่องวาระครบรอบหนึ่งทศวรรษวารสารหมออนามัยไว้ว่า
ผมได้มีส่วนก่อตั้งวารสารหมออนามัย โดยที่คำนึงว่า หมออนามัยเป็นหมอแนวหน้าของประเทศ ที่ให้บริการประชาชนระดับรากหญ้าอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ และมีบทบาทสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรค ทำให้โรคหลายอย่างลดน้อยลงหรือหมดไป เช่น ฝีดาษ กาฬโรค อหิวาตกโรค คุดทะราด โรคเรื้อน โรคคอตีบ โรคโปลิโอ เป็นต้น เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณของหมออนามัยที่มีต่อแผ่นดิน เพื่อสนับสนุนทางวิชาการแก่หมออนามัย และเพื่อเป็นเวทีสำหรับหมออนามัยจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ จะเป็นทางการบริหารก็ดี ทางวิชาการก็ดี ทางสุนทรียกรรม หรือความสร้างสรรค์ด้านใดๆ ก็ดี ควรมีการออกวารสารหมออนามัย
      บัดนี้จำเนียรกาลล่วงไป ๑๐ ปี วารสารหมออนามัยอยู่มาได้ด้วยดี และส่อเค้าว่าจะมีความยั่งยืนและมีประโยชน์ตามเจตน์จำนงดังกล่าวข้างต้นมากพอสมควร ขอให้หมออนามัยได้เข้ามาเป็นเจ้าของวารสารหมออนามัย พัฒนาให้เป็นประโยชน์ยิ่งๆ ขึ้น ขอให้หมออนามัยได้เข้ามาเป็นเจ้าของวารสารหมออนามัย พัฒนาให้เป็นประโยชน์ยิ่งๆ ขึ้น เพื่อความสุขความเจริญของหมออนามัย และของพหุชน ขอให้ทุกฝ่ายใช้วารสารหมออนามัยเป็นเครื่องผดุงความถูกต้อง ขอให้สังคมเห็นคุณค่าของหมออนามัย และขอให้หมออนามัยเป็นปัจจัยแห่งความสุขของมหาชนชาวสยาม
ณ  วันนี้ : สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่
              ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ทุกๆ สองเดือน วารสารหมออนามัยก็จะถูกเข็นออกมาเพื่อนำเสนอต่อมวลหมู่สมาชิกทั้งประเภทประจำและชั่วคราวหรือแม้กระทั่งผู้ผ่านทางที่แวะเวียนเข้ามาทักทายตามแหล่งบริการยืมอ่านสืบค้น  โดยเฉพาะห้องสมุดตามสถาบันต่างๆ  วารสารแต่ละฉบับ มีจุดดึงดูดผู้อ่านแตกต่างกันไป บางฉบับมีจุดเด่นที่ภาพปก     ขณะที่บางฉบับมีจุดเด่นอยู่ที่เนื้อหาประจำฉบับหรือคอลัมน์ประจำที่แฟนๆ เฝ้ารอคอยติดตาม แต่น้อยคนนักจะรู้ว่ากว่าที่วารสารจะออกมาแต่ละฉบับ กว่าเรื่องราวต่างๆ จะได้รับการเรียงร้อยจนสามารถจับต้องและสัมผัสได้ด้วยตา   แต่ละครั้งนั้นต้องผ่านกระบวนการผ่านขั้นตอนมากมายเพียงใด  ดังนั้น การผลิตวารสารแต่ละเล่มออกมาจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย  แต่จะอย่างไรก็ตาม  สิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือ ผู้ร่วมกระบวนการของการผลิต ตั้งแต่บรรณาธิการ กองบรรณาธิการ นักเขียน    ตลอดจนผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในส่วนต่างๆ  ล้วนแล้วแต่วาดหวังว่า วารสารเล่มนี้ต้องมีความสมบูรณ์ ถูกต้องและมีคุณภาพมากที่สุด
              บรรณาธิการ ผู้มีหน้าที่หลักในการวางรากฐานของการกำหนดทิศทางหนังสือ  ถือได้ว่าเป็นหลักสำคัญในการระดมความคิดว่าจะนำเสนออะไรออกไปในแต่ละเล่มแต่ละฉบับ ซึ่งได้กลายเป็นสัญญาต่อมหาชนไปแล้วว่า  จะต้องมี วารสารเล่มนี้ออกมาและส่งตรงถึงสมาชิกทุกๆ สองเดือน     
นพ. สุวิทย์    วิบุลผลประเสริฐ   บรรณาธิการบริหารได้ฝากข้อคิด ถึงหมออนามัยไว้ว่า
