2/29/12

ไหว้พระแก้วบุษราคัม วัดศรีอุบลรัตนาราม(วัดศรีทอง)



วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 ไหว้พระแก้วบุษราคัม วัดศรีอุบลรัตนาราม(วัดศรีทอง)

ผม นายพันธุ์ทอง จันทร์สว่าง ไปพร้อมกับ ครอบครัว ไหว้พระ พระแก้วบุษราคัม ณ วัดศรีอุบลรัตนาราม

ระหว่างที่รอไหว้พระ ประทับใจบทเทศนาจากพระภิกษุ เรื่อง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว สั้นๆประทับใจว่า

คนที่มี จะเข้าใจในสุภาษิตนี้ ส่วนคนที่ไม่มี สัมมาทิฏฐิ ก็จะไปแปลงว่า ทำดีได้มีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป

สัมมาทิฏฐิหรือความเข้าใจถูกเกี่ยวกับโลกและชีวิตนั้น คือการรู้ว่าอะไรเป็นบุญ – อะไรเป็นบาป อะไรเป็นดี - อะไรเป็นชั่ว อะไรควร – อะไรไม่ควร เชื่อว่ามีบุญ เชื่อว่ามีบาป เชื่อว่ามีภพนี้ เชื่อว่ามีภพหน้า ก็จะส่งผลถึงการกระทำที่ จะระมัดระวังในทุกการกระทำของตนเอง เพราะการกระทำทุกอย่าง นอกจากจะส่งผลต่อตนเองในชาตินี้แล้ว ยังจะส่งผลยาวไปถึงชาติหน้า ฉะนั้น คนที่ทำแต่ความดี ก็จะบังเกิดผลดีต่อชีวิตไปเรื่อยๆ ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า คนที่ทำแต่ความชั่ว ก็จะบังเกิดผลชั่วต่อชีวิตไปเรื่อยๆ ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เช่นกัน...

ผมนึกถึงป้ายคำสอนที่วัดหนองป่าพงของ หลวงปู่ชา สุภัทโท “…ถ้าไม่ละความชั่วแล้วบุญมันจะเข้าไปสู่จิตใจของเราได้อย่างไร เข้ามาไม่ได้นะบุญ..

วันนี้มี พล.ร.ท.สุชีพ ช้างเสวก และ คณะ จากกรมแพทย์ทหารเรือ มาไหว้ พระแก้วบุษราคัม ณ วัดศรีอุบลรัตนารามด้วย อาทิเช่น พล.ร.ต.ญ.พัชนารท ศรีสมนคร น.อ.ญ.พิมไพร สุทธิวรรณ น.ต.ถนอม ประสงค์สุวรรณ เป็นต้น

วัดศรีอุบลรัตนารามเดิมชื่อวัดศรีทอง เป็นวัดธรรมยุตินิกาย สร้างในปีพุทธศักราช 2389 หลังจากสร้างวัดสุปัฏนารามวรวิหารแล้ว 2 ปี เป็นปีที่ 5 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สถานที่ตั้งวัดเดิม เป็นที่สวนของอุปฮาดโท (ต้นตระกูล ณ อุบล) บิดาของพระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล) ในพื้นที่ 25 ไร่ พระอุปฮาดโท พร้อมด้วยบริวารและคณะญาติ ได้ประกอบพิธีกรรมประชุมคณะสงฆ์และฝ่ายคฤหัสถ์ใหญ่ในเมืองอุบล กล่าวถวายที่ดินยกให้เป็นสมบัติในพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่ตั้งวัด วันนั้นเกิดนิมิตประหลายมีแสงสว่างพวยพุ่งขึ้นเป็นสีเหลืองทองภายในบริเวณสวน จึงได้ถือนิมิตมงคลตั้งชื่อวัดว่า วัดศรีทอง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีฝังลูกนิมิตและยกช่อฟ้า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2511 ปัจจุบัน วัดศรีอุบลรัตนาราม ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อ พ.ศ. 2522
ความสำคัญของวัดศรีอุบลรัตนาราม
1. เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของบรรดาเหล่าข้าราชการ ในสมัยการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช
2. เป็นวัดที่ประกอบพิธีน้ำมูรธาภิเษก (พิธีปลุกเสกน้ำในงานบรมราชาภิเษกพระเจ้าแผ่นดิน) ในสมัยรัชกาลที่ 6 รัชการที่ 7 และรัชการที่ 9
3. เป็นวัดที่มีโบราณวัตถุล้ำค่า คือ พระแก้วบุษราคัม พระทิพย์เนตร พระทองทิพย์ และเครื่องมือเครื่องใช้ในพุทธศาสนาจำนวนมาก โดยจัดแสดงไว้ในศาลาการเปรียญ (หอแจก)

