3/13/10

ประโยชน์ของน้ำตา : tear therapy


วันที่ 11 มีนาคม 2553 ประโยชน์ของน้ำตา : ในการอบรม ปฐมบท-ปฐมภูมิ กลไกการพัฒนาและรับรองมาตรฐานเครือข่ายระบบบริการปฐมภูมิ (PCA) ณ โรงแรม อินเตอร์ รีสอร์ท อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี มีสิ่งที่พวกเราประทับใจ ที่ทำให้มีความสุข อย่างน้อย 2 อย่าง คือ การหัวเราะ และการร้องไห้ วันนี้ ผม นายพันธุ์ทอง จันทร์สว่าง ขอนำเรื่อง เกี่ยวกับ น้ำตา tear therapy
น้ำตา
โดยทั่วไปเรามักถือว่าน้ำตาเป็นเครื่องหมายของความอ่อนแอ ความพ่ายแพ้ผิดหวัง เป็นความทุกข์ความเศร้าที่ไม่อยากพบ อยากได้ จึงไม่มีใครอยากจะคิดถึงรวมทั้งหาคำตอบใดๆ เกี่ยวกับน้ำตา หรือการร้องไห้เลย แม้ว่าอาจเคยมีความสงสัยอยู่บ้าง ทำไมผู้หญิงจึงร้องไห้ง่ายกว่าผู้ชายหรือสงสัยว่า น้ำตานอกจากจะใช้ในการร้องไห้แล้วจะใช้ประโยชน์อย่างอื่น ได้อีกหรือไม่
ที่จริงธรรมชาติสร้างน้ำตามาให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์หลายประการ ตั้งแต่มีน้ำตาไว้ทำความชุ่มชื้นแก่ดวงตา ช่วยป้องกันการอักเสบ ติดเชื้อของดวงตา ใช้ล้างสิ่งระคายเคืองออกจากตา ใช้เรียกร้องความเห็นอกเห็นใจ ความสงสารจากผู้พบเห็น ใช้เป็นเครื่องมือในการระบายเอาความทุกข์โศกออกไปจากจิตใจ นอกจากนี้น้ำตายังทำให้กวี และนักประพันธ์เพลงหลายยุคหลายสมัย ได้ใช้ประโยชน์ในการสร้างสรรค์วรรณกรรมชิ้นเอก ที่ประทับใจผู้คนไว้มากมาย
นักชีวเคมีแห่งศูนย์วิจัยน้ำตา ชื่อ วิลเลี่ยม เฟรย์ ได้ให้ความสนใจและทำการศึกษาวิจัยเรื่องของน้ำตา มาเป็นเวลานานกว่า 15 ปี ได้เขียนผลการวิจัยไว้น่าสนใจคือ
การหลั่งน้ำตาของคนเรานั้นถูกควบคุมโดยต่อมน้ำตา ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดความเข้มของน้ำตา และควบคุมปริมาณ การขับถ่ายธาตุแมงกานีส รวมทั้งแร่ธาตุอื่นๆ ที่ร่างกายสร้างขึ้นขณะที่อารมณ์เปลี่ยนแปลงออกไปจากร่างกาย และพบว่า ปริมาณของแร่ธาตุต่างๆ ที่มีในน้ำตานั้น มากกว่าที่มีในกระแสเลือดถึง 30 เท่า และได้อธิบายว่า การที่ผู้ร้องไห้จะสบายขึ้น เป็นเพราะว่าร่างกายได้ขจัดเอาสารเคมีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะที่มีความทุกข์ออกไปจากร่างกายพร้อมน้ำตานั่นเอง ในการศึกษาของเฟรย์พบว่าผู้ชาย 73% และผู้หญิง 75% ที่กล่าวว่ารู้สึกสบายขึ้นหลังการร้องไห้
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ ในเรื่องส่วนประกอบทางเคมีของน้ำตาที่หลั่ง เนื่องจากสาเหตุที่แตกต่างกันพบว่า ประกอบด้วยสารเคมีบางอย่าง ที่เหมือนกันและบางอย่างที่แตกต่างกัน ซึ่งได้มีการทดลอง โดยใช้ชายหญิงจำนวนร้อยคนหลั่งน้ำตาด้วยสาเหตุที่แตกต่างกัน 2 วิธีคือ วิธีแรกโดยการหั่นหัวหอมสดทำให้เกิดการระคายเคืองตา น้ำตาก็จะไหลออกมา กับอีกวิธีหนึ่งก็คือกระตุ้นให้เกิดความรู้สึก สะเทือนอารมณ์โดยให้ดูภาพยนต์ 3 เรื่อง ที่ดูแล้วจะกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ แล้วนำน้ำตาที่หลั่งเนื่องจากสาเหตุทั้งสอง มาวิเคราะห์หาส่วนประกอบดูความเหมือนและความแตกต่าง
