5/8/10

ข่าวดีประเทศไทย โรดแมปถ ข้อ ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


3 พค. 2553 ข่าวดีประเทศไทยคืนวันนี้ เวลา 21.15 น. ณ ศาลากิตติสุข กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ดังนี้
พี่ น้องประชาชนที่เคารพรักครับ เมื่อวานนี้ในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยฯ นั้น ผมได้พูดถึงการแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นปัญหาอยู่กับบ้านเมืองของเราในปัจจุบัน โดยได้เน้นย้ำครับ ว่าสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ไขนั้นทำไปในสองด้านคู่ขนานกันไป ด้านหนึ่งก็เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และด้านหนึ่งก็คือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ในส่วนของการแก้ไขปัญหาที่เป็นสถานการณ์ด้านความมั่นคงนั้น วันนี้ทางศอฉ. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้มีการแถลงข่าวรายงานให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบถึงความคืบหน้าในการทำ งานอีกหลายเรื่อง เช่น การเร่งรัดสอบสวนขยายผลคดีที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย การก่อวินาศกรรม รวมไปถึงการที่สามารถตรวจค้นและยึดอาวุธสงครามได้อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งงานทางด้านความมั่นคง งานทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีความ คดีอาญาต่าง ๆ นั้นก็จะต้องมีการดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง แต่ในแง่ของการเมืองนั้น ผมได้เรียนกับพี่น้องประชาชนครับว่า จะได้ให้คำตอบทางการเมือง หรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาในทางการเมืองโดยเร็ววัน คืนนี้ผมคิดว่าเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมครับ ที่เราจะมาพูดกันถึงแนวทางของรัฐบาลในการที่จะคลี่คลายสถานการณ์ ในแง่ของปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง

ผมขอเรียน อย่างนี้ครับว่า ความขัดแย้งทางการ เมืองที่เกิดขึ้นมีหลายสาเหตุครับ เป็นการสะสมปัญหามาเป็นระยะเวลาหลายปี บางเรื่องก็เป็นเรื่องการเมืองโดยตรง บางเรื่องก็เป็นปัญหาในเรื่องเศรษฐกิจ ในเรื่องสังคม ในเรื่องกฎหมาย และเรื่องอื่น ๆ ที่สะสมมาทั้งหมดก็ทำให้ความขัดแย้งนั้นทำให้เกิดความแตกแยก ร้าวลึก และรุนแรงมากขึ้นโดยลำดับ คำตอบทางการเมืองที่ผมอยากจะนำเสนอกับพี่น้องประชาชนในวันนี้ และขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม เข้ามาช่วยกันแก้ไขให้กับบ้านเมือง ก็คือการที่จะสร้างกระบวนการการปรองดองขึ้นมา กระบวนการนี้ผมได้สดับตรับฟังจากพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาคประชาชน ประชาสังคมต่าง ๆ รวมไปถึงการสดับตรับฟังจากพี่น้องประชาชนคนธรรมดา ที่ได้ถ่ายทอดปัญหาความเดือดร้อน ที่อาจจะเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งในสังคมปัจจุบันอย่างครบถ้วน กระบวน การปรองดองที่ว่านั้นจะประกอบไปด้วย 5 องค์ประกอบสำคัญ ที่ผมคิดว่าถ้าวันนี้พี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือกับรัฐบาล จะทำให้บ้านเมืองของเรานั้นสามารถกลับสู่ความสงบสุขได้อย่างแท้จริง
ข้อแรกครับ ผมคิดว่าประเทศไทยของเราโชคดีที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่หลอม รวมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งชาติ น่าเสียดายว่าในระยะหลัง มีคนจำนวนหนึ่งทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นถูกดึงลงมาสู่ความขัดแย้งทาง การเมือง ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการที่มีกลุ่มบุคคลที่ได้ละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือกระทำความผิดต่อความมั่นคง โดยมุ่งไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือมีความพยายามในการที่จะดึงสถาบันลงมาสู่ความขัดแย้งในทางการเมือง ผมคิดว่าการที่เราจะทำให้สังคมไทยมีความเป็นปกติสุขได้นั้น พวกเราทุกคนมีภาระหน้าที่ที่จะช่วยกันครับ ไม่ให้สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นถูกดึงลงมาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่เกิด ขึ้นในปัจจุบัน แผนหรือกระบวนการ ของการปรองดองนั้น ก็คือทุกฝ่ายจะต้องมาร่วมกันทำงานครับ ร่วมกันทำงานเพื่อที่จะเทิดทูนเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ได้ทรงอุทิศพระวรกาย และเวลาแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน และพระราชทานแนวพระราชดำริที่ทรงคุณค่ายิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรู้ รัก สามัคคี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ปรัชญาของความพอเพียง ผมอยากเชิญชวนทุกฝ่ายครับ มาช่วยกันทำความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ มาช่วยกันดูแลมิให้มีสื่อใดจาบจ้วง หรือละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ช่วยกันทำงานทุกฝ่าย เพื่อไม่ให้เรื่องนี้ถูกดึงเข้ามาสู่ประเด็นของความขัดแย้งทางการเมือง
องค์ประกอบที่ 2 หรือข้อที่ 2 ของกระบวนการของการปรองดองนั้น ผมถือว่าเป็นหัวใจของสิ่งที่มีการพูดกันในขณะนี้ ว่าจะเป็นการปฏิรูปประเทศ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรานั้น อาจจะถูกมองว่าเป็นเรื่องการเมือง แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วก็มีรากฐานมาจากความไม่เป็นธรรมที่มีอยู่ในสังคม ที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจของเรา พี่น้องประชาชนทั้งที่มาชุมนุมและไม่มาชุมนุมครับ ได้สัมผัสถึงความไม่เป็นธรรมในชีวิตของพวกเราแต่ละคน ไม่มากก็น้อย แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายคนที่มาร่วมชุมนุมนั้น มีเงื่อนไขของความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม มีความรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง มีความรู้สึกว่าไม่ได้รับโอกาส หลายครั้งอาจจะมีความรู้สึกด้วยซ้ำว่า ถูกรังแกจากผู้ที่มีอำนาจ ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเราปล่อยให้เกิดความรู้สึกอย่างนี้ เงื่อนไขเหล่านี้ครับจะถูกดึงเข้ามา และสามารถสร้างความขัดแย้ง ไม่ใช่เฉพาะในทางการเมือง แต่เป็นความขัดแย้งในทางสังคมได้อย่างกว้างขวาง สิ่งที่เราจะต้องช่วยกันทำครับ ก็คือไม่ปล่อยให้การแก้ไขปัญหานี้เหมือนกับในอดีต ที่แต่ละรัฐบาลก็อาจจะมีนโยบายในแต่ละยุคแต่ละสมัย พยายามแก้ไขปัญหาตรงนั้นตรงนี้ไป แต่ในที่สุดก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมอย่างเป็นระบบทั้งโครง สร้าง ถึงเวลาแล้ววันนี้ ที่พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนจะได้รับการดูแลด้วยระบบสวัสดิการที่ดี และมีโอกาสเท่าเทียมกัน จะเรื่องการศึกษา จะเรื่องการสาธารณสุข จะเรื่องของการมีอาชีพ มีรายได้ มีความมั่นคงในชีวิต รวมไปถึงการที่พี่น้องประชาชนที่มีความทุกข์ร้อนเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไม่มีที่ทำกิน คนที่มีหนี้สินท่วมตัว หรือคนที่มีความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสในทางใดทางหนึ่งนั้น จะต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบ กระบวนการปรองดองหรือการปฏิรูปประเทศที่มีการพูดกันในขณะนี้ จะมีการดึงเอาทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามาดำเนินการในการที่จะแก้ไขปัญหานี้ โดยมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมอย่างเป็นระบบ ทั้งในเรื่องสวัสดิการ ทั้งในเรื่องโอกาส และมีเป้าหมายที่ชัดเจนครับว่า จะสามารถยกระดับรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน สร้างโอกาสให้กับพี่น้องประชาชนที่สามารถประเมินผลได้ และเป็นเรื่องที่จะต้องให้ทุกรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นใคร ในยุคใด ต้องเข้ามาดำเนินการเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างชัดเจน นี่เป็นส่วนที่ 2 ที่เป็นส่วนหนึ่งของแผน หรือกระบวนการของการปรองดอง

