7/12/09

แผน ปิ้ด ปี้ ปิ๊ด ป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ ชนิด A (H1N1)



วันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ภาคบ่ายประชุมการป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ ชนิด A (H1N1) หัวหน้างาน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอคำเขื่อนแก้ว หัวหน้าสถานีอนามัย และ เจ้าหน้าที่ประจำสถานีอนามัย ทุกแห่งในสังกัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอคำเขื่อนแก้ว วิทยากรโดย นพ.จักราวุธ จุฑาสงฆ์ ผู้อำนวยการรพ.คำเขื่อนแก้ว และ นายวิทยา เพชรรัตน์ สาธารณสุขอำเภอคำเขื่อนแก้ว ซึ่ง นพ.จักราวุธ จุฑาสงฆ์ ผู้อำนวยการรพ.คำเขื่อนแก้ว ได้ให้ความรู้ที่เข้าใจง่ายๆว่า ไข้หวัดใหญ่ วินิจฉัยง่ายๆคือ ไข้ หวัด และ ใหญ่ ไข้ คือ ไข้ 38.5 ขึ้นไป หวัด คือ เป็น หวัดมีน้ำมูกไหล ใหญ่ คือ ไอ เจ็บคอ ส่วน ที่จะเข้าข่าย ว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือไม่ ต้องดู ที่องค์ประกอบอื่นๆเพิ่มเติม ที่สัมคัญคือ ประวัติการเดินทางไปหรือมาจากพื้นที่เสี่ยง เช่นจังหวัดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว กรุงเทพ การเดินทางโดยรถยนต์ปรับอากาศ ในขบวนที่มีผู้ป่วย และการสัมผัสโรค เป็นต้น
...ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009คืออะไร การวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 การป้องกันไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009การควบคุมไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 ...
ส่วน นายวิทยา เพชรรัตน์ สาธารณสุขอำเภอคำเขื่อนแก้ว ได้ให้นโยบาย กับเจ้าหน้าที่ทุกคน ตาม
คำแนะนำกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ(เอช1เอ็น1)
ฉบับที่ 8 วันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ดังนี้
--------------------------
ปัจจุบันการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ(เอช1เอ็น 1) ได้แผ่ขยายไปอย่างรวดเร็ว โดยโรคมีความรุนแรงปานกลาง ประเทศไทยส่วนใหญ่พบในกรุงเทพฯและปริมณฑล และมีรายงานมากกว่า 60 จังหวัดแล้ว ขณะนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน นักศึกษา รองมาเป็นคนวัยทำงาน

คำแนะนำทั่วไป
ประชาชนทุกคนควรมีความรู้ความเข้าใจโรคที่ถูกต้อง ไม่ตื่นตระหนก รู้วิธีการป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ โดยการติดตามข้อมูลคำแนะนำต่างๆ จากกระทรวงสาธารณสุข รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารมีประโยชน์ ผัก ผลไม้ ไข่ นม นอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง หมั่นล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และฝึกนิสัยไม่ใช้มือแคะจมูก ขยี้ตา หรือจับต้องใบหน้า ถ้าจำเป็นควรใช้กระดาทิชชูจะปลอดภัยกว่า ดูแลตนเองหรือคนในครอบครัวที่ป่วยได้ และป้องกันไม่แพร่เชื้อให้คนรอบข้าง โดยการหยุดเรียน หยุดงาน ปิดปากจูกเวลาไอจามด้วยกระดาษทิชชู สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่กับผู้อื่น และหมั่นล้างมือบ่อยๆ ซึ่งจะช่วยควบคุมไม่ให้เกิดการระบาด และลดผลกระทบด้านต่างๆ ได้มากที่สุด
ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จะมีอาการป่วยใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่เกิดขึ้นทุกปี คือมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล เบื่ออาหาร บางรายอาจมีอาเจียน ท้องเสียร่วมด้วย มีรายงานอาการสมองอักเสบ 4-5 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (95%) จะมีอาการทุเลาขึ้นตามลำดับ คือ ไข้ลดลง ไอน้อยลง รับประทานอาหารได้มากขึ้น และหายป่วยภายใน 5-7 วัน จึงไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
ผู้ป่วยน้อยราย (5%) ที่มีอาการป่วยรุนแรงซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต คือ ไข้ไม่ลดลงภายใน 3 วัน ซึมหรืออ่อนเพลียมาก รับประทานอาหารไม่ได้ ไอมากจนเจ็บหน้าอก เกิดปอดบวม (หายใจถี่ หอบ เหนื่อย) นั้นพบว่า ส่วนใหญ่ (70%) เป็นกลุ่มผู้ที่มีภาวะเสี่ยง เช่น มีโรคประจำตัวเรื้อรัง (โรคปอด หอบหืด โรคหัวใจ โรคเลือด ไต เบาหวาน ฯลฯ) ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ (โรคมะเร็ง ฯลฯ) โรคอ้วน ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี หญิงมีครรภ์ อย่างไรก็ตาม มีส่วนหนึ่ง (30%) ที่มีอาการรุนแรงแต่ไม่สามารถสอบสวนหาภาวะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงและผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จึงต้องรีบไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ทันที

การดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงที่บ้าน
หากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง เช่น ไข้ไม่สูงมาก ตัวไม่ร้อนจัด ไม่ซึมหรืออ่อนเพลียมาก และพอรับประทานอาหารได้ สามารถดูแลรักษาตัวที่บ้านได้ โดยปฏิบัติดังนี้
• ผู้ป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน และพักอยู่กับบ้านหรือหอพัก ไม่ออกไปนอกบ้านเป็นเวลาอย่างน้อย 7 วันหลังวันเริ่มป่วย หรือหลังจากหายเป็นปกติแล้วอย่างน้อย 1 วัน เพื่อให้พ้นระยะการแพร่เชื้อ
• แจ้งสถานศึกษาหรือที่ทำงานทราบ เพื่อจะได้เฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และป้องกันควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงที
• ให้ผู้ป่วยรับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซทามอล (ห้ามใช้ยาแอสไพริน) และยารักษาตามอาการ เช่น ยาละลายเสมหะ ยาลดน้ำมูก ตามคำแนะนำของเภสัชกร หรือสถานบริการทางการแพทย์ หรือคำสั่งของแพทย์
• ไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ ยกเว้นพบเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ต้องรับประทานทานยาให้หมดตามที่แพทย์สั่ง
• เช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำสะอาดอุ่นเล็กน้อยเป็นระยะ โดยการเช็ดแขนขาย้อนเข้าหาลำตัว เน้นการเช็ดลดไข้บริเวณหน้าผาก ซอกรักแร้ ขาหนีบ ข้อพับแขนขา และใช้ผ้าห่มปิดหน้าอกระหว่างเช็ดแขนขา เพื่อไม่ให้หนาวเย็นจนเสี่ยงเกิดปอดบวม หากผู้ป่วยมีอาการหนาวสั่น ต้องหยุดเช็ดตัว และห่มผ้าให้อบอุ่น
• ดื่มน้ำสะอาดและน้ำผลไม้มากๆ งดดื่มน้ำเย็นจัด
• พยายามรับประทานอาหารอ่อน ๆ รสไม่จัด เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก และผลไม้ให้พอเพียง
• นอนพักผ่อนมากๆ ในห้องที่อากาศไม่เย็นเกินไป และมีอากาศถ่ายเทสะดวก
• หากอาการป่วยรุนแรงขึ้น เช่น ไข้ไม่ลดลงภายใน 3 วัน ซึมหรืออ่อนเพลียมาก รับประทานอาหารไม่ได้ ไอมากจนเจ็บหน้าอก เกิดปอดบวม (หายใจถี่ หอบ เหนื่อย) ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที

การแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นๆ ในบ้าน
• ผู้ป่วยควรนอนแยกห้อง ไม่ออกไปนอกห้องจนกว่าจะหายเป็นปกติแล้วอย่างน้อย 1 วัน เพื่อให้พ้นระยะการแพร่เชื้อ
• รับประทานอาหารแยกจากผู้อื่น หากอาการทุเลาแล้ว อาจรับประทานอาหารร่วมกันได้ แต่ใช้ช้อนกลางทุกครั้ง
• ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ร่วมกับผู้อื่น
• ปิดปากจมูก เวลาไอ จาม ด้วยกระดาษทิชชู แล้วทิ้งทิชชูลงในถังขยะ และทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำและสบู่หรือบ่อยๆ
• ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นด้วยการสวมหน้ากากอนามัย
• ผู้ดูแลผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย
• คนอื่น ๆ ควรอยู่ไกลจากผู้ป่วยประมาณ 1-2 เมตร หรืออย่างน้อยประมาณหนึ่งช่วงแขน

การปฏิบัติ ของ อสม. อำเภอคำเขื่อนแก้ว เพื่อป้องกันและควบคุมโรคนี้ คือ ชื่อแผนปฏิบัติการ เป่านกหวีด ปิ้ด ปี้ ปิ๊ด 123
1 คือ อสม. สามารถรายงาน Case ที่น่าสงสัย ให้กับ จนท.สถานีอนามัย ภายใน 1 วัน
2 คือ อสม. ทุกคน จะต้องมี อุปกรณ์ ประจำกาย 2 อย่างคือ ปรอท วัดไข้และ หน้ากากอนามัย
3 คือ อสม. ทุกคน ต้องเชี่ยวชาญ 3 ด้าน คือ การวัดปรอทวัดไข้ การใส่หน้ากากอนามัย ที่ถูกวิธี และการล้างมือ 7 ขั้นตอน อย่างถูกวิธี

No comments:

Post a Comment