10/9/14

9ตค2557:ลุย_ยโสธร_งานแอลกอฮอล์และยาสูบ_กับ_มาตรการทางกฎหมาย

9ตค2557:ลุย_ยโสธร_งานแอลกอฮอล์และยาสูบ_กับ_มาตรการทางกฎหมาย
วันที่9ตุลาคม 2557 วันนี้ผม นายพันธุ์ทอง  จันทร์สว่าง เข้าร่วมประชุม การพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินงานแอลกอฮอล์และยาสูบ
ณ ห้อง มรกต โรงแรมเจพี เอมเมอรัลด์ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร
ประธาน โดย นายแพทย์สุใหญ่ หลิ่มโตประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร
วัตถุประสงค์หลักของ การดำเนินงาน แอลกอฮอล์และยาสูบ คือ ป้องกันเด็กและเยาวชน มิให้เข้าถึง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ซึ่ง เน้นไปที่ การควบคุม เรื่อง บุคคล เวลา และสถานที่ ในการเข้าถึง ฉะนั้นเวทีนี้
จึงเป็นเวทีทีดี ที่พวกเราในฐานะสหวิชาชีพ จะได้ร่วมกัน ป้องกันเด็กและเยาวชน ของเรา มิให้เข้าถึง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ต่อไปนายแพทย์สุใหญ่ หลิ่มโตประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร
เนื้อหาหลัก ประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จากทุกอำเภอ
และ การให้ความรู้ด้านกฎหมาย จาก นายธีรภัทร์ ปรีชาพิริยะกุล นิติกร สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี 
            แนวปฏิบัติ หากมีการกระทำความผิด ในสถานที่ราชการ
ผู้ถูกจับคือ ผู้บริหารสูงสุดขงหน่วยงานนั้น และผู้กระทำความผิดในกรณีความผิดนั้นๆ

ประเด็นคำถาม เจ้าของร้านไม่ยอมเปิดเผยชื่อไม่ยอมลงชื่อ รับทราบการตรวจจะทำอย่างไร
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ไปด้วยกัน ร่วมกันลงลายมือชื่อในเอกสารการตรวจให้คำแนะนำ นั้นๆได้ ใช้เป็น
หลักฐานทางกฎหมายได้

ประเด็นคำถาม พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจจับกุมได้ หรือไม่  
พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจร่วมปฏิบัติงาน แต่ อำนาจการจับกุม เป็นอำนาจหน้าที่ของ
เจ้าหน้าที่ตำรวจ และ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่ง เป็น เจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

            ข้อเสนอแนะ จากที่ประชุม
1.     ควรสนับสนุน STICKER ให้กับ ร้านค้า ร้านชำ และ ร้านอาหาร ทั่วทั้งจังหวัด ดำเนินการโดย
สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดยโสธร
2.     การออกตรวจ ควรออกตรวจเป็นทีมสหวิชาชีพ ตัวอย่างที่ดี คือ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร
ที่ออกปฏิบัติงานงานเป็นทีมทั้ง ปกครอง ตำรวจ จนท.สาธารณสุข วัฒนธรรม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โรงพยาบาล นายก อบต. ควรเพิ่ม ครูเข้ามาร่วมด้วย)
3.     การออกใบอนุญาต การขาย สุรา และบุหรี่ ควรให้ ผู้ประกอบการ ผ่านการอบรม ความรู้ ตาม พรบ.แอลกอฮอล์ และยาสูบ ให้คล้ายกับการออกใบอนุญาต ขับขี่ ของกรมการขนส่ง ที่ผู้ที่จะได้ใบอนุญาต ต้องมีความรู้ในการขับขี่ก่อน ( ปานพกรณ์ หูตาชัย จาก สำนักงานสาธารณสุขอำเภอคำป่าติ้ว )เป็นต้น
เวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีนี้ดำเนินการประชุม โดย นางประชุมพร   กวีกรณ์ หัวหน้างกลุ่มงานควบคุมโรคไม่ติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร
นางสาวกชพร จันทร์เสละ   นักวิชาการสาธารณสุข  ชำนาญการ
นางเกศินี มีชัย นักวิชาการสาธารณสุข  ชำนาญการ
นางส่งศรี มูลสาร  นักวิชาการสาธารณสุข  ชำนาญการ
นายเจษฎา อมรศิลป์ นิติกร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร
และคณะงานควบคุมโรคไม่ติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร












การแลกเปลี่ยนประสบการและหาแนวทางการดำเนินงานภายใต้พระราชบัญญัติ 3 ฉบับ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
2.1  พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551
2.2  พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535
2.3  พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535
2.4 ประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง หลักเกณฑ์การแบ่งเงินรางวัลหรือวิธีปฏิบัติในการจ่ายเงิน และแบบการขอรับเงินสินบนรางวัล ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.. ๒๕๕๑ พ.. ๒๕๕๕ 
2.5 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขาย หรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสวนสาธารณะ ของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ พ.. ๒๕๕๖ ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2556
สาระสำคัญ 1. ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นร้านค้าหรือสโมสร
2. ห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล หรือสโมสร หรือการจัดเลี้ยงตามประเพณี
3. ประกาศนี้ไม่ใช้บังคับกับองค์การสุรา
คำว่า สโมสร หมายถึง สโมสร เฉพาะที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากสถานที่ของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งโดยเจตนารมณ์จะหมายถึงสโมสรที่เปิดบริการเป็นการประจำหรือถาวร
คำว่า “การจัดเลี้ยงตามประเพณี” คือ การจัดเลี้ยงในงานแต่งงานเท่านั้น เนื่องจากในขณะร่างกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับนี้ ได้มีการอภิปรายในประเด็นข้อยกเว้นไว้แต่เพียงว่าให้มีการดื่มได้เฉพาะการจัดเลี้ยงในงานแต่งงานที่ชาวบ้านมักจะมาขอใช้สถานที่ของจังหวัด หรือหน่วยงานในท้องถิ่นนั้นเป็นสถานที่จัดงานแต่งงาน จึงได้มีการยกเว้นไว้ในงานแต่งงาน
2.6 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง พ.ศ. 2555
ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๕ เป็นต้นไป
มีอำนาจตามกฎหมาย ตาม ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง พ.ศ. 2555 คือ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ รวมถึงตำรวจชั้นสัญญาบัตรผู้มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป และเนื่องจากการฝ่าฝืนประกาศซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นความผิดทางอาญา ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วไปจึงมีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมายนี้ด้วย
คำว่า ทางตามประกาศฉบับนี้ ให้ใช้นิยามคำว่า “ทาง” ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ กล่าวคือ "ทาง" หมายความว่า ทางเดินรถ ช่องเดินรถ ช่องเดินรถประจำทาง ไหล่ทาง ทางเท้า ทางข้าม ทางร่วมทางแยก ทางลาด ทางโค้ง สะพาน และลานที่ประชาชนใช้ในการจราจร และให้หมายความรวมถึงทางส่วนบุคคลที่เจ้าของยินยอมให้ประชาชนในการจราจรหรือที่เจ้าพนักงานจราจรได้ประกาศให้เป็นทางตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย แต่ไม่รวมไปถึงทางรถไฟ
ดังนั้น ทางทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นของเอกชนหรือของราชการ ไม่ว่าจะมีการจ่ายเงินก่อนผ่านทางหรือไม่ก็ตาม หากประชาชนทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์ทางนั้นในการจราจรหรือสัญจรไปมาได้ ก็ถือเป็น ทางตามความหมายนี้แล้ว
คำว่า รถให้ใช้คำนิยามตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ (๑๕)
"รถ" หมายความว่า ยานพาหนะทางบกทุกชนิด เว้นแต่รถไฟและรถราง
ดังนั้น คำว่า รถ ตามกฎหมายนี้รวมถึงยานพาหนะทางบกทุกชนิด เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน รถม้า เกวียน และเลื่อนหรือรถลากทุกชนิดที่มีการใช้กำลังทั้งเครื่องจักรและสัตว์ทุกชนิด
หมายเหตุ รถตามความหมายนี้ไม่รวมถึง
ไม่รวมถึงรถไฟและรถราง ซึ่งมีกฎหมายการรถไฟ บังคับใช้เป็นการเฉพาะ
ไม่รวมถึงรถเข็นคนพิการ
ไม่รวมถึงรถเข็นสำหรับเด็กเนื่องจากถือเป็น คนเดินเท้า (ตามนิยามมาตรา ๔ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒) หรือ
ไม่รวมถึงสัตว์พาหนะต่างๆ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย (เนื่องจากมีพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ. ๒๔๘๒)
ประเด็นคำถาม หากมีคนโดยสารนั่งรถแท็กซี่กลับบ้านโดยมีอาการมึนเมา จะสามารถรับขึ้นรถได้หรือไม่
ตอบ กรณีคนเมานั่งรถแท็กซี่กลับบ้าน หากไม่มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในรถนั้น ก็ไม่มีความผิด กฎหมายมุ่งเอาผิดเฉพาะผู้ที่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางในขณะขับขี่หรือโดยสารอยู่ในรถเท่านั้น ดังนั้น ผู้โดยสารที่เพียงแต่มีอาการมึนเมามาก่อนแล้ว แต่ไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรถ ก็ไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด

ประเด็นคำถาม จะมีวิธีตรวจสอบอย่างไรในการจับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมายนี้
ตอบ ความผิดตามกฎหมายนี้จะต้องมีการพบเห็นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถโดยชัดเจน    ซึ่งต้องเป็นความผิดที่พบเห็นซึ่งหน้า ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารอยู่บนรถก็ตาม หากพบแต่เพียงว่ามีอาการมึนเมาหรือพบขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรถ ก็อาจยังไม่ใช่ความผิดสมบูรณ์ เพียงแต่มีเหตุสงสัยให้สอบถามหรือตักเตือนก่อนได้
ประเด็นคำถาม ข้อสังเกตที่ควรพิจารณาในอนาคต บนรถไฟฟ้า หรือรถไฟฟ้าใต้ดินจะสามารถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้หรือไม่
ตอบ คำว่า รถตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ หมายความว่า ยานพาหนะทางบกทุกชนิด เว้นแต่รถไฟและรถราง
ดังนั้น รถไฟฟ้า หรือรถไฟฟ้าใต้ดิน ก็ถือเป็นรถประเภทเดียวกันกับรถไฟและรถราง จึงไม่ถูกควบคุมตามกฎหมายนี้
ประเด็นคำถาม  กรณีพบเห็นผู้กระทำผิดซึ่งหน้า ประชาชนสามารถจับกุมส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีได้หรือไม่
ตอบ ประชาชนไม่มีอำนาจจับผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าในความผิดตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับดังกล่าว แต่สามารถแจ้งต่อตำรวจให้จับกุมผู้กระทำความผิดนั้นได้ เนื่องจากตำรวจมีอำนาจจับผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ  ประชาชนที่พบเห็นการกระทำความผิดซึ่งหน้าตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับดังกล่าว สามารถแจ้งตำรวจให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ดังนี้
            แจ้งด้วยวาจาต่อตำรวจที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
โทรศัพท์แจ้งไปยังสถานีตำรวจในท้องที่นั้น
โทร ๐๒ ๕๙๐ ๓๓๔๒ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนบุหรี่และสุรา สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ประเด็นคำถาม กรณีผู้โดยสารซื้อเครื่องดื่มขึ้นดื่มบนรถ ผู้ขับขี่จะมีความผิดตามประกาศนี้หรือไม่
ตอบ หากผู้ขับขี่มิได้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย ย่อมไม่มีความผิดตามประกาศนี้ อย่างไรก็ตาม หากมีพฤติการณ์ว่าผู้ขับขี่ได้กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถ เช่น จัดเตรียมสถานที่หรืออุปกรณ์ภาชนะสำหรับบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้อำนวยความสะดวก เป็นต้น ผู้ขับขี่ย่อมมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนได้
ประเด็นคำถาม กรณีมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรถมีความผิดตามประกาศนี้หรือไม่
ตอบ การมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรถ แต่ไม่ได้บริโภค ไม่เป็นความผิดตามประกาศนี้
ประเด็นคำถาม กรณีผู้โดยสารนั่งรถสาธารณะ ซึ่งก่อนหน้านี้มีผู้โดยสารซื้อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วทิ้งขวดเหล้าหรือกระป๋องเบียร์ไว้ ผู้โดยสารที่อยู่ในรถ ในประเด็นนี้จะมีความผิดตามประกาศนี้หรือไม่
ตอบ ผู้โดยสารที่อยู่ในรถ แต่ไม่ได้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่มีความผิดตามประกาศนี้
ประเด็นคำถาม กรณีผู้โดยสารเมาพูดจาไม่รู้เรื่องแต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรถ จะมีความผิดตามประกาศนี้หรือไม่
ตอบ ผู้โดยสารที่มีอาการมึนเมา แต่มิได้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรถ ไม่มีความผิดตามประกาศนี้

