12/15/13

13ธค.2556 น้องขอพี่ คำแนะนำดีพี่มีน้อง CBL นสค.คำเขื่อนแก้ว

13ธค.2556 น้องขอคำแนะนำจากพี่ คำแนะนำที่ดีพี่มีน้อง CBL นสค.คำเขื่อนแก้ว
วันที่ 13 ธันวาคม 2556 ในเวที แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ นสค. รุ่น 1 นี้ มีหลากหลายข้อคิดเห็นที่ผมประทับใจ ขอยกมาเป็นตัวอย่างเช่น
(1) ดิฉันทำงานที่โรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว เป็นหัวหน้า ER มากว่า 30 ปี  แต่มีบ้านอยู่หมู่บ้านที่มี สถานีอนามัย เมื่อก่อนดิฉันมีความรู้สึกและมีคำถามในทางที่ไม่ค่อยดีว่า ทำไม ทำไม มากมาย เช่น ทำไมต้องให้น้องทันตาให้บริการผู้ป่วย ทำไมน้อง จพ.สาธารณสุขต้อง เย็บแผล ต้องตรวจรักษาโรค ทำไมบริการบางอย่างไม่ได้ตามมาตรฐาน ทำไมชาวบ้านไม่ไปรับบริการที่โรงพยาบาลเพราะมีคุณภาพมีมาตรฐานที่ดีกว่า ทำไมต้องมารับบริการที่สถานีอนามัย แต่พอดิฉันได้มารับรู้ข่อมูลในอีกแง่มุมหนึ่งในวันนี้จึงได้รู้ว่า ชาวบ้านทุกคนอยากได้รับบริการที่ดี แต่บริการที่ดีใช่ว่าทุกคนจะมีโอกาสได้รับ เพราะมีหลากหลายปัจจัยที่ทำให้เขาไม่สามารรถเข้าถึงได้ เช่น ไปโรงพยาบาลมันหมายถึงค่าใช้จ่าย มันหมายถึงภาระ วัวควาย บุตรหลานทางบ้าน มันหมายถึงความไม่ว้างใจ ไม่เชื่อใจเพราะเขาไม่รู้จักใครในโรงพยาบาล กว่าเขาจะได้กลับเขาต้องฝ่าด่านคนที่ไม่รู้จัก มากมาย และกลับออกไปด้วยความไม่รู้จัก แต่ที่สถานีอนามัย เขารู้จักคนที่ให้บริการของเขา นั่นคือคุณหมอนที่ดีที่สุดของเขา คุณหมอรู้จักชื่อเขา รู้จักครอบครัวเขา เขาไว้เนื้อเชื่อใจและมั่นใจว่าเขาฝากฝีฝากไข้ได้ แม้ว่าอุปกรณ์เครื่องมีอาจจะไม่ดีพอ แต่อุปกรณ์ใจ เขาดีกว่า  เวทีในลักษณะอย่างนี้จึงดีมากที่เราจะมาร่วมกันให้บริการที่ดีแก่ประชาชนภายใต้บริบทที่มีของคำเขื่อนแก้วเรา ขอบคุณและชื่นชมคุรหมอที่ทำงานที่สถานีอนามัยทุกท่าน เพราะแต่ละแห่งสถานีอนามัยมีคน 2-3 คน แต่ต้องทำทุกอย่าง แสดงว่าเขาทำงานหนักมาก หากมีบางสิ่งบางอย่างที่เราต้องช่วยเหลือ สนับสนุนซึ่งกันและกัน ก็ต้องให้การสนับสนุน ดิฉันให้คำมั่นว่าจะเป็นเพื่อนร่วมทางในการก้าวเดินเพื่อให้บริการแก่ประชาชนให้ดีต่อไป ( นางสาววรนุช นามมั่น พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว)

            (2) ดิฉัน เป็นนักวิชาการสาธารณสุขน้องใหม่ ทำงานที่ รพ.สต.โพนสิม เมื่อก่อนเส้นทางมันกันดารมาก เข้าออกยากโดยเฉพาะหน้าฝน มี ผอ.กับดิฉัน 2 คน  หากคนใดไม่อยู่ คนที่อยู่ คือ คุณหมอ คือที่พึ่งเขา ดิฉันมีเพียงความตั้งใจและการถ่ายทอดประสบการณ์ที่ ดีจาก ผอ.รพ.สต. เพื่อให้สามารถให้บริการและเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้ ในเบื้องต้น เย็บแผล ฝ่าฝี ให้คำปรึกษา การฝากครรภ์ เป็นต้น โดยเฉพาะระยะหลัง มีพี่วีมาทำงานด้วย พี่วีเป็นอาจารย์ด้านการพยาบาลที่ดีมากๆ สอนแนะให้กับดิฉัน และตลอดทั้งให้คำปรึกษาได้ทางโทรศัพท์ หรือช่องทางอื่นๆ เช่น face Line เป็นต้น

