วันที่ 30 ธันวาคม 2553 ดงแคนใหญ่โมเดลยุทธศาสตร์เพื่อก้าวสู่บริการสาธารณสุขยุคใหม่: วันสุดท้าย ของการปฏิบัติงาน ในปี พ.ศ. นี้ ผมนายพันธุ์ทอง จันทร์สว่าง ขอส่งท้ายปีเก่า ด้วยการ สรุป สุดยอดผลงานแห่งปี ๒๕๕๓ ของเราด้วย บทความนี้ครับ Dongkaenyai Model The best Practice of KKK DHO :
ผลงานรวมของทีมงาน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอคำเขื่อนแก้ว ของเราได้ ได้ตีพิมพ์ ใน วารสารสุขศาลา ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๕๓ ชื่อเรื่อง วิทยา เพชรรัตน์ ผู้พัฒนาทฤษฎีสามเหลี่ยมจากเขยื้อนภูเขา เป็นดงแคนใหญ่โมเดลยุทธศาสตร์เพื่อก้าวสู่บริการสาธารณสุขยุคใหม่ ความว่า
จากการแถลงนโยบายของรัฐบาล นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งเน้นการปรับปรุงบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น โดยการยกระดับสถานีอนามัย เป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล( รพ.สต.) และส่งเสริมบทบาทของท้องถิ่นให้ร่วมมาผลิตบุคลากรสาธารณสุขเพื่อกลับไปทำงานในท้องถิ่นนั้น
หน่วยงานสาธารณสุขระดับปฐมภูมิจังหวัดยโสธร นำโดยคุณ วิทยา เพชรรัตน์ สาธารณอำเภอคำเขื่อนแก้ว นายพันธุ์ทอง จันทร์สว่าง ผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอคำเขื่อนแก้ว พร้อมทีมงาน ได้ดำเนินการพัฒนาสถานีอนามัยตำบลดงแคนใหญ่เพื่อยกระดับเป็น รพ.สต โดยอาศัยทฤษฎี สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ของ ศ.นพ. ประเวช วะสี เป็นแนวทางดำเนินงาน
บริการได้มาตรฐาน บริหารได้คุณภาพอย่างโปร่ง ทันสมัยระบบสารสนเทศ คือวิสัยทัศน์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร ซึ่งคุณวิทยาอธิบาย เพิ่มเติมว่า การที่จะบริการได้ มาตรฐานบริหารได้อย่างโปร่งใสนั้นต้องเข้าใจปัญหาสาธารณสุขใน 3 ประเด็นหลักๆด้วย นั่นคือ
ประเด็นที่ 1 แนวโน้มปัญหาสาธารสุขแต่ละพื้นที่คล้ายกันทั่วประเทศนั่นคือโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย เช่นบาหวาน ความดัน หัวใจ หรือเรียกกันยอๆว่า NCD:Non Communicable Disease จะต้องมุ่งไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพประชาชนมากกว่ารักษา โดย ทีมสหวิชาชีพและพยาบาลเวชปฎิบัติ (แก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ได้ด้วย)
ประเด็นที2 ปัญหาสาธารณสุข อันเนื่องมาจากความซับซ้อนของปัญหาสังคมที่มีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม การทำงานยุคนี้หรือยุคหน้าจะต้องทำงานเป็นทีม ไม่ใช่ การทำงานแบบ one man show
ประเด็นที่ 3 ในปัญหาแพทย์ขาดแคลน ในพื้นที่ชนบทยังคงมีอยู่ต่อไป
“แนวทาการดำเนินงานทั้ง 3 ประเด็นขอที่นี่เป็นอย่างไร”