ประเด็นคำถาม กรณีจอดรถริมทาง นั่งดื่มในรถมีความผิดตามประกาศนี้หรือไม่
ตอบ เป็นความผิด เนื่องจากประกาศนี้ห้ามผู้ใดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางในขณะขับขี่หรือในขณะโดยสารอยู่ในรถหรือบนรถ ดังนั้น การจอดรถริมทางดื่มก็ยังเป็นความผิดตามกฎหมายนี้ ซึ่งรวมถึงกรณีที่รถจอดอยู่นิ่งๆ ด้วยไม่ว่าจะติดเครื่องหรือไม่ก็ตาม เพราะถือว่าโดยสารอยู่ในรถ

ประเด็นคำถาม กรณีจอดรถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารริมทาง มีความผิดตามประกาศนี้หรือไม่
ไม่เป็นความผิดตามประกาศนี้ เพราะตามกฎหมายนี้ไม่รวมถึงผู้ที่นั่งดื่มบนทางหรือริมทางที่ไม่ได้โดยสารอยู่ในรถ

ประเด็นคำถาม ถ้าผู้โดยสารปฏิเสธว่าไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรถ ทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานโดยอ้างว่าเป็นของผู้อื่น ผู้โดยสารจะโดนข้อหาขัดขืนการจับกุมหรือไม่ และในทางปฏิบัติกฎหมายให้อำนาจในการตรวจแอลกอฮอล์ได้หรือไม่
ตอบ กรณีที่ ๑ หากมีหลักฐานไม่เพียงพอ หรือไม่ใช่ความผิดที่พบเห็นซึ่งหน้า ตำรวจยังไม่สามารถจับกุมได้ แต่อาจว่ากล่าวตักเตือน และชี้แจงถึงข้อกฎหมายได้
กรณีที่ ๒ หากมีหลักฐานหนาแน่นเพียงพอ เช่น พบเห็นขวด หรือกระป๋องที่เปิดแล้วอยู่ในมือ ประกอบด้วยมีพฤติการณ์ที่อยู่ในลักษณะมึนเมา หรือมีพฤติการณ์อื่นที่ใกล้เคียงกับความผิดซึ่งหน้าที่เห็นว่ากำลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่บนรถ ตำรวจก็สามารถจับกุมได้
ทั้งนี้ การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ กฎหมายจราจรทางบกให้อำนาจในการตรวจเฉพาะคนขับเท่านั้น แต่ผู้โดยสาร กฎหมายไม่ให้อำนาจในการตรวจได้ อย่างไรก็ตาม ฐานความผิดตามประกาศฉบับนี้ไม่จำเป็นต้องมีอาการมึนเมาหรือมีระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายในปริมาณที่เกินกว่าที่กำหนด หากพบว่ามีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางในขณะขับขี่หรือโดยสารอยู่ในรถหรือบนรถก็ถือเป็นความผิดสมบูรณ์แล้ว

