27 ธค.2556 สรุปผล รุ่น2 นสค.คำเขื่อนแก้วCBLแลกเปลี่ยน_ไปโลด แน่นอน
วันที่
27 ธันวาคม 2556 ผมนายพันธุ์ทอง
จันทร์สว่าง ทำหน้าที่วิทยากรหลัก และ Project manager กิจกรรม
ส่งเสริมการทำงานร่วมกันของ บุคลากร คปสอ.คำเขื่อนแก้ว ตามหลักสูตร พัฒนาศักยภาพบุคลากรสำหรับนักสุขภาพครอบครัว
จาก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง และจากโรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว ในรูปแบปการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
เพื่อพัฒนาระบบการบริการและการสนับสนุนบริการให้มีประสิทธิภาพ รุ่นที่ 2 ขึ้นในวันที่ 26-27 ธันวาคม ๒๕๕๖ ณ ห้องประชุมม่านเมฆา
สำนักงานสาธารณสุขอำเภอคำเขื่อนแก้ว
จากการประเมินผลเบื้องต้น
ของคณะทำงาน พบว่า
ผู้ร่วมประชุมทั้ง
3 รุ่น มีความประทับใจ การจัดกิจกรรม ในครั้งนี้ ทั้งสถานที่ ระยะเวลา
คณะวิทยากร และเนื้อหาที่เหมาะสม และมีข้อเสนอแนะที่ดีระหว่างกัน
ควรจะมีเวทีในลักษณะนี้ อยู่เสมอๆ
เพื่อแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน จะได้รับทราบความทุกข์
และแบ่งปันความสุขซึ่งกันและกัน
โดยจะส่งผลให้เกิดการทำงานร่วมกันแบบไร้รอยต่อจริงๆ ระหว่าง โรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว
สำนักงานสาธารณสุขอำเภอคำเขื่อนแก้ว โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง (ภญ.มะลิวัลย์
สมขำ เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว)
ดิฉันเคยทำงานที่โรงพยาบาลไทยเจริญ
เป็นทันตาภิบาล ก็อยู่แต่ในห้องฟัน เมื่อย้ายมาอยู่อนามัยย่อ
ได้เรียนรู้ประสบการณ์มากมาย จนวันนี้ดิฉันจึงรู้ว่า เราเรียกมันว่า นสค.
นักสุขภาพครอบครัว เพราะ เราต้องทำทุกอย่างเพื่อให้งานใน อนามัย
ของเราประสบผลสำเร็จ โดยเราต้องทำตนให้เป็นที่พึ่ง เป็นผู้ให้เขาไว้วางใจเรา
ทั้งการสร้างศรัทธา ทั้งการบริการที่ดี ทุกๆอย่าง หนักไหม หนักมาก เหนื่อยไหม
เหนื่อย ทำต่อไหม ทำ เราะอะไร เพราะเราทำงานกันเป็นทีม เห็นชาวบ้านมีสุข
เราก็เป็นสุข ( นส.อุทัยวรรณ สุภี จพ.ทันตสาธารณสุข ชำนาญงาน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
ย่อ)
ดิฉันคงไม่มั่นใจว่า
จะเป็น นสค.ที่ดี แต่มีสิ่งหนึ่งที่ดิฉัน รู้ในใจตนเองเสมอ ก็คือ
ดิฉันจะให้ผู้รับบริการทุกคน ที่ได้รับบริการจากดิฉัน กลับไปด้วยความ ส่วง (โล่ง
โปร่ง สบายใจ) นางสุนิสา วงชาลี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
ดงแคนใหญ่
ดิฉันไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่า
นสค.คืออะไร รู้แต่เพียงว่า ต้องทำหน้ที่ของตนเองให้ดีที่สุด ในมุมมองของตนเอง
บางครั้งอาจจะละเลยมุมมองของคนอื่น ในครั้งนี้ได้มาร่วมรับฟัง คนอื่นๆบ้าง
จึงรู้ว่า พวกเรานี่แหละต้องร่วมมือกันสร้างสุขภาพให้กับประชาชน
ดิฉันยินดีที่จะเป็นหนึ่งในทีมงานของเรา ในฐานะอะไรก็ได้
เพื่อให้ทีมงนของเราทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข ( รัชฎาภรณ์ แสนทวีสุข
นักเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว )
หนูเป็นคนพูดตรงๆ
ในความตรงนั้นก็ขอให้ทีมงานรับรู้ด้วยว่ามีความจริงใจ ดีใจมากที่มีเวทีที่พวกเราไม่เคยมีมาก่อน
ตั้งแต่ทำงานมาพึ่งจะมีในลักษณะนี้ ที่รวมเอาคนทุกสาขาวิชาชีพมารวมกัน
ฟังในเรื่องที่แต่ละคนต่างคนต่างถนัดที่ไม่เหมือนกัน แต่สุดท้ายก็สามารถรวมกันได้
สามารถเข้าใจกันได้ เหมือนปักดอกไม้คนละดอก แต่สุดท้ายเป็นแจกันที่สวยงาม(นางรัศมี
โซ่เงิน พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล นาหลู่ )
ดิฉันเองปกติแล้วเป็นคนที่ช่างติ
จะติทุกๆอย่าง ทุกๆโครงการ ที่คนอื่นทำ แต่มีโครงการในลักษณะนี้
ที่ดิฉันเริ่มเปลี่ยนแนวความคิด เพราะว่าพวกเราได้รับทราบสารทุกข์
สุขดิบของกันและกัน มีความเข้าใจกันมากขึ้น มื่อเข้าใจ กัน