ประวัติพระแก้วบุษราคัม

พระแก้วบุษราคัม เป็นพระพุทธรูปบูชา หน้าตักกว้าง ๓ นิ้ว สูงประมาณ ๕ นิ้ว แกะสลักด้วยแก้วบุษราคัม (แก้วมณีสีเหลือง) ทึบทั้งแท่ง พระเศียรหุ้มเป็นเม็ด พระศกทองคำ มีพระสังวาลประดับที่องค์พระ มีฐานหุ้มด้วยทองคำ เป็นพระพุทธรูปผีมือช่างสกุลเชียงแสนปางมารวิชัย
พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปโบราณ มีอายุมากว่าพันปีแล้ว ได้อัญเชิญมาจากกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) เดิมเป็นสมบัติของเจ้าปางคำ ซึ่งเป็นผู้มาสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลำภูในปัจจุบัน) เมื่อเจ้าปางคำถึงแก่อนิจกรรม เจ้าพระตาผู้เป็นบุตรก็ครองเมืองแทนพระบิดา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๑๔ เจ้าพระตาเสียเมืองนครเขื่อนขันธ์ฯ แก่พระเจ้าสิริบุญสารแห่งกรุงเวียงจันทน์ และถึงแก่อนิจกรรมในสนามรบ เจ้าพระวอผู้เป็นบุตร ได้อพยพออกจากเมืองนครเขื่อนขันธ์ฯ ได้อัญเชิญพรแก้วองค์นี้มาด้วย มาสร้างบ้านสิงห์โคก, บ้านสิงห์ท่า (จังหวัดยโสธร) บ้านดอนมดแดง (จังหวัดอุบลราชธานี) บ้านดู่, บ้านแก่(แขวงเมืองเก่าปากเซประเทศลาว) ต่อมาพระเจ้าสิริบุญสารสั่งให้พระยาสุโพนำทัพมาตี เจ้าพระวอออกรบและเสียทีแก่ข้าศึกถึงแก่อนิจกรรมในสนามรบ เจ้าคำผงผู้เป็นบุตรได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสืบต่อมา ภายหลังได้มาสร้างเมืองอุบลราชธานี และได้รับโปรดเกล้าฯ จากรัชกาลที่ ๑ ให้เป็นพระปทุมวรราชสุริยวงศ์ เจ้าเมืองอุบลราชธานีและได้สร้างวัดหลวงเป็นวัดที่ประดิษฐานพระแก้วบุษราคัม
พระแก้วบุษราคัม ประดิษฐานอยู่ในวัดหลวงจนสิ้นอายุขัยพระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ต่อมาท้าวเพี้ยกรมการเมืองอุบลฯ เกรงว่าข้าหลวงจากกรุงเทพฯ ที่จะมาตรวจราชการที่เมืองอุบลฯ จะขอเอาพระแก้วบุษราคัมไปทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ จึงพยายามปกปิด และนำไปซุกซ่อนไว้ซึ่งไม่ให้ผู้ใดทราบที่อยู่
ต่อมามีผู้หวังดีชาวเมืองอุบลฯ คิดได้ว่าพระเทวธัมมี (ม้าว) เจ้าอาวาสวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) ซึ่งเป็นสัมธิวิหาริกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ตอนเสด็จออกผนวช ท่านอาจจะเป็นที่เกรงขามของข้าหลวงจากกรุงเทพฯได้ ถ้าหากพวกเขาเหล่านั้นจะออกปากขอพระแก้วบุษราคัมไป ดังนั้นจึงได้อัญเชิญพระแก้วบุษราคัมจากที่ซุกซ่อนมาถวายให้อยู่ในความคุ้มครองของพระเทวธัมมี (ม้าว) ที่วัดศรีทอง (ศรีอุบลรัตนาราม) เพราะมั่นใจว่ามีท่านผู้เดียวเท่านั้นที่จะรักษาพระแก้วบุษราคัม ได้อย่างปลอดภัยที่สุด ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองไว้เป็นสมบัติของชาวเมืองอุบลราชธานีต่อไป

พระแก้วบุษราคัม จึงเป็นพระพุทธรูปศักดิ์ศิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดอุบลราชธานี องค์หนึ่งในสมัยมีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ใช้เป็นพระพุทธรูปในการประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา (พิธีดื่มน้ำสาบาน) ของบรรดาข้าราชการในสมัยนั้น ในเทศกาลสงกรานต์ วันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปีของชาวเมืองอุบลฯ จะจัดขบวนแห่พระแก้วบุษราคัมรอบเมืองอุบลฯ เพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนทั่วทุกสารทิศได้นมัสการ ขอบพระคุณ ข้ออมูล ดีดี จาก http://109wat.com/bk01.php?id=258

No comments:

Post a Comment