ผมมองว่าในเมื่อปัญหาของการเจ็บไข้ ได้ป่วยคือโคเบาหวาน ความดัน หัวใจ ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังแต่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมสุขภาพของแต่ละคน ดังนั้นการแก้ปัญหาจะต้องเริ่มต้นที่หน่วยบริการระดับปฐมภูมิ (Primary care) หรือที่สถานีอนามัย หรือศูนย์สุขภาพชุมชน หรือ ศูนย์แพทย์ชุมชน หรือ โรงพยาบาลตำบล หรือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ที่อยู่ใกล้ชิดกับปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรม ซึ่งรวมถึงการแก้และปรับปรุงโครงสร้างการบริการด้วย
ถ้ามองว่านี่คือสงครามสุขภาพ พื้นที่ ปฎิบัติงานของสถานีอนามัยเปรียบเสมือนสนามรบชายแดนและหมออนามัยเป็นทหารกองหน้าที่อยู่ด่านหน้าสุดเลย ดังนั้น หมออนามัยต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของสังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์มากกว่าเดิม ด้วยการติดอาวุธทางปัญญา ถ่ายทอดความรู้ต่างๆโดยเฉพาะสิ่งที่อาจารย์หมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เคยถ่ายทอดความรู้ ให้บุคลากรหน่วยบริการปฐมภูมิ ไม่ว่าจะเป็นแผนที่เดินดิน เครื่องมือมหัศจรรย์ 7 อย่าง เวชศาสตร์ครอบครัว (Family medicine) การทำงานด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ (Humanized health care) หรือการทำงานแบบองค์รวมต่างๆ ซึ่งรวมถึงการเพิ่มบุคลากรสานงานต่างๆของสถานีอนามัย
แนวคิด ดงแคนใหญ่โมดลมีที่มาและพัฒนาการอย่างไร
ที่ผ่านมาผมไปเห็นเรื่องโรงพยาบาลตำบล หรือโรงพยาบาล 2 บาท ที่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ จากนายแพทย์พงศ์พิชญ์ วงศ์มณี และอาจารย์เกสร วงศ์มณี ก่อนมาดำรงตำแหน่งสาธารณสุขอำเภอคำเขื่อนแก้ว ผมเคยดำรงตำแหน่งสาธารณสุขอำเภออยู่อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร และเริ่มโครงการโรงพยาบาลตำบล แห่งแรก ที่ ตำบลศรีฐาน ด้วยการนำรูปแบบจาก หล่มสัก มาดำเนินการประยุกต์ใช้ แต่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการ เพราะบริบทของ ศรีฐาน มีความแตกต่างจากจากหล่มสักมาก การเรียนรู้จากอำเภอหล่มสัก และตำบลศรีฐาน พบว่ามีหลายประเด็นที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน เฉพาะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขนั้น ไม่สามารถขับเคลื่อนทางสังคมโดยลำพังได้แน่ ประชาชนในชุมชนรู้จักทุกบริบทชุมชนดีที่สุด การเริ่มต้นทำงานโดยมีจุดเริ่มที่ชุมชนมีความยั่งยืนและถือเป็นชัยชนะในเบื้องต้น แต่ต้องเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วม จากทุกภาคส่วนให้มากที่สุด
ชุมชนต้องสามารถพึ่งตนเองได้มากกว่าเดิม ระบบบริการสาธารณสุขนั้นต้องไปสนับสนุนให้ประชาชนมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นในการจัดบริการขั้นพื้นฐาน จะต้องให้ในระดับบุคคลมีความเข้มแข็งในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพโดยตัวของเขาเอง จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้