            สังคมไทย โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับ สุขภาพ กำลังเคลื่อนไปด้วยพลวัตที่ผันผวนรวดเร็ว โดยสอดประสานกับพลวัตของสังคมไทยในด้านเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา และอื่นๆ รูปธรรมของการเคลื่อนไหวที่สำคัญๆ ได้แก่
                การกระจายอำนาจ  เรากำลังจะมีกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) ความสัมพันธ์ระหว่างสถานีอนามัยกับ อบต. และ กสพ. รวมทั้งความสัมพันธ์กับสาธารณสุขอำเภอ / โรงพยาบาลชุมชน จะมีพัฒนาการไปอย่างแน่นอน
            การปฏิรูประบบสุขภาพ  เรากำลังจะมี พ...สุขภาพแห่งชาติเป็นครั้งแรก ที่จะปฏิรูปสู่ระบบสุขภาพเชิงรุก งานของหมออนามัยน่าจะมีบทบาทเด่นขึ้นในจุดนี้
            ‘30 บาทรักษาทุกโรค อันนี้เป็นดาวรุ่งพุ่งแรง และน่าจะกระทบกับ หมออนามัย เร็วที่สุดและมากที่สุด
            บางคนบอกว่าสถานีอนามัยจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลชุมชน หรือ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป
            บางคนบอกว่าสถานีอนามัยจะเป็น สาวเนื้อหอม เพราะสถานพยาบาลระดับต้นทั้งภาครัฐ และเอกชน จะมารุมตอมรุมจีบให้เป็นสถานบริการเครือข่าย
            ทศวรรษหน้าของ หมออนามัย และสถานีอนามัยจึงมิใช่การก่อสร้างใหม่ การมีเครื่องมือ/คนใหม่ๆ แต่เป็นการปฏิรูประบบงาน ความคิด และทักษะของหมออนามัย
            คงไม่พ้นที่เราต้องหันกลับมาทำงานเชิงรุกใกล้ชิดชาวบ้าน เป็นสถานีอนามัย ใกล้บ้าน ใกล้ใจของประชาชน
            นี่คือความหวังของประชาชน
            ไม่ว่าทศวรรษหน้าหรือทศวรรษไหน

              ผู้ช่วยบรรณาธิการ ก็เป็นจักรตัวสำคัญ เป็นผู้ที่จะต้องรับลูก    รับความคิดและแปลงสารส่งต่อไปยังกองบรรณาธิการอีกหนึ่งหยิบมือ รวมถึงนักเขียนประจำและนักเขียนเฉพาะกิจทั้งหลายถึงเรื่องราวที่จะลงตีพิมพ์ในแต่ละครั้ง   ภาระหนักจึงตกอยู่กับบุคคลผู้นี้เอง   ไหนจะต้องตามทวงต้นฉบับ  ไหนจะต้องติดต่อประสานงานกับบุคคลหรือองค์กรต่างๆ เพื่อหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะนำเสนอประจำฉบับนั้นๆ  ไหนจะต้องกำหนดรูปแบบการวางปก   วางภาพประกอบแต่ละหน้า   จัดสรรรูปลักษณ์ของอักษรแต่ละบรรทัดให้ออกมาดูดีที่สุด   ให้ผู้อ่านพอใจมากที่สุด
คุณสุทธิสิทธิ์    ไมตรีจิตร์   ผู้ช่วยบรรณาธิการ   ได้แสดงความรู้สึก “ 5 ปีที่ได้ร่วมสรรค์สร้างวารสารฯ  
        นับแต่วารสารเริ่มปีที่ 6 เป็นต้นมา ผมได้มีโอกาสร่วมเป็นกองบ..วิชาการ อดภูมิใจและศรัทธาทีมที่ผ่านมาไม่ได้ ยอมรับและนับถือจริงๆ ที่ท่านเหล่านั้นร่วมช่วยกันแจ้งเกิดวารสารหมออนามัย และฟูมฟักเลี้ยงดูพอที่จะปล่อยให้คนอื่นๆ ดูแลได้บ้างแล้ว   ฉะนั้นเมื่อได้มีโอกาสร่วมถักทอสายใย สืบสานอุดมการณ์ที่รุ่นบุกเบิกอุตส่าห์ร่วมเหนื่อย ร่วมคิด ร่วมสร้างบรรยากาศแห่งการสืบทอดสิ่งที่มีคุณค่านี้  จนสามารถตั้งตัวได้   จึงสร้างความหนักใจไม่น้อยสำหรับทีมงานปัจจุบัน ซึ่งนำโดยคุณหมออำพล   บ..วิชาการ จะต้องนำพาให้ตลอดรอดฝั่งสมดังเจตนารมณ์ทีมบุกเบิกคาดหวังไว้  ก็สามารถนำพามาได้ ณ ถึงวันนี้ และคงจะช่วยกันพายต่อไป  แม้ว่าในโอกาสข้างหน้าจะต้องเปลี่ยนลูกพายบ้าง นายท้ายบ้าง กัปตันบ้าง  คงไม่ยอมทิ้งเรือแน่นอน เชื่อว่าคนบุกเบิกคงทนไม่ได้ที่จะปล่อยให้เรือล่ม หรือ อับปางเป็นแน่