ประเด็นคำถาม  กรณีรถที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบค๊อกเทลเคลื่อนที่ตามแหล่งท่องเที่ยว มีความผิดตามประกาศนี้หรือไม่
ตอบ ไม่เป็นความผิด ตามประกาศนี้ เพราะประกาศนี้ไม่ได้ห้ามการขายบนทาง หรือบนรถ แต่กรณี  รถที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบค๊อกเทลเคลื่อนที่ตามแหล่งท่องเที่ยว จะถือเป็นความผิดฐานเร่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๓๐(๒) รวมถึงขายโดยไม่มีใบอนุญาตขายสุราด้วย

ประเด็นคำถาม  กรณีผู้โดยสารไปเที่ยวสถานบันเทิงหรือไปกินอาหารที่ร้านอาหารทั่วไป หลังจากนั้น นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เหลือไว้ในรถ จะมีความผิดตามประกาศนี้หรือไม่
ตอบ การนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เหลือจากการบริโภค ณ สถานที่อื่น แล้วนำเข้ามาในรถ แต่มิได้บริโภคในขณะขับขี่หรือในขณะโดยสารอยู่ในรถหรือบนรถ ก็ไม่ถือเป็นความผิดตามประกาศนี้

ประเด็นคำถาม ความผิดตามประกาศนี้เข้าข่ายคดีอาญา สามารถยอมความ หรือเปรียบเทียบปรับได้หรือไม่
ตอบ ความผิดตามประกาศนี้ เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว จึงไม่อาจยอมความได้ แต่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ในชั้นพนักงานสอบสวน โดยหากเป็นความผิดครั้งแรกให้ปรับ ๓,๐๐๐ บาท

ประเด็นคำถาม พื้นที่ โฆษณาจะต้องมีขนาดไม่เกินร้อยละ เท่าใดของพื้นที่โฆษณาทั้งหมด
การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่มีข้อยกเว้น โดยเฉพาะตามมาตรา32 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมาย ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้าง สรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม ซึ่งเป็นการห้ามในประเทศ แต่หากการโฆษณามีแหล่งกำเนิดมาจากนอกประเทศ จะอยู่ในข้อยกเว้น สามารถกระทำได้ตามเวลาจริงที่ถ่ายทอดสด ไม่ผิดกฎหมาย
ภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ปรากฏในสื่อโฆษณา จะต้องมีขนาดไม่เกินร้อยละ 5 ของพื้นที่โฆษณาทั้งหมด และไม่เกินร้อยละ 5 ของเวลาโฆษณาทั้งหมด และอนุญาตให้โฆษณาได้ตั้งแต่เวลา 22.00-05.00 น. ซึ่งการแสดงภาพสัญลักษณ์ดังกล่าวต้องแสดงไว้ตอนท้ายของการโฆษณาเท่านั้นพร้อมทั้งจะต้องมีเสียงคำเตือนในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประกอบด้วย และที่สำคัญจะไม่สามารถแสดงโลโก้ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างการถ่ายทอดสดได้ไม่ว่าเวลาใดก็ตาม เพราะถือว่าเป็นการทำขึ้นในประเทศ ไม่ใช่เป็นสัญญาณที่มาจากต่างประเทศ อีกทั้งการแสดงโลโก้ก็จะต้องไม่เกินร้อยละ 5 ของเวลาโฆษณา