การบูรณาการที่ยั่งยื่น เกิดจากชุมชนมีส่วนร่วม หากยึดติดที่ตัวเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ หมออนามัย อย่าลืมว่าหมออนามัย ใน ทุก สถานีอนามัยนั้น ต้องมีวาระการเกษียณอายุราชการ มีการเคลื่อนย้ายไปปฏิบัติงานในที่อื่นๆ ถ้าชุมชนมีส่วนร่วมการพัฒนา ความยั่งยืนจะตามมาอย่างแน่นอน
คิดว่าบริการสุขภาพแนวใหม่ควรเป็นแบบใด
ระบบสาธารณสุขแนวใหม่เกี่ยวข้องกับแนวคิด 2 ด้าน
ด้านหนึ่งพึ่งตนเอง ต้องการให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ ไมว่าจะเป็นการเรื่องการกิน การนอน การพักผ่อน ออกกำลังกายต่างๆ เพราะการมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม การจัดการกับสุขภาพตนเอง (Self care) จะลดการเจ็บป่วยได้มหาศาล แต่ต้องใช้ระยะเวลา
อีกด้านหนึ่งพึ่งบริการของรัฐ พบว่าประมาณร้อยละ 80ชาวบ้านได้รับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ (สถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลตำบล หรือโรงพยาบาล
ส่งเสริมสุขภาพ) อีกประมาณร้อยละ 20 ไปรับบริการที่โรงพยาบาลอำเภอ หรือโรงพยาบาลจังหวัด
ถ้าสามารถพัฒนาสถานีอนามัย พัฒนาโรงพยาบาลตำบล พัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้มีขีดความสามารถคัดกรองโรค ก็จะสามารถลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจของประชาชนได้มาก
เนื่องจากเรื่องนี้เป็นการขับเคลื่อนทางสังคมในภาพรวมทั้งองคาพยพ จึงต้องเน้นการการใช้ทฤษฎีทางสังคมมาเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อน
ทฤษฎีทางสังคมที่ว่าคืออะไร
ก่อนหน้านี้ผมเคยฟังการบรรยายของ ศ.นพ ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ท่านบอกว่า ถ้าจะขับเคลื่อนทางสังคมทั้งองคาพยพ ที่มีความซับซ้อนมาก จะต้องใช้ทฤษฎี สามเหลี่ยมเขยื้อนภูขา หมายความว่า ถ้าจะเคลื่อนทางสังคม จะต้องดึงคนจาก 3 ภาคส่วน คือฝ่ายการเมือง ฝ่ายราชการและฝ่ายประชาชน มาร่วมกันทำงาน จึงจะมีพลังการขับเคลื่อนที่มาก สามัคคีคือพลัง และ นอกจากสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา แล้วต้องผสมผสานทฤษฎี 3 C ด้วย
c : change ณ วันนี้โลกใบนี้เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม เปลี่ยนหมด สิ่งต่างๆหล่านี้ต้องเรียนรู้ อย่าไปหงุดหงิดกับการเปลี่ยนแปลง ต้องยอมรับ ใส่ใจ และตามให้ทันว่า นี่คือการเปลี่ยนแปลง
c : competiti0n การแข่งขัน การเปรียบเทียบ หรือ bench marking ผมถือว่ายุคนี้เป็นยุคที่มีความเร็วมากในการพัฒนาของประเทศถ้าใครไม่สามารถปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลง จะทำให้คนนั้นตกยุคได้ แต่ถ้าจำเป็นต้องขึ้นเวทีการแข่งขันจะต้องไม่ขึ้นกับมวยวัด ต้องขึ้นกับมวยที่มีค่าย มีชั้นเชิง หรือ มี เป้าหมายการพัฒนา เทียบกับหน่วยงานในระดับเยวกันที่มีมาตรฐานที่ดี ที่ได้รับการยอมรับในสากล