คุณหมอสุวิทย์  บ..บริหาร  ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ที่กำเนิดวารสารนี้มาได้  ได้เคยให้กำลังใจทีมงานปัจจุบันว่า การเริ่มทำวารสารสักฉบับ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่การทำให้วารสารฉบับนั้นๆ เป็นที่ยอมรับ ติดตลาด และมีความยั่งยืนนั้น ยากกว่ากันหลายเท่า  ดังเราจะเคยเห็นจุลสาร วารสาร นิตยสาร  ที่กำเนิดเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มีให้เห็นอยู่ไม่น้อย  ทีมงานวารสารหมออนามัย เป็นข้าราชการทั้งหมด ทุกคนมีงานประจำ มีภารกิจมากมาย ไม่มีใครที่มารับผิดชอบทำเฉพาะวารสารหมออนามัยเพียงอย่างเดียว  ทุกคนต้องอาศัยเวลาที่เสร็จสิ้นภาระจากงานประจำ วันหยุด มาช่วยกันทำ แล้วก็ผ่านมาด้วยดี 10 ปีเต็ม และถ้าเอาวารสารตั้งแต่เล่มที่ 1 ถึงปัจจุบันมากองเรียงกันก็จะได้วารสารถึง 60 เล่มทีเดียว
บ่อยครั้งเวลาออกไปเก็บข้อมูลในพื้นที่เพื่อมาลงในวารสาร หรือแวะเยี่ยมเยียนเพื่อนหมออนามัยตามรายทาง  เพียงแนะนำตัวเองว่ามาจากวารสารหมออนามัย  ก็ได้รับการต้อนรับขับสู้  เอื้ออาทร ความร่วมมือ ความรู้สึกใกล้ชิดและเป็นมิตรซึ่งกันและกัน  บางครั้งบางแห่งเลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำอย่างอิ่มหมีพีมัน จนถึงเวลาร่ำลากัน บางครั้งยังไม่รู้จักชื่อเสียงเรียงนามกันเลยก็มี….แสดงถึงวารสารหมออนามัยเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรชาวหมออนามัยจริงๆ ผมได้อานิสงส์ใบบุญจากวารสารนี้โดยแท้
       ดีใจ ภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมสรรค์สร้างวารสารหมออนามัยนี้  ในการทำวารสารแต่ละฉบับนั้นจะระลึกเสมอว่า  วารสารนี้มีชีวิตจิตใจ มีจิตวิญญาณ มีอารมณ์ มีความรู้สึก มีปรัชญา มีความคิดแฝงอยู่ และผู้อ่านให้คุณค่าเปรียบเสมือน เพื่อน เป็นเพื่อนทางความรู้ เพื่อนทางความคิด และเป็นเพื่อนร่วมทางไปข้างหน้า
เวลา 10 ปีของวารสาร แม้ว่าไม่ยาวนานอะไรมากนัก อาจจะเป็นเพียงการเริ่มต้นที่มั่นคง เมื่อเทียบกับเวลาที่จะต้องก้าวเดินต่อไปอย่างไม่จบสิ้น จากรุ่นสู่รุ่น จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสามทศวรรษ และก้าวสู่ศตวรรษต่อไป
ซึ่งปัจจุบันนี้  วารสารหมออนามัย มีสำนักงานเป็นของตัวเอง     แต่สำนักงานแห่งนี้ก็ไม่ได้หรูหราใหญ่โตเลย       เป็นเพียงห้องเล็กๆ  เงียบๆ คล้ายๆ กับการมีอยู่ของวารสารหมออนามัย  ที่ไม่บังอาจไปเทียบเคียงกับวารสารหรือหนังสืออื่นๆ  ที่มีความพร้อมทั้งทุนและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ   แต่อย่างไรก็ตาม    แม้จะมีข้อจำกัดดังกล่าว   แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใดเลยสำหรับการสร้างสรรค์งานชิ้นนี้ออกมาให้มีคุณภาพอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา 
              กระนั้น แม้ว่าจะมีสำนักงานเป็นเอกเทศ แต่ส่วนใหญ่แล้ว นักเขียนจะใช้วิธีส่งงานทางเครื่องมือสื่อสารประเภทต่างๆ  เช่น  ทางไปรษณีย์  ทางอินเตอร์เน็ต ทางโทรสาร ฯลฯ มากกว่าจะมานั่งทำงานในสำนักงาน เหตุผลเนื่องจากนักเขียนแต่ละคนมีงานประจำ บางคนทำงานอยู่ต่างจังหวัด ขณะที่บางคนทำงานอยู่ต่างสถาบัน  จึงไม่สะดวกที่จะเข้ามาทำงานในสำนักงาน  เหตุนี้ บุคคลที่อยู่ประจำสำนักงานจึงมีเฉพาะผู้ช่วยบรรณาธิการเท่านั้น ที่คอยติดต่อประสานงาน หากต้องพบเจอก็เป็นคราวที่ต้องประชุมวางรูปแบบ และพบเจอเมื่อมีการปิดต้นฉบับหรือมีตรวจสอบความถูกต้องของต้นฉบับ  ถึงตอนนั้น  ภายในสำนักงานก็เหมือนเป็นงานเลี้ยงย่อยๆ เลยทีเดียว
