6/24/12

อสม .ยโสธร ด้านมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี(น้องโอวี พี่คอแรง)






วันที่ 22 มิถุนายน 2555 : อสม .ยโสธร ด้านมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี(น้องโอวี พี่คอแรง)
ภาคเช้า ผม นายพันธุ์ทอง จันทร์สว่าง  ไป พร้อมกับ นายสุรินันท์ จักรวรรณพร ผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอคำเขื่อนแก้ว
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง และ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม .) จากทุกหมู่บ้าน
ร่วมกิจกรรม โครงการอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเชี่ยวชาญ ด้านมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี จังหวัดยโสธร  ปีงบประมาณ ๒๕๕๕  วันที่  22  มิถุนายน  2555 ซึ่ง นายแพทย์ สุใหญ่ หลิ่มโตประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร และคณะจัดขึ้น ภายใต้ชื่องาน  อสม .สู้ภัย น้องโอวี พี่คอแรง  ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรม เจพี เอ็มเมอรัลด์ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร  โดยมี อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม .) และ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม กว่า 2,000 คน
ประธานในงาน โดย นายสุรชัย เบ้าจรรยา ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
แขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงาน อาทิเช่น นายปิยวัฒน์ พันธ์สายเชื้อ สส.ยโสธร เขต 1
นายแพทย์สุรพร ลอยหา  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี
นายแพย์จรัญ  ทองทับ  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยโสธร
คณะกรรมการ กวป.ยโสธร เป็นต้น
ขอบคุณ ภาพ กิจกรรมสวยๆ เหล่านี้ จาก พี่บรรจบ แสนสุข หัวหน้างาน ICT สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร ครับผม
                   น้องโอวี พี่คอแรง  เป็นคำย่อ ที่ใช้ในภาษาทางการแพทย์ ซึ่ง OV เป็นชื่อย่อ ของ โรค พยาธิใบไม้ในตับ Opisthorchis viverrini (OV) ส่วน คอแรง หรือ โคแลง เป็นชื่อย่อ ของ โรคมะเร็งท่อน้ำดี หรือ โคแลงจิโอคาร์ซิโนมา (Cholangiocarcinoma)
                   ซึ่งโครงการอสม .สู้ภัย น้องโอวี พี่คอแรง นี้ นายแพทย์ สุใหญ่ หลิ่มโตประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร ได้ สรุปย่อต่อ นายสุรชัย เบ้าจรรยา ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานในพิธี สรุปความว่า
                   มะเร็งเป็นโรคเรื้อรังที่มีอัตราการตายมากกว่าโรคอื่น ๆ ในโลก ในประเทศที่พัฒนาแล้วพบว่าผู้ป่วย ด้วยโรคมะเร็งมีอัตราการตายสูงถึงร้อยละ 50 และในประเทศที่กำลังพัฒนาพบอัตราการตายของผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งสูงมากกว่าร้อยละ 80  สำหรับประเทศไทย โรคมะเร็งยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 1 ของประชากรไทย สถิติโรคมะเร็งมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นทุกปี และพบว่า ในปี พ.ศ. 2531 สถิติการตายมีเพิ่มขึ้นจาก 18,284 คน เป็นจำนวน 45,834 คน ในปี พ.ศ. 2545  ( ยุทธศาสตร์ ลดพยาธิใบไม้ตับ กำจัดมะเร็งท่อน้ำดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ,มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
                   โรคมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี    เป็นโรคที่พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ
ไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความชุกของมะเร็งท่อน้ำดีสูงที่สุดในโลก  ประชากรไทยมากกว่า 9 ล้านคน เป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีและมีการติดเชื้อของตับ อัตราการเกิดโรคคิดเป็นสัดส่วน 5 คนต่อประชากรทุก ๆ 100,000 คน และเกือบทั้งหมดมีหรือเคยมีพยาธิใบไม้ในตับชนิด Opisthorchis Viverrini (OV.) จากสถิติล่าสุดของจังหวัดขอนแก่น ระหว่าง ปี 2533 -2536 พบอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นเป็น 97.4 ต่อประชากร 100,000 คน และสถิติของหน่วยมะเร็งโรงพยาบาลศรีนครินทร์ พบว่ามะเร็งท่อน้ำดีพบมากเป็นอันดับหนึ่งของมะเร็งทั้งหมดที่มารับการรักษาตั้งแต่ พ.ศ.2532-2539  มะเร็งท่อน้ำดี  เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย  เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตทั่วประเทศปีละประมาณ 10,000 คน  โดยเกินกว่าครึ่ง  เป็นประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 
                   กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินโครงการลดป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับและมะเร็งท่อ
น้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า   โดยได้จัดทำยุทธศาสตร์ "ลดพยาธิใบไม้ตับ กำจัดมะเร็งท่อน้ำดี" วาระคนอีสานทั้ง 20 จังหวัด   โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น มูลนิธิจุฬาภรณ์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และหน่วยงานจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อร่วมกันรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชาชนชาวอีสาน     ยุทธศาสตร์ฯ นี้จะมุ่งที่การไม่กินปลาร้าดิบ โดยใช้สโลแกนรณรงค์ว่า "กินปลาร้าต้ม ส้มตำอร่อย" เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนัก และเลิกกินปลาร้าดิบ เพราะในปลาร้าดิบจะมีสารก่อให้เกิดมะเร็ง นอกจากนี้ จะรณรงค์ให้คนอีสานไม่กินปลาน้ำจืดที่มีเกล็ด แบบสุกๆ ดิบๆ เพราะปลาจำพวกนี้จะมีไข่พยาธิใบไม้ตับอยู่ โดยจะรณรงค์ร่วมกันทั้ง 20 จังหวัดในภาคอีสาน และบรรจุเรื่องโรคมะเร็งทั้งสองโรคนี้ รวมถึงการป้องกัน เข้าไปหลักสูตรการเรียนการสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ในระดับท้องถิ่น ซึ่งจะเริ่มต้นที่ จ.ขอนแก่น ตั้งแต่เทอมการศึกษาใหม่นี้เป็นต้นไป โดยจะประสานเสนอให้ ศธ.จัดเป็นหลักสูตรสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 -6 ทั่วประเทศ และในระดับชั้นสูงต่อไป คาดหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยลดการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ ลดการป่วย และการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดีในที่สุด
                   จังหวัดยโสธร  จากข้อมูลการตายของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ประชาชนในจังหวัดยโสธรมีสาเหตุการตาย จากการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อมากที่สุด   จากข้อมูลย้อนหลัง 4 ปี  พบว่า  มีสาเหตุการตายจากโรคมะเร็งและโรคหัวใจและหลอดเลือดมากที่สุด  และจากรายงานสาเหตุการตายในโรงพยาบาลของรัฐ โดยแพทย์เป็นผู้วินิจฉัย  พบมะเร็งมีอัตราการตายใน 5 อันดับโรค ภายใน 4 ปี  (ข้อมูลสรุปผลการตรวจราชการ ,ปี 2555)
            ดังนั้นแล้ว  การดำเนินการเพื่อลดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี  จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร จึงได้จัดทำโครงการอบรม อสม.เชี่ยวชาญด้านมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี   เพื่อให้ อสม.มีความรู้ความเข้าใจในนโยบายและแนวทางการควบคุม  เฝ้าระวัง และป้องกันโรคดังกล่าวขึ้น  โดยคาดหวังว่า อสม.จะเป็นพลังขับเคลื่อนการรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภค เพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยงในโรคดังกล่าว

No comments:

Post a Comment