c : customer ลูกค้า ยุคนี้ต้องยอมรับว่า ลูกค้าคือคนสำคัญที่สุด ในที่นี้ลูกค้าคือประชาชนนั่นเอง โดยการทำงานจะต้องยึดถือประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ถ้าประชนพูดหรือสะท้อนอะไรต้องรับฟัง นำมาใคร่ครวญเพื่อจะแก้ปัญหาได้ สิ่งต่างๆเหลานี้ผมพยายามพูดให้ทีมงานทุกคนฟังว่า จะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิดให้ได้ หากไม่เปลี่ยนวิธีคิด ความก้าวหน้าก็ไม่มี ขอเพียงแต่เปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตก็เปลี่ยนได้
วิธีดึงและขับเคลื่อนให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมนั้นทำอย่างไร
ผมคิดว่าสิ่งสำคัญก็คือการเปลี่ยนวิธีคิดให้กับชุมชนทุกระดับ ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล ให้มีความคิดแบบจิตอาสา ทำงานเพื่อส่วนรวม ขยายวงกว้างออกไปทั้งตำบล และอำเภอ แล้วดึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันทำงาน ตั้งแต่ชุมชนถึงระดับจังหวัด โดยมีหัวหน้าสถานีอนามัยและนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นมือประสานสิบทิศในการขับเคลื่อนพล
การทำงานที่เกี่ยวข้องกับคนจุดเริ่มต้นก็คือทีมงานต้องมีความรู้และเข้าใจเรื่องคนมากขึ้น...เพราะ “สุดยอดของการบริหารงานก็คือทำอย่างไรก็ได้ที่จะให้ได้มาซึ่งคนและงาน แต่ก่อนที่จะได้งานต้องได้คนและก่อนที่จะได้คนต้องได้ใจคนมาก่อน ถ้าหมออนามัยไม่เข้าใจเรื่องคน จะไม่ได้ใจคน ส่งผลให้การทำงานขับเคลื่อนคนเป็นไปได้ยากลำบาก”
การพัฒนาสถานีอนามัยให้เป็นโรงพยาบาลตำบลจุดแรกต้องเน้นสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้ได้ก่อน จึงจะสามารถดึงทรัพยากรต่างๆในชุมชนมาพัฒนาได้ เริ่มต้นด้วยการเสนอว่า งานรักษาพยาบาลเป็นงานง่ายที่สุด ที่จะให้ชาวบ้านมาศรัทธาหมออนามัยได้มากที่สุด เช่นยาต้องไม่ขาด ชาวบ้านมาสถานีอนามัยต้องได้เจอหมออนามัย เจอเจ้าหน้าที่สาธารณสุข พูดจาไพเราะ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ ต้องเจ้าใจและตระหนักว่า ภารกิจของโรงพยาบาลตำบลก็คือการส่งเสริมสุขภาพ
ที่สำคัญคือ การทำให้สุขภาพดีภายใต้ต้นทุนต่ำ( good health at low cost) ซึ่งไม่มีอย่างอื่นแล้ว นอกจากการส่งเสริมสุขภาพ การขอความร่วมมือประชาชน ช้าและค่อนข้างยาก แม้จะเห็นผลช้าแต่เป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับสำหรับโรงพยาบาลตำบลที่จะต้องทำเรื่องนี้อยู่แล้วจะทำเลยไม่ได้ ที่สำคัญคือต้องทำให้ ตัวเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้รับความเชื่อถือ ศรัทธาจากประชาชน จึงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ และในที่สุดประชาชนจะจัดการตัวของเขาเองได้ หรือที่เรียกว่า self care
ผลการตอบรับรพ. สต.เป็นอย่างไร
ตอนแรกๆมีกระแสคัดค้านมาก เพราะเป็นเรื่องใหม่ จึงบอกทุกคนว่าอย่าไปสนใจเรื่องการขัดแย้งที่เกิดขึ้นต้องคิดนอกกรอบ ว่าทำอย่างไรให้สถานีอนามัยมีบุคลากรที่เพียงพอ มีเงินบำรุงสำหรับบริหารงาน สิ่งของเครื่องใช้มากกว่าเก่า เพื่อจะได้ดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น หมายความว่าจะต้องคิดนอกกรอบอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจาก
1.เปลี่ยนวิธีคิดของทีมงาน ทำอย่างไรให้สถานีอนามัยมีศักยภาพเหมือนกับโรงพยาบาลขนาดย่อมๆได้
2. เปลี่ยนแปลงสัญลักษณ์เชิงโครงสร้าง เช่นป้ายจากสถานีอนามัย เปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลตำบล และปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม เหมือน health resort ให้คนมองเห็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงสัญลักษณ์อย่างชัดเจน 3.เปลี่ยนพฤติกรรมการให้บริการ ในอดีต โรงพยาบาลหรือ สถานีอนามัยมักถูกต่อว่า หรือมีเสียงสะท้อนจาก ประชาชนว่า หน้างอ รอนาน บริการเฮงซวย อะไรต่างๆ ที่ไม่ดีมากมาย เพราะฉะนั้นต้องเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ สถานีอนามัย ต้อง หน้าไม่งอ รอไม่นาน บริการดี นั่นเอง
งบประมาณดำเนินการได้มาจากไหนบ้าง
ปัญหาเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้พัฒนาสถานีอนามัย เป็นประเด็นที่สนใจมากๆ เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่างบประมาณที่ใช้ในบริการสาธารณะให้โอนไปที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท)
แปลว่างบประมาณที่เคยอยู่หน้าตักของกระทรวงสาธารณสุขปัจจุบันได้ถูกโยกไปที่หน้าตักขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต) เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นการทำงาน ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะต้องเป็นกัลยาณมิตรกับ นายก อบต และหน่วยงานอื่นๆ ที่มีอยู่ในท้องกถิ่น
ในเบื้องต้น ตอนที่ผมกับทีมงาน วางแผนไว้ ว่า ถ้าจะให้ สถานีอนามัยดงแคนใหญ่ของเรา ให้บริการประชาชนได้ ดีเหมือนเป็นสถานีอนามัยในอุดมคติ นั้น สถานีอนามัยตำบลดงแคนใหญ่ต้องการงบประมาณสัก 1 ล้นบาท เพื่อปรับปรุงโครงสร้างให้เป็นโรงพยาบาลตำบล เริ่มด้วยการระดมทุนจาก 3 ภาคส่วนตามทฤษฏี”สามเหลี่ยมเขย้อนภูเขา” ฉะนั้น แต่ละส่วนก็จะต้องมีงบประมาณสนับสนุน ประมาณส่วนละ ๓ แสนบาท ประกอบด้วย ประชาชน 3 แสนบาท องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต) 3 แสนบาท และสำน้กงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ ) 3 แสนบาท
เงินจาก องค์การบริหารส่วนตำบล( อบต . ) นั้น ไม่ยากเลย เพราะ สมาชิกสภา อบต . ส่วนมาก ก็ มาจาก อสม . ของเรา หรือ เป็นคนในหมู่บ้าน ที่คุ้นเคยกันอยู่แล้ว เขาพร้อมที่จะผ่านร่างงบประมาณประจำปีให้ เพียงแต่ หมออนามัย ต้อง มีทักษะในการประสานงานที่ดี รู้ว่า เขาจะเสนอแผนงาน โครงการช่วงไหน ก้ เสนอโครงการสู่ สภา อบต . ได้ เป็นต้น
สิ่งที่ท้าทายก็คือเงิน 3 แสนบาทจากประชาชนในพื้นที่ จะได้มาโดยวิธีใด ผมใช้สูตรจากการนำตัวเลข 3 แสนตั้ง หารด้วยจำนวนประชากรดงแคนใหญ่ทั้งหมด (ที่มีชี่อในทะเบียนบ้านเฉลี่ย 2บาทต่อคน ใช้วิธีเก็บ คนละ 2บาทต่อคน ต่อเดือน เก็บ ครั้งเดียว ปีละ ๒๔ บาท สมมติว่ามีประชากรหมื่นคน คนละ2บาท/คน/เดือนคือปีละ24บาท/คน(24คูณ 1 หมื่นบาทจะได้เงินสมทบจากประชาชน2แสน 4หมื่นบาท