              ทุกครั้งที่กองบรรณาธิการมาอยู่พร้อมหน้ากัน       ที่สำนักงานแห่งนี้จะอึกทึกเกรียวกราวด้วยเสียงหัวเราะ เสียงพูดคุย บางครั้ง กองบรรณาธิการบางราย ซึ่งมีหน้าที่ประจำอยู่ต่างจังหวัดก็ยังนั่งรถมาร่วมสังสรรค์เฮฮาด้วย   หลายครั้งที่กองบรรณาธิการยกทีมกันไปทำงานนอกสถานที่เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศในการทำงาน   และถือโอกาสไปเยี่ยมเยียนนักอ่านด้วยในคราวเดียวกัน
              ความอบอุ่นที่เกิดขึ้นจากบรรยากาศของการทำงาน   ทำให้หลายคนไม่สามารถถอดใจถอยตัวออกมาจากการร่วมทำงานวารสารเล่มเล็กๆ เล่มนี้ได้   แม้ว่างานประจำจะยุ่งเหยิงสักเพียงใด ก็ยินดีและพร้อมที่จะปลีกเวลามาร่วมทำงาน ที่เป็นเช่นนั้นก็คงเพราะความผูกพัน   ที่เชื่อมร้อยด้วยมิตรภาพ  มี ความสุข และ ความเข้าใจ เป็นฐาน  บางคนเป็นทั้งนักเขียนประจำ   ต้องติดต่อประสานงาน   ทำบทสัมภาษณ์  ตรวจปรู๊ฟ  บางทีก็กลายเป็นพนักงานฝ่ายศิลป์ไปก็มี    หากต้องมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น   งานประชุมสัมมนา  ก็ต้องกลายเป็น  พิธีกร   ผู้ดำเนินรายการ   เป็นพนักงานต้อนรับ   แม้กระทั่งเป็น  พนักงานเสิร์ฟ !
              หากถามว่า   การทำงานที่ไม่ได้มีฐานความคิดเกี่ยวกับผลประโยชน์เรื่องค่าตอบแทนเป็นหลัก  แต่ทำไมกองบรรณาธิการ ถึงได้ทุ่มเวลาร่วมแรงทำงานกันอย่างนี้   เหตุผลเดียวที่ตอบได้ก็คือ ทุกคนต่างมุ่งหวังและตั้งมั่นในฐานความรู้สึกเดียวกันคือ  ความต้องการให้บังเกิดประโยชน์ ทั้งประโยชน์ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม หมายถึง หมออนามัยมีโอกาสที่ดีขึ้น  มีบทบาทที่ชัดเจนขึ้น  มีความรุ่งเรืองก้าวหน้าในชีวิตการงาน ฯลฯ และประโยชน์ที่เกิดขึ้นในทางนามธรรมก็คือ  ความสุขที่ได้รับจากตัวหนังสือ ความรักในการทำหนังสือ   ซึ่งถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กองบรรณาธิการทุกคนยังคงมีกำลังมีแรงใจในการทำงานจนถึงทุกวันนี้

เหน็บหนาวถึงคราวท้อ
              ประมาณ ปีที่แล้ว   คราวนั้น  ภายในกองบรรณาธิการเริ่มมีความรู้สึกตรงกันว่าปฏิกิริยาของคนอ่านเริ่มซาจางลง     ถึงจะมีการเปลี่ยนแปลง มีการปรับปรุงเนื้อหาสาระรวมถึงคอลัมน์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ก็ยังไม่ทราบว่าผู้อ่านมีความพึงพอใจหรือไม่ เพราะไม่เคยได้รับปฏิกิริยาที่พอจะสรุปได้เลยว่าผู้อ่านพึงพอใจมากน้อยแค่ไหน แม้มีการโปรยคำเชิญชวนเพื่อขอคำแนะนำมาตลอดก็ตาม    หรือมีจดหมายหรือไปรษณีย์บัตรเข้ามาเสนอแนะบ้าง    แต่หากเปรียบเทียบกับจำนวนผู้อ่านหรือสมาชิกที่มีอยู่ทั่วประเทศแล้ว   ก็นับว่าเป็นปฏิกิริยาที่น้อยจำนวนนัก  ด้วยเหตุนี้    กองบรรณาธิการจึงได้คิดวิธีการเพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้อ่านอย่างจริงๆ จังๆ  คล้ายกับเป็นโครงการย่อยๆ  ด้วยรูปแบบของการ โยนหินถามทาง  โดยมีการตั้งประเด็นที่เหมือนกับการถามถึงการดำรงอยู่ของวารสารว่า จะอยู่หรือจะไป ?”      