องค์ประกอบที่ 3 ครับ เป็นเรื่องที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ในยุคปัจจุบันสังคมของเรานั้นเป็นสังคมของข้อมูลข่าวสาร จริงอยู่ เราต้องสนับสนุนและยืนยันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และในการที่จะมีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้กับพี่น้องประชาชน แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกันครับว่า ในระยะหลังนั้นเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า อำนาจของสื่อในการนำเสนอข่าวสารนั้น ก็ได้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมือง อาศัยช่องโหว่ช่องว่างจากกฎหมาย ที่เทคโนโลยีก้าวไปไกลกว่า ไม่ว่าจะเป็นการใช้อินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นจะเป็นการมีสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม สถานีโทรทัศน์บอกรับสมาชิก เคเบิล วิทยุชุมชน แม้กระทั่งการที่สถานีโทรทัศน์ของรัฐก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีส่วนในการที่ จะสร้างความขัดแย้ง หรือถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เรายังยืนครับว่าในกระบวนการของการปรองดองนั้น สื่อต้องมีสิทธิเสรีภาพ แต่ต้องเป็นสิทธิเสรีภาพที่มีกลไกที่เป็นอิสระ เข้ามาดูแลกำกับอย่างแท้จริงว่า แม้จะมีความอิสระในการเสนอข้อมูลข่าวสาร ต้องไม่เป็นการเสนอข้อมูลข่าวสารในลักษณะที่มุ่งสร้างความขัดแย้ง ความเกลียดชัง และในที่สุดนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกัน ผมคิดว่า ถ้าหากว่าเราสามารถทำให้การดูแลเรื่องของสื่อสารมวลชนนั้น โดยไม่ละเมิดสิทธิ แต่เป็นการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ เราจะสามารถทำให้สังคมของเรานั้นก้าวพ้นความขัดแย้ง และกลับมามีความปรองดอง มีความสงบสุขได้อย่างรวดเร็ว
องค์ประกอบ ที่ 4 ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการการปรองดองที่ผมอยากจะนำเสนอนั้น ก็คงหนีไม่พ้นว่า หลังจากที่ได้มีการชุมนุมเคลื่อนไหวครั้งล่าสุด นับตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ก็ได้เกิดเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ ที่มีความรุนแรง มีความสูญเสีย ทำให้เกิดความคลางแคลงใจ ทำให้เกิดข้อกล่าวหาต่าง ๆ นานา และอาจจะนำไปสู่ความแตกแยกและความเกลียดชังมากยิ่งขึ้น ความสูญเสียไม่ว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 10 เมษายน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของทหาร หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นที่ถนนสีลม เมื่อวันที่ 22 เมษายน ก็ดี หรือความสูญเสียที่เกิดขึ้นในวันที่ 28 เมษายนที่บริเวณดอนเมืองก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจของพี่น้องประชาชน แม้กระทั่งเหตุการณ์ที่ไม่ได้มีการสูญเสีย อย่างเช่นที่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ก็ได้สร้างความกระทบกระเทือนจิตใจให้กับพี่น้องประชาชนจำนวนมากอย่างรุนแรง ทุกเหตุการณ์ครับจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อที่จะได้ชำระสะสางให้เกิดความชัดเจนต่อสาเหตุ และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์เหล่านั้น หนึ่งในกระบวนการปรองดองก็คือเราจะต้องมีคณะกรรมการอิสระเพื่อเข้ามาตรวจสอบ ข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อที่จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ และให้ความจริงแก่สังคม เพราะผมเชื่อว่าที่สุดแล้วสังคมเราจะอยู่กันได้ด้วยความเป็นปกติสุขนั้น ก็ต้องอยู่กันด้วยเรื่องของข้อเท็จจริง