ถ้าประชาชนลงขัน2แสน 4หมื่นบาท, อบต 2แสน4หมื่นบาท,และรัฐ(สสจ)2แสน4หมื่นบาท รวม3ส่วนคือสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ก็จะเป็นเงิน 7แสน 2หมื่นบาท เนกองทุนโรงพยาบาลตำบล
การบริหารเงิน”กองทุนโรงพยาบาลตำบล”ทำอย่างไร
สำหรับการบริหารเงินกองทุนผมให้เน้นทุกหมู่บ้านมีส่วนร่วมนการบริหารงานเป็นหลักด้วยการเลือกตัวแทนจากทุกหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 3 คน
คนที่ 1 คือผู้ใหญ่บ้าน(มาโดยตำแหน่ง)เพราะผู้ใหญ่บ้านช่วยเรื่องการจัดระเบียบสังคม เป็นคนแก้ปัญหาหรือไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชน
คนที่ 2 -3 เลือกกันเองจากประชาชนในหมู่บ้านนั้นจำนวน 2 คน เพื่อช่วยกันบริหารเงินกองทุนฯ
รวมความแล้วคณะกรรมการโรงพยาบาลตำบลที่จะมาดูแลที่จะมาดูแลกองทุนนี้ มาจากหมู่บ้านละ ๓ คนบริหารภายใต้มติของคณะกรรมการ
จากการดำเนินงาน โรงพยาบาลตำบลดงแคนใหญ่พบว่ากองทุนปีแรกได้มาจากเงินประชาชนจำนวน180,135บาท (ร้อยละ16.37 ) องค์การบริหารส่วนตำบล( อบต . ) ดงแคนใหญ่ จำนวน520,000บาท (รอยละ47.27)และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร สี่แสนบา(ร้อยละ36.36) รวมแล้วเป็นเงิน11,000,135ล้านบาท
โดยสรุปแล้ว ถ้า ใช้หลักว่า สุขภาพของคน ในพื้นที่ใด ก็ ให้คนในพื้นที่นั้นเขาดูแล ฉะนั้น ในอนาคต งบประมาณ จาก อบต. ต้องเป็นหลัก ไม่ใช่เงินจากประชาชน เพราะ อบต . มีหน้าที่ต้องจัดสรรงบประมาณ เพื่อพัฒนา ด้านสุขภาพอนามัยอยู่แล้ว แต่เงินจากประชาชนนั้นสำคัญมาก ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ต้องระดมมาให้ได้ เพราะเงินเพียง ๒ บาท ก็จริง แต่ ความยิ่งใหญ่ ที่ซ่อนอยู่ คือ ความตระหนักว่า ตนเอง ได้ มีส่วนร่วม เป็น เจ้าของ โรงพยาบาลตำบล และ กลับกัน เงิน ๒ บาท นี้ ก็เป็นพันธะสัญญาใจ กับ หมออนามัยว่า ต้อง ให้บริการที่ดี กับ เจ้าของ โรงพยาบาลตำบลเช่นกัน เงิน ๒ บา ของประชาชน นี่คือจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมและการทำงานเชิงสังคม
เงินกองทุนที่ได้นำมาใช้แก้ปัญหาการขาดแคลนคนในด้านต่างๆ เช่น แก้ปัญหาการขาดแคลนเงินงบประมาณ แก้ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์เช่น จ้างบุคลกรเพิ่ม ต่อเติมอาคาร จ้างบุคลากรมาทำงานเชิงรุก ซือเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ
การบริการในสถานบริการมีการให้ค่าตอบแทนแพทย์ ที่มาปฏิบัติงานประจำทุกวันพุธตอนเช้าเช้า ใช้งบประมาณพัฒนาภูมิสถาปัตย์ ปรับปรุงโครงสร้างต่างๆ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นจาก 5-6 คน เป็น 12-13 คน ทำให้มีการทำงานเชิงรุกในชุมชนได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมไข้เลือดออกควบคุมโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือมะเร็งต่างๆ เพราะมีเจ้าหน้าที่เพียงพอ สามารถทำงานเชิงรุกได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ”
ถามว่า ใครได้รับประโยชน์จากนโยบาย โรงพยาบาลตำบล บ้าง