ซึ่งวัตถุประสงค์ที่แท้จริงนั้นคือ ต้องการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบตลอดจนเนื้อหาของวารสารที่ตรงใจและตรงตามความต้องการของผู้อ่านหรือสมาชิกมากที่สุด   เจตนานอกจากนั้นคือ  ต้องการประเมินคณะผู้จัดทำด้วยว่า   มีความสามารถในการตอบสนองความต้องการของผู้อ่าน สามารถเป็นผู้ส่งสารได้ดี มีคุณภาพเพียงใดด้วย    ปรากฏว่า วิธีการในครั้งนั้นได้ผล   เพราะหลังจากที่วารสารหมออนามัยประจำปีที่ 7 ฉบับที่ 6 (ซึ่งเป็นฉบับที่ได้โยนหินถามทางออกไป) ได้กระจายไปถึงมือผู้อ่านทั่วประเทศแล้ว  ก็มีจดหมายและไปรษณียบัตรที่ส่งเข้ามาเพื่อแสดงความคิดเห็นจำนวนมากมายกว่า 500 ฉบับ          ซึ่งครอบคลุมทุกภาคของประเทศไทย   โดยผู้อ่านทุกคนยังต้องการให้วารสารหมออนามัยคงอยู่ ไม่อยากให้ล้มเลิก  ซึ่งเหตุผลของบางรายทำเอากองบรรณาธิการซาบซึ้ง   เช่น   จดหมายที่ส่งมาจาก สถานีอนามัยบ้านหัวนา  จังหวัดหนองบัวลำภู  ที่เขียนมาว่า
                เมื่อเวลาใดที่เรามีปัญหาพ่ายแพ้      เหนื่อยอ่อนล้ากับงานที่ทำอยู่   ไม่มีทางใดที่จะช่วย   หากเพียงแต่ได้หยิบวารสารหมออนามัยขึ้นมาอ่าน เราจะได้รับรู้ว่ายังมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์กับเรา   รู้ว่าเขากำลังต่อสู้อยู่เหมือนกันกับเรา   เราจะได้มีกำลังใจในการต่อสู้ได้ต่อไป
ผลสืบเนื่องจากข้อมูลที่ได้รับในครั้งนั้น    ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่มีความหมายและมีความสำคัญมาก      เพราะได้ช่วยให้คณะผู้จัดทำมีกำลังใจและสามารถมองเห็นทิศทางที่จะขับเคลื่อนวิถีของวารสารเล่มเล็กๆ เล่มนี้ได้อย่างชัดเจนมากขึ้นว่าควรจะนำเสนอสารและสาระในรูปแบบใด สำหรับปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นนั้นถือได้ว่าช่วยสร้างความรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจให้   แม้ว่าจะนับได้เพียงน้อยนิดหากเปรียบกับวารสารมีชื่อตามแผงหนังสือ   รวมถึงความมุ่งมาดปรารถนาดีที่มีต่อนักเขียนทีมงาน ซึ่งไร้ตัวตนหากเปรียบกับมืออาชีพในสังคมคนหนังสือหรือวรรณกรรมที่มีชื่อเสียง   ทว่าความงดงามที่ได้รับคงตีค่าเป็นราคาไม่ได้   นอกเหนือจากความเต็มตื้นในความรู้สึกเท่านั้น
ถางทางสู่สาธารณะ
              เพื่อต้องการให้ วารสารหมออนามัย เป็นวารสารของหมออนามัยและชาวหมออนามัยได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง   เหตุนี้   ทางกองบรรณาธิการวารสารจึงได้ดำเนินการจัดประชุมสัมมนาขึ้นมาเพื่อให้เกิดกลุ่มและสร้างแนวร่วมในการขับเคลื่อนวารสารให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เหตุนี้การประชุมสัมมนาในครั้งแรกๆ จึงเป็นการสร้างกลุ่มผู้ประสานงานข่าววารสาร    โดยจัดขึ้นภายใต้ชื่อ เวทีผู้ประสานงานข่าววารสารหมออนามัย      เพื่อให้ผู้ประสานงานข่าวได้ช่วยส่งข่าวหรือเล่าเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์และความเป็นไป ตลอดจนบุคคลในเขตพื้นที่ของตนเองและพื้นที่ใกล้เคียง  ผลจากการจัดประชุมสัมมนาทั้งสองครั้ง ครั้งแรกจัดเมื่อเดือนพฤศจิกายน  2535 และครั้งที่สองจัดเมื่อต้นเดือนกันยายน 2538 ทำให้ได้ผู้ประสานงานข่าววารสารจำนวนทั้งสิ้นเกือบ 200 ชีวิต   ซึ่งปัจจุบันผู้ประสานงานข่าวบางคนก็ยังคงทำหน้าที่อย่างขันแข็ง ยังขยันส่งข่าวและเล่าเรื่องมาตลอดไม่ได้ขาด เช่น