(3) เรื่องการบริการกับโรงพยาบาล ขอบคุณพี่เลี้ยงที่ดี หากมีปัญหาในการทำงานดิฉันจะนึกถึงที่ปรึกษาที่ดี จาก โรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว เช่นการฝากครรภ์จะโทรหา พี่หรั่ง(ศุศราภรณ์) พี่เขาให้คำแนะนำที่ดีมากๆ ด้านสุขภาพจิตก็จะนึกถึง พี่ตุ้ม(เยาวเรศ) ซึ่งจะได้รับคำแนะนำที่ดีในทุกๆครั้ง เป็นที่ประทับใจมาก ( นางสาวกาญจนา   ไชยมาตร นักวิชาการสาธารณสุข  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโพนสิม)

(4) ดิฉัน พึ่งรู้ว่า นสค.คืออะไร นสค.นักสุขภาพคนสำคัญ ที่เป็นที่พึงสำคัญให้กับญาติ พี่น้องของเราในชนบท นสค.ไม่มีคำว่า แพทย์ ทันตะ เภสัช สาธารณสุข พยาบาล แพทย์แผนไทย นสค.คือคุณหมอ ในความหมายของชาวบ้าน เมื่อเขาก้าวย่างมาหาเรา เขาต้องรับบริการที่ดีกลับไป เขาไม่เข้าใจว่าเรามีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพใดหรือไม่ หากทุกข์ของเขาได้รับการเยียวยาให้บรรเทาเบาบางลงไป เขาก็มองเห็นเราเป็นคุณหมอของเขา ดิฉันเองภูมิใจมากในบทบาทของ นสค.เพราะมันคือการที่เราได้เรียนรู้ร่วมกันระหว่างสหวิชาชีพ เพื่อให้เป็นที่พึ่งของชาวบ้านได้ ดิฉันไม่เพียงแค่ถอนฟันเด็ก ขูดหินปูน ในห้องฟัน ดิฉันต้องทำงานแบบครบวงจรเฉกเช่นเดียวกับ นสค.คนอื่นๆ เพราะดิฉันเป็นทีมงานของ รพสต. มีอะไรที่จะช่วยเหลือกันได้ ก็ต้องให้ความช่วยเหลือกัน(นางหอมไกร  อาจวิชั จพ.ทันตสาธารณสุข ชำนาญงาน  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ดงแคนใหญ่)

            (5) ดิฉันเป็นน้อง จพ.สาธารณสุข ให้บริการในชุมชนมากว่า 8 ปีแล้ว ทักษะต่างๆได้รับการฝึกฝนและถ่ายทอดประสบการณ์ระหว่ากัน เพื่อให้เป็นที่พึ่งของเขาได้ วันนี้ดีใจมากที่ ทีมงานเราได้จัดทำ ระเบียบปฏิบัติในการปฏิบัติงานด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านเวชปฏิบัติครอบครัว เพราะหากจะปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพแล้ว มีเพียงพยาบาลวิชาชีพเท่านั้นที่สามารถให้บริการตรวจรักษาแก่ประชาชนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะให้พยาบาลวิชาชีพ รับผิดชอบคนเดียว ไปไหนไม่ได้ มันเป็นงานที่หนักมาก และเป็นงานที่ไม่มีวันแล้วเสร็จ เขาทุกข์มาหาเรา ต้องการได้รับคลายทุกข์ หากดิฉันจะปัดความรับผิดชอบไม่ให้บริการก็สามารถส่งต่อได้ แต่ในบางครั้ง การส่งต่อเราทำง่ายเพียงเขียนเอกสาร แต่มันเป็นการเพิ่มความทุกข์ให้กับเขาไปอีกไม่รู้กี่เท่า ไหนจะค่าเหมารถเที่ยวละ 400 บาท ไหนจะค่ากินตนเอง ค่ากินญาติๆ ค่าจ้าง เพื่อนบ้านไปดูแลสวนผัก ไปดูแล วัวควาย และค่าอื่นๆ อีกมากมาย ฉะนั้น การที่เรามาร่วมกันพัฒนาศักยภาพของพวกเรากันเองให้สามารถคลายทุกข์ให้ชาวบ้านได้ ถือว่าพวกเราได้ทำบุญที่ยิ่งใหญ่ ขอบคุณ ท่าน สสอ.และท่านผอ. ที่จัดให้มีเวทีนี้ขึ้นดิฉันประทับใจมาก ( นางจิตร์สุดา  นามวาท  จพ.สาธารณสุข  ปฏิบัติงาน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บกน้อย )