องค์ประกอบสุดท้ายของการปรองดองครับ ข้อที่ 5 เกี่ยวข้องกับเรื่อง ของการเมืองโดยตรง แม้ว่านักการเมืองอาจจะถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง แต่ก็ต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการ ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีกระบวนการของการเลือกตั้ง และมีรัฐสภา ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากหลายเหตุการณ์ ในช่วงระยะเวลา 4 - 5 ปีที่ผ่านมาครับ ได้ทำให้เกิดความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับกติกา เช่น รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายบางฉบับ ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลิดรอน หรือการตัด หรือการเพิกถอนสิทธิ ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการเมือง ถึงเวลาแล้วเช่นเดียวกันครับที่เราจะต้องนำสิ่งเหล่านี้มาวาง เพื่อให้มีกลไกในการที่จะระดมความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางการเมืองที่เกิด ขึ้น อันนี้จะครอบคลุมตั้งแต่เรื่องของประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงการที่เราก็จะต้องยอมรับว่าในส่วนของความผิดในการชุมนุมทางการเมือง เช่น การชุมนุมเกิน 5 คนในช่วงที่มีการประกาศพระราชกำหนดฯ เป็นสิ่งที่จะต้องมีการให้ความเป็นธรรม และไม่นำสิ่งเหล่านี้มาเพื่อทำให้เกิดความรู้สึกในเรื่องของความไม่ยอมรับ กระบวนการทางการเมือง และนำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคตต่อไป
5 ข้อนี้ ในส่วนที่เราจะช่วยกันเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ในส่วนที่เรากำลังจะมาแก้ไขปัญหาที่เป็นพื้นฐานความไม่เป็นธรรมในสังคม ในส่วนที่จะทำให้สื่อของเราทำหน้าที่ได้อย่างสร้างสรรค์ ไม่เป็นเครื่องมือในการสร้างความแตกแยก ในส่วนของการชำระสะสางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่เป็นการกระทบกระทั่งกัน และในส่วนของการที่จะมีกติกาทางการเมืองที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ผมถือว่าจะเป็นองค์ประกอบของกระบวนการของการปรองดอง แน่นอนที่สุดครับ กระบวนการนี้ไม่อาจที่จะบรรลุเป้าหมายได้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย หาก เราเริ่มต้นกันตั้งแต่วันนี้ใน 5 ข้อนี้ และพี่น้องประชาชนทุกคนเข้าร่วม รัฐบาล รัฐสภา พรรคการเมือง องค์กรภาคประชาชน สามารถที่จะทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ไม่มีการขัดขวาง ไม่มีการมาสร้างความแตกแยก เคลื่อนไหวในลักษณะที่สร้างความวุ่นวายปั่นป่วน หรือเกิดการปะทะกัน ผมมั่นใจครับว่าเราใช้ระยะเวลาไม่นานนัก เราก็จะสามารถที่จะนำความปรองดอง ความปกติสุขกลับคืนมาสู่สังคมได้ และถ้าเป็นเช่นนั้นครับ รัฐบาลพร้อมที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้พี่น้องประชาชนนั้นได้มีโอกาสตัดสินใจทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ผมคิดว่าถ้ากระบวนการการปรองดอง และเหตุการณ์ของบ้านเมืองสงบตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป การเลือกตั้งนั้นสามารถจัดให้มีขึ้นได้ในวันที่ 14 พฤศจิกายน เป็นเป้าหมายที่รัฐบาลพร้อมที่จะดำเนินการ แต่ถ้าหากว่าบ้านเมือง ไม่สงบ รัฐบาลก็ยังมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าดำเนินการตาม 5 ข้อ เพียงแต่ว่ากระบวนการดังกล่าวก็จะมีความขลุกขลัก ล่าช้า และในที่สุดเราไม่สามารถจะตอบได้ว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นและนำไปสู่ความปรองดองอย่างแท้จริงนั้นจะเกิดขึ้น ได้เมื่อไร ดังนั้นผมขอกราบเรียนพี่น้องประชาชน เพื่อเชิญชวนทุกฝ่าย ได้พิจารณาข้อเสนอในเรื่องของกระบวนการปรองดอง ที่ผมได้เล่าให้กับพี่น้องประชาชนรับรู้ รับทราบในวันนี้
ท้ายที่สุดครับ ผมขออนุญาตที่จะพูดคุยกับพี่น้องประชาชนในบางกลุ่ม สำหรับพี่น้องประชาชนที่มาชุมนุม ในกลุ่มของเสื้อแดงหรือนปช. นั้น ผมเรียนว่าสิ่งที่ท่านเรียกร้อง สิ่งที่ท่านได้แสดงออกนั้น กระบวนการปรองดองและสิ่งที่ผมได้นำเสนอในครั้งนี้ ได้ยินท่านอย่างเต็มที่ครับ เพียงแต่ว่าคงไม่อาจตอบสนองข้อเรียกร้องในเรื่องของการยุบสภาฯ ทันทีหรือภายใน 15 วันหรือ 30 วันได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าที่พี่น้องประชาชนที่มาชุมนุมโดยบริสุทธิ์ คือมาด้วยความเดือดร้อนนั้น ผมคิดว่ากระบวนการปรองดองนี้จะไปแก้ปัญหาให้กับท่านได้ เป็นการแก้ปัญหาที่จะเป็นระบบ เป็นการแก้ปัญหาที่จะมีความยั่งยืน แน่นอนที่สุดครับ ข้อเสนอนี้อาจจะไม่เป็นที่พอใจของท่าน แต่ข้อเสนอนี้มีคำตอบให้กับท่านไม่มากก็น้อย และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของท่านได้อย่างแท้จริง