คุณไพฑูรย์     วงษ์ขจรเลิศเมธา   (นักวิชาการสาธารณสุข สอ. บ้านสถิต  ต. สทิงหม้อ อ. สิงหนคร จ. สงขลา)   ผู้ประสานงานข่าว รุ่นแรก  ได้กล่าวถึงวาระ 10 ปีของวารสาร
“…ผมว่า วารสารมันก็เหมือนกับช่วงชีวิตของคนเรา  ที่มีทั้งช่วงรุ่งเรือง เฟื่องฟูและช่วงตกต่ำ   ช่วงแรกๆ ผมจึงไม่คิดว่าวารสารหมออนามัยจะดำรงอยู่ได้นาน  เหตุผลเพราะต้องฝ่าฟันกับสิ่งต่างๆ มากมาย         ทั้งเรื่องงบประมาณหรือต้นฉบับที่จะนำลงตีพิมพ์ในวารสารแต่ละฉบับ  ไหนจะเรื่องความคิดต่าง  อุปสรรคของการประสานงาน การขวางทางผู้ใหญ่ ฯลฯ แต่ระยะเวลา 10 ปีที่เห็น   นั่นคือ  ข้อพิสูจน์’  แล้วครับ…”
ขณะที่  คุณวิโรจน์   มุมานะจิตต์         (เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน สสอ. บ้านบึง อ. บ้านบึง จ. ชลบุรี)   ผู้ประสานงานข่าว รุ่นที่สอง  ได้แสดงความรู้สึกว่า
“… ผมคิดว่าการได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยทำงานให้กับวารสาร เป็นการทำประโยชน์ในส่วนที่จะสามารถทำได้  แต่การทำงานลักษณะนี้นั้น ต้องมีความเสียสละและอย่าคำนึงถึงสิ่งตอบแทน อีกอย่างหนึ่งคือ จะต้องทำด้วยใจรัก  ผมอยากเชิญชวนให้พี่น้องหมออนามัยเข้ามามีส่วนร่วมกันมากๆ เพื่อให้วารสารเล่มนี้เป็นของพวกเรา เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์  และสะท้อนความต้องการของพวกเราได้อย่างแท้จริง… ”
กลุ่มหมออนามัยนักเขียน  ก็ถือเป็นกลุ่มสำคัญที่ช่วยให้วารสารหมออนามัยมีความชัดเจนในส่วนของการมีส่วนร่วมโดยตัวหมออนามัยแท้ๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  วารสารทุกๆ ฉบับต้องมีผลงานของหมออนามัยจากพื้นที่ต่างๆ ลงตีพิมพ์  อาจจะเป็นในรูปของ บทความ  จดหมาย เรื่องสั้น บทกวี  ฯลฯ ทั้งที่เป็นวิชาการและปกิณกะ   หลายครั้งที่การพิจารณาเลือกเรื่องตีพิมพ์ ทางกองบรรณาธิการไม่ได้พิจารณาตามเกณฑ์หรือกฎกติกาสากล         แต่พิจารณาจากความตั้งใจและความพยายามของผู้ที่เขียนส่งมาเป็นหลักมากกว่า  หลายๆ ครั้งที่ กลอนหก กลอนแปดได้กลายเป็น กลอนประตู”  บางทีที่ บทกวีก็กระโดดไปมา หาสัมผัสไม่เจอ   หลายคราวที่บทความหรือเรื่องสั้น   สื่อสารไม่ชัดเจน ฯลฯ  ด้วยเหตุนี้   กองบรรณาธิการจึงได้ริเริ่มโครงการสัมมนาเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ หมออนามัยนัก (อยาก) เขียน ขึ้น       โดยจัดเป็นเวทีสัมมนาเครือข่ายนักเขียน  ใช้ชื่อว่า เครือข่ายปลายปากกา  มีการเชิญนักเขียนหมออนามัยจากท้องที่ต่างๆ ทั่วประเทศมาร่วมสัมมนา           และได้นักเขียนที่มีชื่อเสียงหลายๆ คน มาเป็นวิทยากร   สำหรับโครงการดังกล่าวได้จัดขึ้น 2 ครั้ง  ครั้งแรกจัดเมื่อเดือนมิถุนายน  2543 จำนวน 24 คนและครั้งล่าสุดจัดเมื่อปลายเดือนมีนาคม  2544  ที่ผ่านมา จำนวน 27 คน  ทางกองบรรณาธิการหวังใจไว้ว่า  หากไม่มีอุปสรรคใดๆ     ก็จะมีการจัดโครงการนี้ทุกๆ ปี   ไม่แน่ว่าผู้ที่กำลังอ่านวารสารอยู่ขณะนี้    อาจจะเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับการเชื้อเชิญเข้าร่วมสัมมนาในครั้งต่อๆ ไปก็เป็นได้ 