ประเด็นคำถาม การแบ่งขายยาสูบ ยาเส้น ทำไมผิดกฎหมาย
ตอบ ผิดเพราะกฎหมายระบุว่า บรรจุภัณฑ์ ของยาสูบต้องมีภาพคำเตือน ที่แสดงพิษภัยของยาสูบที่ ต้องเป็นภาพสี ตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงรูปภาพ ข้อความคำเตือนเกี่ยวกับพิษภัยและช่องทางติดต่อเพื่อการเลิกยาสูบ ในฉลากของบุหรี่ซิกาแรต พ.ศ. ๒๕๕๖ ลงวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๖ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๖ และมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๖ ซึ่งประกาศฉบับดังกล่าวบังคับให้บุหรี่ซิกาแรตที่ผลิตหรือนำเข้าในราชอาณาจักรต้องแสดงฉลากรูปภาพ ข้อความคำเตือนถึงพิษภัยของบุหรี่และช่องทางติดต่อเพื่อการเลิกยาสูบบนซองผลิตภัณฑ์ทุกซอง โดยมีขนาดพื้นที่ร้อยละ ๘๕ ของซองทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และกำหนดให้บุหรี่ซิกาแรต ที่บรรจุอยู่ในกล่องหรือกระดาษหุ้มห่อซองหรือภาชนะบรรจุบุหรี่ซิกาแรต (Carton) มีจำนวน ไม่ต่ำกว่า ๑๐ ซอง ต้องแสดงฉลากรูปภาพจำนวน ๑๐ แบบต่อ ๑ กล่อง ในกรณีบุหรี่ซิกาแรตที่บรรจุอยู่ในกล่องหรือกระดาษหุ้มห่อซองหรือภาชนะบรรจุบุหรี่ซิกาแรต (Carton) มีจำนวนต่ำกว่า ๑๐ ซอง ต้องแสดงรูปภาพโดยที่แบบไม่ซ้ำกัน

ประเด็นคำถาม ภาพคำเตือนใหม่ 10 แบบ พร้อมข้อความคำเตือน มีอะไรบ้าง
ภาพคำเตือนใหม่ 10 แบบ พร้อมข้อความคำเตือนมีดังนี้ 
1.โปรดงดสูบบุหรี่ในบ้าน
2.ควันบุหรี่ฆ่าเด็กได้ 
3.สูบบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็งกล่องเสียง 
4.สูบบุหรี่ทำให้หัวใจวาย 
5.สูบบุหรี่ทำให้เส้นเลือดสมองแตก 
6.สูบบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็งปาก 
7.สูบบุหรี่ทำให้เซ็กส์เสื่อม 
8.สูบแล้วปากเหม็นบุหรี่ 
9.สูบบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็งปอด และ
10.สูบแล้วทรมานจนตายจากถุงลมพอง    

ประเด็นคำถาม ฉลากรูปภาพ ข้อความคำเตือนถึงพิษภัยของยาเส้น ต้องเป็นรูปภาพ 4 สี
ประกอบด้วยภาพพร้อมข้อความคำเตือน มีอะไรบ้าง
คำตอบ ยาเส้นหรือยาเส้นปรุงที่ผลิตหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร ต้องจัดให้มีการแสดง
ฉลากรูปภาพ ข้อความคำเตือนถึงพิษภัยของยาเส้นหรือยาเส้นปรุงและช่องทางติดต่อเพื่อการเลิกยาสูบ
เป็นรูปภาพ ๔ สี ดังต่อไปนี้
แบบที่ ๑ รูปภาพประกอบข้อความคำเตือน สูบยาเส้นเป็นมะเร็งปอดตาย
แบบที่ ๒ รูปภาพประกอบข้อความคำเตือน สูบยาเส้นเป็นมะเร็งกล่องเสียง
แบบที่ ๓ รูปภาพประกอบข้อความคำเตือน สูบยาเส้นเป็นมะเร็งช่องปาก
แบบที่ ๔ รูปภาพประกอบข้อความคำเตือน ควันยาเส้นทำให้เป็นมะเร็ง ๑๐ ชนิด
หมายเหตุ ผู้เข้าร่วม ประชุม จากอำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ประกอบด้วย
ร.ต.ท.วินัย แสนสุข รองสาวัตร สภ.คำเขื่อนแก้ว
ส.ต.ท.พัชรพงษ์ พลเยี่ยม สภ.คำเขื่อนแก้ว
น.ส.จิราภรณ์ ศิริพัฒน์ โรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว
นายณรงค์เดช บุญไธสง     จพ.เภสัชกรรมชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ดงแคนใหญ่

            นายวสันต์ ระดมเล็ก ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร

No comments:

Post a Comment