ก็จะได้ใจกันในโอกาสต่อไป และเมื่อเราได้ใจกันแล้ว อะไรๆ
ก็คงจะร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคได้ โดยที่เราไม่ต้องไปยึดติดกับวิธีการมากมายนัก
เขาอาจจะถอดรองเท้าเล่น ก็ได้ เหมือนทีมฟุตบอลปันหยี (นางภัทรวรรณ จันทร์ศิริพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
โรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว)
ดิฉันก็เหมือนคุณภัทรวรรณ คือ
ติไปทุกอย่าง ปัจจุบันก็ลดลงบ้าง เพราะมาฉุกคิดได้ว่าเราจะติไปจนเกษียณเลยหรือ
ติแล้ว ใครจะทำ มองมุมกลับ หากคนอื่นติเราบ้างละ ฉะนั้น จึงเปลี่ยนวิธีคิด
แทนที่เราจะ ว่าให้คนอื่น ซึ่งเป็นการเอาบาปกลับบ้าน เลิกงานเราเอาบุญกลับบ้านไม่ดีกว่าหรือ
ให้กำลังใจซึ่งกันและกันจะดีกว่า พี่ให้กำลังใจทุกๆคนที่ รพ.สต.นะ น้องทำดีแล้ว
และจงทำต่อไป (นางกัญญารัตน์ เพชรรัตน์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
โรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว)
ดิฉันอาจจะไม่ได้อยู่ร่วมกระบวนการจนครบ
แต่ส่วนมากก็อยู่ และได้สอบถามผู้ร่วมเวทีแล้ว สรุปได้ว่า
ประทับใจทีมงานของพวกเรามาก นี่เป็นเพียงการจุดประกายเบื้องต้น ต่อไปมี KPI ที่พวกเราต้องไปร่วมกันทำตามวิชาที่ได้ในเวทีนี้ร่วมกัน
คือ หมู่บ้านจัดการสุขภาพ Node ละ 2 หมู่บ้าน
โดยมีงบประมาณ สนับสนุน ทั้งจากโครงการนี้ Node ละ 10,000
และ จาก โครงการ R2R อีก Node ละ 6,000 รวมแล้วได้รับ Node ละ
16,000 ก็ขอให้พวกเราทำงานร่วมกันด้วยดี
อย่างน้อยก็ในฐานะที่เราเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ดิฉันขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆคน (นางอนงค์ลักษณ์ ฤทธิวุฒิ หัวหน้ากลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว
)
ดิฉันคิดว่าเป็นเวทีที่วิเศษสุดสำหรับพวกเรา เดิมที ไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่า นสค.คืออะไร แต่เดี๋ยวนี้รู้แล้วว่า คือ พวกเราต้องช่วยเหลือกันทำงานให้เกืดความสุขร่วมกัน แล้วจะส่งผลให้ประชาชนมีความสุข เวทีนี้ถือเป็นเวทีประวัติศาสตร์ ในรอบ 45 ปี ที่ก่อตั้ง โรงพยาบาลมา ( พิสมัย แก้วพิลึก พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลคำเขื่อนแก้วโรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว )
เมื่อก่อน ดิฉันทำงานที่โรงพยาบาลมหาชนะชัย รับผิดชอบเป็นเรื่องๆ เฉพาะ ไม่มากมาย อยู่ภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ นัดวันพฤหัส คนไข้มาวันอังคารก็หงุดหงิด ให้บาปเขากลับไปก็มี เมื่อมาอยู่ สถานีอนามัย เข้าใจชาวบ้านมากขึ้น ไปมาหาสู่กันเสมอ รู้จักกันทุกครอบครัว จึงได้รู้ว่า ที่เขาไม่มาตามนัด มันมีหลายสาเหตุ มีหลากหลายปัจจัย ทำไมเราต้องยึดติดกับกฎที่เขาไม่ได้สร้าง เรามีแต่ขีดให้เขา เวลาราษฎรไม่ตรงกับราชการ แต่ข้าราชการ ปรับเวลาให้บริการกับราษฎรได้ คือสิ่งที่ สถานีอนามัยสอนดิฉัน ปัจจุบัน บางครั้งมาขอยาคุม ตี 2 ก็ต้องให้ มาขอถุงยาง ตี 3 ก็ต้องให้ เพราะจุดประสงค์ คือการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ และป้องกันเอดส์ได้ หากเราไม่ให้ จะส่งผลเสียอีกมากมาย เช่น ท้องก่อนวันอันควร หรือติดเชื้อ ซึ่งก็ต้องเป็นภาระแก่เรา มากกว่า ที่เรา เพียง หยิบ ยาคมุ หยิบถุงยางให้เขา ( นางสนิท สัสสี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ดงแคนใหญ่ )
นสค.คือการที่เรา ต้องพัฒนาตนเอง พัฒนาทีมงาน โดยการเรียนรู้ร่วมกัน มี รพ.สตง มีพื้นที่ มีชุมชน มีชาวบ้าน เป็นโรงเรียนที่สอนเรา ให้ความรู้เรา เราต้องให้สิ่งที่ดีๆ ส่งเสริมให้เขาสามารถช่วยเหลือตนเองได้ (
ภก.กฤษดา จักรไชย เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
ดงแคนใหญ่ )
No comments:
Post a Comment