              ในส่วนของนโยบายระดับชาติ  วารสารหมออนามัยก็ได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อรองรับนโยบายการกระจายอำนาจ   โดยร่วมกับสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ(สปรส.) จัดเวทีประชุมสัมมนา เครือข่ายหมออนามัยกับการกระจายอำนาจ ขึ้น  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการกระจายอำนาจให้เกิดขึ้นในกลุ่มหมออนามัยและกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวเพื่อสร้างองค์ภาคีสำหรับการประสานเครือข่ายหมออนามัยทั่วประเทศ  โดยจัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2543 การจัดประชุมสัมมนาครั้งนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ได้ระดับหนึ่ง เพราะเกิดการขานรับ มีการขยายเครือข่ายขึ้นในกลุ่มหมออนามัยบางพื้นที่
              นอกเหนือจากนี้   ทางกองบรรณาธิการยังได้มีโอกาสเข้าไปร่วมกิจกรรมเล็กๆ กับกลุ่มอื่นๆ ในสังคม    โดยเข้าไปร่วมเปิดตัววารสารและหนังสือในโครงการให้แก่สาธารณชนได้รับรู้เมื่อคราว  เทศกาลหนังสือทำมือ ซึ่งจัดขึ้นที่บริเวณป้อมพระสุเมรุ ถนนพระอาทิตย์  ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา  กรุงเทพมหานคร   ราวๆ ปลายเดือนมกราคม พ.. 2544  ที่ผ่านมา  ครั้งนั้น  วารสารหมออนามัยได้รับความสนใจพอสมควร        เพราะมีนักอ่านเข้ามาพูดคุยซักถามรวมทั้งได้อุดหนุนหนังสือในโครงการด้วยจำนวนหนึ่ง

ย่างหนาวก้าวที่สิบเอ็ด
              ใครที่เป็น แฟนพันธุ์แท้ ของ วารสารหมออนามัย คงพบว่า      ข้อมูลบางอย่างของวารสารในฉบับหน้าจะเปลี่ยนไปจากเดิม  ที่ชัดเจนที่สุดคือ จำนวนปีที่เพิ่ม   จำนวนฉบับที่เพิ่มขึ้น  ซึ่งถือเป็นวัฏจักรตามกฎเหล็กของธรรมชาติแท้ๆ ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลง  แต่สิ่งนั้นก็ไม่ได้บ่งบอกว่าแรงใจในการทำงานของคณะทำงานจะเปลี่ยนตาม ตราบใดที่วารสารเล่มนี้ยังได้รับการต้อนรับ ยังได้รับความสนใจจากผู้อ่าน ตราบนั้นคณะทำงานยังไม่ยอมอ่อนล้าง่ายๆ ยังพร้อมที่จะผลิตงานดีๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ยังพร้อมที่จะเป็นเพื่อนผู้รู้ใจข้างกายหมออนามัยทั่วประเทศ  พร้อมที่จะเป็นร่มไม้ให้ผู้อ่านได้เอนกายพัก ให้ร่มเงาที่เป็นความคิดผ่านตัวอักษร  ด้วยปณิธานการทำงานที่ชัดเจนคือ  เสริมคุณค่าแห่งการเรียนรู้   เคียงคู่หมออนามัย”  ด้วยวิธีการนำเสนอแบบไม่ทอดทิ้งสาระ  แต่ก็ไม่ละเลยความบันเทิง
              10 ปีที่ผ่านมา   หากเปรียบกับการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต  ย่อมผ่านความหนาวเย็นมาไม่น้อยเลย   ย่อมรู้ว่าบางครั้งความหนาว แม้เพียงมีผ้าห่มคลุมกายสักผืนก็คลายหนาวได้แล้ว  แต่บางคราวภาวะหนาวหนักฝังลึกลงในกาย   ห่มผ้าสักร้อยผืนก็คลายหนาวไม่ได้       หลายครั้งที่วารสารเล่มนี้รู้สึกหนาว  หลายคราวก็ถอดใจท้อถึงขนาดคิดว่าจะล้มเลิก   แต่คงเป็นเพราะ  กำลังใจ จากผู้อ่านนั่นทีเดียว   ที่ยังช่วยให้มีการถักทอความฝันได้ต่อไป  เปรียบดังฤดูกาลที่หมุนวน   เมื่อมีหนาวก็ย่อมมีร้อน มีฝน ถึงจะกลับมาหนาวอีกคราว   และคงพร้อมจะสู้ลมหนาวไปได้เรื่อยๆ ตราบใดที่รู้ว่ายังมี  ผ้าห่มช่วยคลายหนาวอยู่ข้างกาย!       
