11/19/12

คอตีบระบาด_รุนแรงถึงตาย_กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ:ป้องกันดีที่สุด


วันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 คอตีบระบาด_รุนแรงถึงตาย_กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ:ป้องกันดีที่สุด
นพ.ณรงค์ ปลัดสธ. เน้นการเฝ้าระวัง ดูแลรักษาโรคคอตีบให้แพทย์ทุกจังหวัดทั้งรัฐเอกชน ย้ำ โรคคอตีบนี้ ป้องกันได้
               ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยการระบาดโรคคอตีบอาจเกิดขึ้นได้อีก เนื่องจากประชาชนโดยเฉพาะผู้ใหญ่มีภูมิคุ้มกันโรคไม่เพียงพอ จัดประชุมแพทย์ทุกจังหวัดทั้งรัฐและเอกชน เรื่องระบบเฝ้าระวัง วินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันโรค เน้นตรวจพบเร็ว วินิจฉัยเร็ว รักษาเร็ว และควบคุมป้องกันโรคได้เร็ว เพื่อป้องกันการเสียชีวิตผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด   
                   นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  เปิดเผยว่า ในวันนี้ (14 พฤศจิกายน 2555)ได้มอบหมายให้กรมการแพทย์และสำนักงานสาธารณสุขฉุกเฉิน จัดประชุมเชิงปฏิบัติการแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จากโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กทม. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัย การดูแลรักษา การเฝ้าระวัง และควบคุมป้องกันโรคคอตีบ ลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด 
          นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า โรคคอตีบ เป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดได้ดีในอดีต อย่างไรก็ตามปัจจุบันพบจำนวนผู้ป่วยโรคคอตีบมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น อาจจัดได้ว่าเป็นโรคที่ถูกลืมในเด็กและเป็นโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในผู้ใหญ่ สาเหตุที่ทำให้โรคนี้กลับระบาดได้อีก เนื่องจากประชาชน โดยเฉพาะผู้ใหญ่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคค่อนข้างต่ำ รวมทั้งผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนคอตีบมาก่อน หรือเด็กที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบไม่ครบตามเกณฑ์ จึงทำให้ภูมิคุ้มกันต่อโรคต่ำลง ซึ่งโรคคอตีบเป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ ติดต่อกันได้โดยตรงจากการไอ จามรดกัน หรือพูดคุยในระยะใกล้ชิด บางครั้งอาจติดต่อกันได้โดยการใช้ภาชนะร่วมกัน เช่นดื่มน้ำแก้วเดียวกัน 
อย่างไรก็ดี การพบผู้ป่วยโรคคอตีบในบางพื้นที่ขณะนี้ ต้องมีมาตรการด้านต่างๆ พร้อมรับมืออย่างทันท่วงที ทั้งด้านการตรวจวินิจฉัย การรักษาพยาบาล การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา การควบคุมและป้องกันโรค เพื่อป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด  จึงได้ทบทวนองค์ความรู้ และจัดทำแนวทางการวินิจฉัย การดูแลรักษา และการป้องกันการติดเชื้อจากผู้ป่วยโรคคอตีบถ่ายทอดให้แก่แพทย์ทั้งรัฐและเอกชน บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้มีประสิทธิภาพ เป็นมาตรฐานเดียวกัน เนื่องจากโรคนี้รักษาให้หายได้ด้วยยาต้านพิษ หรือแอนติท๊อกซิน (antitoxin) และยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อซึ่งยังใช้ได้ผลดี มั่นใจว่าแนวทางที่ดำเนินการขณะนี้ จะสามารถควบคุมโรคได้
ทางด้านแพทย์หญิงวิลาวัณย์  จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า  โดยทั่วไป โรคคอตีบมีอัตราป่วยตายประมาณร้อยละ 5-10 อาการแทรกซ้อนที่พบมักเกิดจากสารพิษที่เชื้อคอตีบสร้างขึ้น เรียกเอ็กโซทอกซิน (exotoxin) จะถูกดูดซึม ผ่านเข้ากระแสเลือดไปทำลายอวัยวะต่างๆเช่น หัวใจ  ไต  ตับ  ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เสียชีวิตได้ บางรายพบอาการบวมของใบหน้าและลำคอ ซึมลง มักจะมีอัตราตายสูงมาก ดังนั้นมาตรการสำคัญจึงเน้นให้ค้นหาผู้ป่วยให้เร็ว วินิจฉัยเร็ว รักษาเร็ว และควบคุมป้องกันโรคได้เร็ว เพื่อป้องกันการเสียชีวิตผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด ในการป้องกันการระบาดของโรคคอตีบต้องขอความร่วมมือจากทุกคน เริ่มจากผู้ปกครองนำเด็กทุกคนมารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบตามเกณฑ์ให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ประชาชนทั่วไป ควรป้องกันตนเองโดย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรค ผู้ป่วยเป็นไข้หวัดควรสวมหน้ากากอนามัย รวมถึงรู้จักสังเกตอาการผิดปกติของตัวเองและคนใกล้ชิด เช่น มีไข้ต่ำๆ อาการคล้ายหวัดในระยะแรก ไอ เจ็บคอ เบื่ออาหาร บางรายอาจพบต่อมน้ำเหลืองที่คอโต เมื่ออ้าปากจะพบแผ่นเยื่อสีขาวปนเทาในลำคอที่บริเวณต่อมทอนซิล ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษาโดยเร็วและควรติดตามสถานการณ์โรคในพื้นที่และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด      
ขอบคุณข้อมูลจากศูนย์ข่าวกระทรวงสาธารณสุข http://www.moph.go.th/ops/iprg/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=51336

No comments:

Post a Comment