พบว่าส่วนประกอบที่แตกต่างกันก็คือ ปริมาณของโปรตีนในน้ำตา น้ำตาที่หลั่งเนื่องจากความรู้สึกสะเทือนอารมณ์จะมีโปรตีนสูงกว่า น้ำตาที่หลั่งเนื่องจากการระคายเคืองตาถึง 24% และเราสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ผู้ที่ร้องไห้มากสาเหตุจากสะเทือนอารมณ์มักจะมีสุขภาพทรุดโทรมลง อย่างรวดเร็ว ซึ่งน่าจะเป็นเพราะร่างกายต้องสูญเสียโปรตีนสูง ประกอบกับในภาวะดังกล่าวมักจะมีอาการนอนไม่หลับร่วมด้วยนั่นเอง
จะเห็นได้ว่าน้ำตานั้นมิได้เป็นสิ่งที่ไร้ค่าไร้ประโยชน์เอาเสียเลยทีเดียว และการร้องไห้ก็ไม่น่าจะถือเป็นเรื่องเสียหายอะไร จนจำเป็นต้องใช้ความพยายามในการสะกดกั้นหลีกเลี่ยง ในยามที่มีความทุกข์เราก็ควรจะร้องไห้เพื่อระบายความทุกข์นั้น ออกไปเสียบ้างแต่ที่สำคัญต้องไม่ลืมที่จะถนอมรักษาสุขภาพไว้บ้าง เพื่อเก็บแรงเก็บกำลังไว้คิดหาหนทางต่อสู้แก้ไขปัญหาที่มีอยู่ ให้ลุล่วงไปโดยเร็วน่าจะถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องมากกว่า
ส่วนประกอบของน้ำตา
น้ำตานั้นประกอบด้วยสารเคมี 3 ชนิดที่ทราบกันดีว่า เป็นสารเคมีที่เกิดขึ้นใน ขณะที่ร่างกายอยู่ในภาวะตึงเครียดได้แก่ สารเอนโดฟินซึ่งเชื่อว่าเป็นตัวรู้สึกผ่อนคลายความรู้สึกเจ็บปวด ชนิดที่ 2 คือ เอซีพีเอช (ACPH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ถือได้ว่า เป็นตัวบ่งชี้ได้มากที่สุดว่าร่างกายกำลังอยู่ในภาวะถูกกดดัน และสารเคมีตัวที่ 3 ซึ่งเป็นตัวสำคัญที่นำมาใช้อธิบาย ความแตกต่างระหว่างเพศในเรื่องการร้องได้คือ โพรแลกติน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีหน้าที่โดยตรงในการผลิตน้ำนม ในสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม โพรแลกตินนี้ จะเป็นตัวส่งเสริมการผลิตน้ำตาด้วย
จากข้อค้นพบนี้ได้ถูกนำมาอธิบายความแตกต่าง ระหว่างเพศชายและหญิงในเรื่องการร้องไห้ว่า เพราะผู้หญิงที่โตเป็นผู้ใหญ่มีระดับฮอร์โมนโพรแลกติน ในกระแสเลือดสูงกว่าในวัยเดียวกันถึงเกือบ 60% จึงทำให้ผู้หญิงร้องไห้ง่ายกว่าผู้ชาย สำหรับในวัยเด็กจนถึงวัยแรกรุ่น เด็กชายและเด็กหญิงจะมีระดับทางฮอร์โมนโพรแลกติน ใกล้เคียงกันจึงพบว่าเด็กชายและเด็กหญิงร้องไห้บ่อยพอๆ กัน
สำหรับผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน ซึ่งมีระดับของฮอร์โมนโพรแลกตินลดลงอย่างรุนแรงนั้นมักจะพบว่า มีอาการตาแห้ง ซึ่งเนื่องมาจากต่อมน้ำตา หลั่งน้ำตามาหล่อลื่นได้ไม่เพียงพอ ผู้ที่มีอาการเช่นนี้ความสามารถในการหลั่งน้ำตาเสียไปบ้าง จึงทำให้หลั่งน้ำตาได้ช้า แม้จะเกิดความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ และด้วยเหตุผลนี้คนไข้บางรายจึงรักษาอาการตาแห้ง โดยวิธีคิดถึงเรื่องที่สะเทือนอารมณ์ จนน้ำตาไหลออกมา และนี่ก็คงนับได้ว่าเป็นประโยชน์อีกประการหนึ่งของน้ำตาคือ ใช้รักษาโรคทางกายบางโรคได้ ขอบพระคุณ ข้อมูล จาก ที่มา : http://www.elib-online.com/

No comments:

Post a Comment