 วารสารหมออนามัยฉบับสุดท้าย
“...เมื่อ 20 ปีก่อน...เราจึงร่วมกันจัดทำ ‘วารสารหมออนามัยขึ้น....ถึงวันนี้ เราพิจารณาแล้วเห็นตรงกันว่า เราควรยุติการจัดทำวารสารหมออนามัยลง อันเนื่องมาจากความอ่อนล้า และภารกิจที่เรามีมาก ประกอบกับสถานการณ์การทำงานสาธารณสุขในชนบทเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก วารสารหมออนามัยเริ่มไม่สอดคล้องกับบริบทสังคมของสังคมเท่าในอดีต...เราจึงตัดสินใจร่วมกันที่จะยุติการจัดทำวารสารหมออนามัย โดยทำฉบับนี้เป็น ‘ฉบับสุดท้าย’...(น.พ.อำพล  จินดาวัฒนะ, คุยกับหมออนามัย, วารสารหมออนามัยปีที่ 21 ฉบับที่ พฤศจิกายน –ธันวาคม 2554)
 “...แม้ว่า วารสารหมออนามัย กำลังจะกลายเป็นอดีต แต่อนาคตของหมออนามัยจะรุ่งโรจน์ ความดีต้องชนะความชั่ว หมออนามัยได้ประกอบคุณงามความดีไว้แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างน่าสรรเสริญ...ขอให้หมออนามัยจงเจริญงอกงาม ด้วยความดี ความรู้ และงาน งานเพื่อเพื่อนมนุษย์ ดังที่พูด ‘หมออนามัยหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์’” ...(น.พ.ประเวศ วะสี, บอกเล่าเก้าสิบ, วารสารหมออนามัยปีที่ 21 ฉบับที่ พฤศจิกายน –ธันวาคม 2554)
 “...ในวันที่ทราบแน่ชัดว่า วารสารหมออนามัย ซึ่งมีอายุยืนยาวก้าวมาถึง 20 ปี แล้วนั้น ถึงวันที่ปิดฉากลงแน่นอน ในฐานะหมออนามัยคนหนึ่งและมีโอกาสช่วยงานวารสาร แม้เพียงน้อยนิด เป็นธรรมดาที่ย่อมเกิดความรู้สึกต่าง ๆ มากมาย ทั้งมุมดีและมุมร้าย ทั้งตกใจ เสียใจ โกธรเคืองระคนกัน  แต่ในวันที่เขียนบทความนี้ เป็นช่วงเวลาที่คลี่คลายลงมากแล้ว ที่บอกว่าคลี่คลายนั้น ไม่ใช่เหตุการณ์ แต่เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ...ท้ายสุดที่ไม่อาจซ่อนไว้ คือ ความฝัน (ที่อาจมากเกินไป)  ว่าบทความนี้จะทำหน้าที่เป็น...จุดเชื่อม...ขงการเปลี่ยนผ่าน จากวารสารหมออนามัยไปสู่สื่อหรือสิ่งอื่นที่ทดแทนกัน ในรูปแบบที่เหมาะสมกับยุคสมัย  โดยที่ไม่ละทิ้งจิตวิญญาณของหมออนามัย...และหากฝันเป็นจริง ของขวัญชื้นสุดท้าย ก็อาจกลายเป็น จุดเริ่มต้นใหม่ ที่หลายคนอยากเห็น อย่างน้อยก็ตัวผู้เขียนเอง (...ส.ปัณรสี,สกู๊ปพิเศษ : ของขวัญชิ้นสุดท้าย, วารสารหมออนามัยปีที่ 21 ฉบับที่ 3 พฤศจิกายน –ธันวาคม 2554)
..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/474818

บทอำลาวารสารหมออนามัย  เพิ่มเติมได้ที่

กองบรรณาธิการวารสารหมออนามัย 
หมายเหตุ : รายชื่อผู้เข้า ประชุมเพื่อพัฒนากลไกการสื่อสารเครือข่ายหมออนามัย
สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชน
วันที่ 22-23 เมษายน 2558 ณ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
1 นายวันชัย บ่อเงิน           รพ.สต.บ้านศรีนคร อ.ธารโต จ.ยะลา
2 นายสฤษดิ์ ผาอาจ          คณะสาธารณสุขศาสตร์ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร (วสส.) ยะลา
3 นางสุขุมมา นิลรัตน์        สสจ.นราธิวาส
4 นายริชกี สาเระ              สสอ.ธารโต จ.ยะลา 
5 นายธีระพงษ์ ธรรมโชติ    รพ.สต.บ้านต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา
6 นายชัยวัฒน์ ภู่ทอง         สสอ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี
7 นายยุทธศาสตร์ สารธิมา สสจ.อำนาจเจริญ
8 นายทรนง ศรีมันตระ      สสอ.เลิงนกทา จ.ยโสธร
9 นายพันธุ์ทอง จันทร์สว่าง สสอ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร
10 นายพีระพล เหนือเกาะหวาย รพสต.กลางใหญ่ ต.กลางใหญ่ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี
11 นายเสถียร ปวงสุข        สสอ.ดอนมดแดง จ.อุบลราชธานี
12 นางจงกลนี นวลทา       สสอ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี
13 นายปรีดา ข้าวบ่อ         บรรณาธิการวารสาร ทางอิศาน
14 นางสาวปรารถนา รัตนสิทธิ์         นักวิชาการอิสระ
15 นายทวี ดีละ                รพ.สต.โคกสูง อ.ปลาปาก จ.นครพนม
16 นายสมชาติ ทองหิน      สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 10 อุบลราชธานี
17 นายบุญเรือง ขาวนวล    คณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยทักษิณ
18 นางพรรณี ชวนนอก      สสอ.บ้านใหม่ไชยพจน์ จ.บุรีรัมย์
19 นางสาวศิริรัตน์ เพียขันทา รพ.สต.ดอนอะราง อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์
20 ผศ.ดร.สงครามชัย ลีทองดี คณะบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
21 นางสาวกนกวรรณ ปั่นสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
22 นายปริญญา ระลึก        สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
23วันเพ็ญ เถาว์ทุมมา รพสต.ศรีมงคล ต.โนนกาเล็น อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี










No comments:

Post a Comment