“จากการวิเคราะห์ตามหลักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข พบว่า ถ้าประชาชนไปรับการบริการที่โรงพยาบาลอำเภอคำเขื่อนแก้วมีมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ของประชาชน ครั้งละ 87 บาท แต่ถ้ามาที่ โรงพยาบาลตำบลดงแคนใหญ่เฉลี่ยแล้ว 8 บาท ถูกมากเลย แปลว่า ถ้าเขามีเงิน 100 บาท จำเป็นต้องเข้าถึงบริการของรัฐ เขามาที่โรงพยาบาลตำบล เขาจะเสียค่าใช้จ่ายเพียงร้อยละ 10 หรือ 8 บาท สามารถลดค่าใช้จ่ายของชาวบ้านได้ร้อยละ 90 หรือ 90 บาท ซึ่งทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก
ประชาชนสามารถได้รับบริการของรัฐที่ดีขึ้น สามารถเข้าถึงบริการที่ดีมาก ลดค่าใช้จ่ายได้ เป็นบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น ได้รับบริการแบบองค์รวม ซึ่งเป็นแนวคิดเชิงปฐมภูมิที่สุดยอดมาก ฝ่ายการเมืองก็ชื่นชม มีความสุขมาก เพราะได้รับความชื่นชมและคะแนนนิยมจากการจัดสรรเงิน 4-5 แสนบาทต่อปี
ส่วนของชุมชน ก็เป็นชุมชนที่อบอุ่น เข้มแข็ง ลดความขัดแย้ง เพราะเป็นการทำงานแบบฝ่ายการเมือง ฝ่ายประชาชน ฝ่ายข้าราชการ หัวหน้าเข้าหากัน ทำให้ชุมชนรักกัน
อีกทั้งยังสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเป็นการทำงานแบบบูรณาการและแสวงหาการมีส่วนร่วมของรากเหง้าในชุมชนอย่างยั่งยืน
สาเหตุที่ในปัจจุบันยังคงใช้คำว่า “โรงพยาบาลตำบล” และตั้งเป้าหมายในการยกระดับสถานีอนามัยทุกแห่งในคำเขื่อนแก้วเป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล( รพ.สต.) อย่างไร
“โรงพยาบาลตำบล เป็นคำพูดติดปากของคนในชุมชนที่เรียกกันมานาน อีกทั้ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ เป็นคำใหม่ที่คนในชุมชนไม่คุ้นซิน ไม่ว่าจะเรียกอะไรต่างก็มีเป้าหมายหลักเหมือนกันคือ การส่งเสริมสุขภาพประชาชน
“จากการประเมินสถานการณ์ และการดำเนินงานของสถานีอนามัย 4-5 แห่งที่ปรับเปลี่ยนวีการดำเนินงานเป็น รพ.สต. ไปแล้วนั้นอยู่ในข่ายที่น่าพอใจ และผมตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปีงบประมาณ 2554 สถานีอนามัยทุกแห่งของอำเภอคำเขื่อนแก้วจะปรับเปลี่ยนเป็น รพ.สต. ทั้งหมด ที่ผ่านมามีคนมาดูงาน ที่ นี่ หรือ เรียกง่ายๆว่า “ดงแคนใหญ่โมเดล” จำนวนมาก คิดว่าน่าจะขึ้นป้ายเป็น “ศูนย์เรียนรู้เรื่องโรงพยาบาลตำบล” เพราะเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสาธารณสุขที่ทำให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกิดขึ้นได้จริงและใกล้ชิดกับประชาชน เกิดขึ้นจาก ที่นี่คือ “ดงแคนใหญ่โมดล” นั้นเป็นผลงานจากความคิดนอกกรอบและกล้าตัดสินใจทำบนฐานของการเรียนรู้และประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับสุขภาพของประชาชนอย่างแท้จริง ที่คุณวิทยา เพชรรัตน์ สาธารณสุขอำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร มุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน รพ.สต. ระดับประเทศ
No comments:
Post a Comment