            (6) ผมเป็น จพ.เภสัช จบมาผมก็คิดว่า มีหน้าที่เพียงจ่ายยาตามใบสั่งเท่านั้น นั่นคือภารกิจของ น้องใหม่ พอทำงานไปประสบการณ์เริ่มสอนผม เมื่อผมต้องอยู่ รพ.สต.คนเดียว ใส่ชุดฟอร์มฟ้าขาว ชาวบ้านมาเรียกว่าคุณหมอ ก็เริ่มเรียนรู้ว่าเราต้องพัฒนาตนเองให้มีความสามารถที่จะช่วยเหลือเขาได้ ในทักษะต่างๆ ครูที่ดีที่สุดคือเพื่อนร่วมงาน อาจารย์ที่ดีที่สุดคือประชาชน ปัจจุบัน ก่อนจะได้จ่ายยาผมต้องตรวจบ้าง ล้างแผลบ้าง บางครั้งก็ต้องได้ให้ Oxygen คนไข้ก็มี ก็เป็นเรื่องที่ภูมิใจ ที่ได้ช่วยชาวบ้าน (นายณรงค์เดช บุญไธสง   จพ.เภสัชกรรมชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ดงแคนใหญ่)

            (7) ดิฉันเองทำงานในห้องคลอด ซึ่งเป็นฝ่ายตั้งรับ ได้มารับรู้การทำงานของฝ่ายรุกของเราในด้านการส่งเสริมสุขภาพ ประทับใจทีมงานน้องๆทุกคนที่รพ.สต.มาก เพราะมันคือการทำงานแบบบูรณาการทุกอย่าง ตั้งแต่ต้องร่วมกันสร้างศรัทธาให้กับประชาชน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะสร้างได้ง่ายๆ และไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง มันต้องสร้างกันเป็นทีม และใช้เวลาสร้างอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด ภายใต้คำว่าความรับผิดชอบ และจิตสำนักที่ดี จากนี้ไปดิฉันจะให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือในการทำงานร่วมกันของพวกเราให้ดียิ่งๆขึ้นไป ขอบคุณทุกคนที่ร่วมให้ข้อมูลที่ดีในเวทีดีๆนี้ด้วย ( นางรัจนา นามวาท พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ     โรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว)

(8) ดิฉัน มี2 ความรู้สึก ความรู้สึกที่ 1 เสียใจว่า ทำไมดิฉันและพวกเราจึงพึ่งร่วมกันจัดบรรยากาศแบบนี้ขึ้นทำไมเรา มันเป็นเวทีที่ดีมากๆ ในการให้แต่ละคนมาร่วม share สิ่งต่างๆ ที่เป็นสิ่งดีๆ ของกันและกัน
ความรู้สึกที่ 2  ดีใจและประทับใจเหลือเกินกับ ทุกๆความรู้ใหม่ ทุกๆแนวคิดที่ดีๆ จากน้องๆ ที่ได้มาร่วมแลกเปลี่ยน แม้ว่าจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้น มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในโอกาสต่อไพวกเราควรมีเวทีลักษณะอย่างนี้ให้เขา อาจจะเป็นทางการบ้างไม่เป็นทางการบ้างก็ได้ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากๆ เพราะเราต่างคนต่างเสริม ต่างมาเติมกำลังใจให้แก่กันและกัน (นางภัทรวรรณ   จันทร์ศิริ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ            โรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว)

            (9) หนูทำงานที่ รพ.สต.แคนน้อย  เคยทำงานที่ รพ.สต.ทุ่งมน แต่ละแห่งมากด้วยประสบการณ์และการเรียนรู้ ดูเหมือนว่าพวกหนูจะน่าเป็นห่วงจากพี่ๆมากที่สุดในการให้บริการด้านเวชปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถนัดมาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อใน รพ.สต.จำเป็นต้องเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้ เราจะเลือกทำในแต่สิ่งที่เราถนัด หลีกเลี่ยงไม่ทำในสิ่งที่ไม่ถนัด เราไม่สามารถทำได้เพราะ ความรับผิดชอบของเรามีมากกว่าในรั้งของ รพ.สต. ความเป็นผู้ให้บริการ ความเป็นคุณหมอของเรา ครอบคลุมออกไปทั่วทั้งตำบล แทรกซึมเข้าไปในทุกครอบครัว ครอบคลุมแทรกเข้าในใจของประชาชน ที่สื่อสารมาถึงเราได้ในการมรรับริการจากเรา เขารู้ดีว่าเรามีศักยภาพแค่ไหน แต่เขาก็ไว้วางเรา ขขอบพระคุณพี่ๆทุกคนที่ถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆให้พวกเราในการทำงานและ ในอนาคตพวกเราก็ยังต้องการได้รับการถอดทอดคอยสอนแนะ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการกับประชาชนต่อไป (นส.สุภาพร  บุญเชื้อ        นักวิชาการสาธารณสุข  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแคนน้อย )        เป็นต้น