ขณะเดียวกันครับ สำหรับพี่น้องประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมก็ดี ให้การสนับสนุนรัฐบาลในการดำเนินการในด้านต่าง ๆ ก็ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ได้ให้การสนับสนุนและให้กำลังใจกับผมอย่างมากมาย ผมก็ขอเรียนครับว่า ท่านอาจจะไม่เห็นด้วยกับการที่จะมีการยุบสภาฯ หรือลดวาระของรัฐบาลลงมาถึงประมาณ 1 ปี แต่ผมก็อยากจะเรียนครับว่า ข้อเสนอที่ผมได้วางลงตรงนี้ เป็นข้อเสนอที่ยังยึดมั่นในหลักการที่ผมคิดว่า ท่านให้กำลังใจและสนับสนุนรัฐบาลในปัจจุบัน ก็คือการยังคงยึดมั่นในการเป็นนิติรัฐ ข้อเสนอทั้งหมดนี้ เป็นข้อเสนอที่เป็นคำตอบทางการเมือง แต่การดำเนินคดีในความผิดทางอาญาต่าง ๆ นั้น ก็ยังเดินหน้าต่อไปตามปกติ นอกจากนั้น การที่เราจะมีการเลือกตั้งในช่วงปลายปี ก็ไม่ได้หมายความว่าผมหรือรัฐบาลชุดนี้จะไม่มีโอกาสทำงานและรับใช้พี่น้อง ประชาชนต่อไป ทั้งหมดก็จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพี่น้องประชาชนในช่วงนั้น ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่เราต้องเคารพ ผมคิดว่าข้อเสนอนี้รักษาทั้งหลักนิติรัฐ และเป็นความพยายามที่จะปกป้องการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระ มหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นอุดมการณ์ของพี่น้องประชาชนในกลุ่มนี้อย่างชัดเจนเช่น เดียวกัน
พี่น้องที่เคารพครับ ข้อเสนอใด ๆ ที่เกี่ยวกับการปรองดอง ไม่ง่ายหรอกครับ ที่ผมประมวลมาทั้งหมด ผมมานั่งนึกดู อาจจะเป็นข้อเสนอที่ไม่ถูกใจใครแม้แต่คนเดียวก็ได้ แต่ผมคิดว่านั่นคือลักษณะของข้อเสนอในการที่จะเป็นการปรองดองอย่างแท้จริง เพราะว่าการปรองดองที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้นั้น นั่นหมายความว่าไม่มีใครได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตัวเองต้องการ และทุกฝ่ายต้องพร้อมที่จะยืดหยุ่น พร้อมที่จะถอย พร้อมที่จะเสียสละ ข้อเสนอที่ผมได้นำเสนอต่อพี่น้องประชาชนในวันนี้ ผมเชื่อมั่นด้วยความบริสุทธิ์ใจจากการสดับตรับฟังจากฝ่ายต่าง ๆ ว่า เป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ หากพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มเข้ามาร่วมในกระบวนการนี้ ทุกอย่างก็จะราบรื่น แล้วก็อย่างที่ผมเรียน ก็จะมีการเลือกตั้งในช่วงปลายปี หากพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะผู้ชุมนุมไม่ยอมรับข้อเสนอนี้ ผมก็จะพยายามทำต่อ แต่ก็จะไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไรอย่างไร ข้อเสนอนี้มีไว้สำหรับพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนทุกกลุ่มที่จะพิจารณา ผมหวังเป็นอย่างยิ่งครับ ว่าข้อเสนอนี้จะได้รับการตอบรับจากทุกฝ่าย เพราะผมหวังที่จะเห็นว่าในวันพุธที่จะถึงนี้ พวกเราทุกคนจะได้มีความสุขและมีความพร้อมใจกันในการเฉลิมฉลองวันฉัตรมงคล ขอขอบพระคุณพี่น้องประชาชนครับ
ซึ่ง หลังจากรับทราบ ข้อความดังกล่าว มัผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน ดังนี้
สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สำรวจความเห็นประชาชน กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศแนวทางปรองดองแห่งชาติ 5 ข้อ และจะจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ย.พบว่าส่วนใหญ่ 60.5% ค่อนข้างเห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง ต่อแนวทางเพื่อสร้างความปรองดอง 5 ข้อของนายอภิสิทธิ์ ขณะที่ 55.6% มองว่าการจัดการเลือกตั้งในช่วงกลางเดือนพ.ย.เป็นเวลาที่เหมาะสมแล้ว แต่ 16.1% มองว่าช้าเกินไป และ 28.3% มองว่าเร็วเกินไป นอกจากนั้นเมื่อพิจารณาความสุขของประชาชนพบว่าสูงถึง 6.72 จากระดับความสุขเต็มที่10.00 คะแนน หลังทราบข่าวกลุ่ม นปช.ประกาศรับแนวทางการปรองดอง 5 ข้อ

No comments:

Post a Comment