สรุปความเป็นมาและสาระสำคัญ พระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2551
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2551 ขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติ-แห่งชาติเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติดังกล่าวได้รับการประกาศในราชกิจจา-นุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ 125 ตอนที่ 31 ก เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 จึงทำให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ทั้งนี้หมายเหตุท้ายพระราชบัญญัตินี้ ได้ระบุถึงเหตุผลในการประกาศใช้ความว่า
“เนื่องจากปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้วิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาและขยายสาขาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมถึงวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ สมควรจัดตั้งสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและควบคุมการประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติดังกล่าว นอกจากจะอำนวยประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการส่งเสริมและควบคุมการประกอบวิชาชีพโดยสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว ยังเกิดประโยชน์แก่สังคม โดยมีสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้ทำหน้าที่ควบคุมจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนควบคุมมิให้ผู้ที่ขาดความรู้ความสามารถเข้ามาประกอบอาชีพในสาขาวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม ซึ่งหากไม่มีการควบคุมบุคคลเหล่านั้นอาจทำให้เกิดความผิดพลาดที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนและสังคมโดยรวมได้
อย่างไรก็ตามบริบทในเรื่องของการควบคุมในพระราชบัญญัติฉบับนี้ มิได้เป็นการควบคุมนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีให้ขาดอิสรภาพทางด้านวิชาการในการทำงานแต่อย่างใด และการที่ผู้ประกอบวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในแต่ละสาขามารวมตัวกันเป็นสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น ทุก ๆ สาขาวิชาชีพก็จะได้ร่วมกันกำหนดทิศทางในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก่อให้เกิดพลังที่เข้มแข็งเพื่อที่จะผลักดันให้เกิดพัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศในแบบก้าวกระโดดต่อไป
กำหนดกลุ่มวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ออกเป็น 4 กลุ่มวิชา เพื่อให้ได้รับการส่งเสริม ตามที่ปรากฏในมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2551 ได้แก่
(1) กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
(2) กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
(3) กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร และ
(4) กลุ่มวิชาสหวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การกำหนดกลุ่มวิชาดังกล่าวจำแนกตาม ISCED/OECD/UNESCO และยังได้เทียบเคียงกับตำแหน่งกลุ่มสายงานของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน จึงทำให้การกำหนดกลุ่มวิชานี้กว้างขวางและครอบคลุมทุกสาขาวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกคนสามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกและรับสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมจากสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ทั้งหมด จากเดิมที่การดูแลผู้ประกอบวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดำเนินการโดยสมาคมต่าง ๆ ซึ่งอาจไม่ครอบคลุมทุกสาขาวิชาชีพ
กำหนดสาขาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม สำหรับสาขาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี้ หากปล่อยให้ผู้ที่ไม่มีความรู้ความสามารถเข้ามาดำเนินการ จะมีความ เสี่ยงสูงในการทำให้เกิดความเสียหายหรืออุบัติภัยร้ายแรงที่เป็นอันตรายโดยตรงกับประชาชนและสังคมโดยรวมได้ ดังนั้นในพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงได้มีการกำหนดสาขาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมไว้ในมาตรา 3 เป็น 4 สาขา ได้แก่
(1) สาขานิวเคลียร์
(2) สาขาการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านวิทยาศาสตร์ และการควบคุม-มลพิษ
(3) สาขาการผลิต การควบคุม และการจัดการสารเคมีอันตราย และ
(4) สาขาการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ และการใช้จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค
นอกจากนี้ในอนาคต หากปรากฏว่ามีสาขาวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเกิดขึ้นใหม่ และมีลักษณะอันควรควบคุมเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็สามารถเสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้กำหนดสาขาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมเพิ่มเติมได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ดังปรากฏในมาตรา 6 ประกอบกับมาตรา 10 อนุมาตราที่ 5 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้
..อีกครั้งนะครับ ..จำชื่อ บุคคล เหล่านี้ เอาไว้ ท่านคือ ผู้มีพระคุณ อันยิ่งใหญ่ ของพวกเรา ....แม้ว่าจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นก็ตาม..ท่านนิรุจน์ อุทธา ประธานสภาหมออนามัยแห่งชาติ...อาจารย์ กอบแก้ว อัครคุปต์ หัวหน้าสำนักผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รศ.โรจน์ คุณเอนก หัวหน้าภาควิชา วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยธรมศาสตร์ ท่านก่อให้แล้ว พวกเรา สานต่อ ให้ บรรลุ เจตนารมณ์ นะครับ... รายละเอียดเพิ่มเติม ศึกษาได้ จาก http://www.most.go.th/home.htm
No comments:
Post a Comment