            (10) ในแต่ละปี เราเสนอโครงการปีละกี่โครงการ ในจำนวนนั้นทำสำเร็จกี่โครงการ มีกี่โครงการที่ติดตามอย่างต่อเนื่องจนสำเร็จตามวัตถุประสงค์ แต่ละคนมากน้อยไม่เท่ากัน แต่สิ่งที่มีเหมือนกันคือ บางคนเหนื่อย บางคนมีความสุขกับมัน ผมก็เป็นผมก็เคยท้อ แต่เมื่อหวนระลึกวันแรกที่เราก้าวมาทำงานตรงนี้ เราตั้งจุดประสงค์ไว้ว่า เราจะมาเพื่อ... เพื่อให้บริการด้วยความเมตตากับประชาชนผู้มีความทุกข์ เราไม่ได้มุ่งหวังจะมาเอาตำแหน่ง เอาขั้น เอายศ เราก็สบายใจ และที่สำคัญเมื่อระลึกถึงว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงงานปีลพกี่โครงการและแต่ละโครงการติดตามผลตลอด ท่านทำเพื่อคนไทยทั้งประเทศ ท่านคงจะเหนื่อยมากกว่าพวกเราเป็นหลายๆพันเท่า เราทำแค่นี้เหนื่อยแล้วหรือ เราท้อแล้วหรือ เป็นสิ่งที่สามารถเสริมเติมพลังของผมได้ ( ภก.กาญจนพงษ์   เพ็ญทองดี   เภสัชกรชำนาญการพิเศษโรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว)

            (11) ผมเฝ้าดูอยู่ตลอดทั้ง 3 วัน ตั้งแต่หลักสูตรผู้บริหาร จนมาถึงวันนี้ ชื่นชมและประทับใจบรรยากาศของพวกเรามาก ตั้งแต่ความมุ่งมั่นตั้งใจของคณะผู้จัดและคณะวิทยากร เพราะมันเป็นความยากมากที่เราใช้วิทยากรของพวกเรากันเอง แรกทีเดียวผมคิดว่าจะใช้วิทยากรข้างนอก แต่เห็นผลงานและกระบวนการที่เกิดขึ้นนี้ จึงค้นพบว่า วิทยากรของเรานี่แหละดีที่สุดเพราะรู้และเข้าใจบริบทของพวกเรากันเองดีที่สุด และต้องชื่นชมและขอบคุณพวกเราทุกรุ่นทุกคนที่ให้ความร่วมมือ รวมทั้งในการร่วม Share ประสบการณ์ทั้งในด้านที่ดีอยู่แล้ว และด้านที่เป็นโอกาสในการพัฒนาให้แก่กันและกัน ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาองค์กร คปสอ.ของเราให้มีคุณภาพต่อไป ( นายวิทยา  เพชรรัตน์ สาธารณสุขอำเภอคำเขื่อนแก้ว)








































            .... ความรู้สึกอื่นๆ สามารถส่งเข้ามแลกเปลี่ยนได้นัครับ...
วันที่ 13 ธันวาคม 2556 ผมนายพันธุ์ทอง จันทร์สว่าง ทำหน้าที่วิทยากรและ Project manager กิจกรรม ส่งเสริมการทำงานร่วมกันของ ผู้บริหาร คปสอ.คำเขื่อนแก้ว ตามหลักสูตร พัฒนาศักยภาพบุคลากรสำหรับนักสุขภาพครอบครัว จาก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง และจากโรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว  ในรูปแบปการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อพัฒนาระบบการบริการและการสนับสนุนบริการให้มีประสิทธิภาพ ขึ้นในวันที่ 11-13 ธันวาคม ๒๕๕๖ ณ ห้องประชุม  ม่านเมฆา สำนักงานสาธารณสุขอำเภอคำเขื่อนแก้ว
ดำเนินการ นำส่งเสริมการทำงานร่วมกันของ ผู้บริหาร  คปสอ.คำเขื่อนแก้ว โดย นายวิทยา  เพชรรัตน์ สาธารณสุขอำเภอคำเขื่อนแก้ว  แพทย์หญิง เพชรวันชัย จางไววิทย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว

โดยมีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันจาก สำนักงานสาธารณสุขอำเภอคำเขื่อนแก้ว โรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน 

No comments:

Post a Comment