9/6/11

จริยธรรมในวิชาชีพกฎหมาย






วันที่ 4 กันยายน 2554 จริยธรรมในวิชาชีพกฎหมาย

ในกิจกรรมการอบรมเข้ม ชุดประสบการณ์วิชาชีพกฎหมาย รหัสวิชา 41444 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ในวันนี้ เนื้อหาประสบการณ์หลัก ภาคบ่ายวันนี้ คือ

ไม่ว่าจะเป็นจริยธรรมในวิชาชีพกฎหมายวิชาชีพใดก็ตาม ย่อมจะหลีกเลี่ยงหรือไม่กล่าวถึงความยุติธรรมไม่ได้ กล่าวคือ จริยธรรมของวิชาชีพกฎหมาย ทุกวิชาชีพจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม จึงมีปัญหาที่ตามมาว่า ความยุติธรรม มีความหมายว่าอย่างไร

ความยุติธรรม เป็นคำที่ให้คำนิยามได้ยากที่สุดคำหนึ่งในทุก ๆ ภาษา ตามพจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถานให้คำนิยามคำว่า ยุติธรรม ว่าคือ ความเที่ยงธรรม ความชอบธรรม ความชอบด้วยเหตุผล และ

คำว่าเที่ยงธรรม มีความหมายว่า ตั้งตรงด้วยความเป็นธรรม

พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานแก่นักกฎหมายในโอกาสต่าง ๆ ในเรื่องความยุติธรรม มีดังนี้

กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรม หากเป็นเพียงบทบัญญัติหรือปัจจัยที่ตราไว้เพื่อรักษาความยุติธรรม ผู้ใดก็ตาม แม้ไม่รู้กฎหมาย แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติด้วยความสุจริตแล้วควรจะได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายเต็มที่ ตรงกันข้าม คนที่รู้กฎหมายแต่ใช้กฎหมายไปในทางทุจริต ควรต้องถือว่าทุจริต และกฎหมายไม่ควรคุ้มครองจนเกินเลยไป เพราะฉะนั้นไม่สมควรจะถือว่าการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินมีวงกว้างอยู่เพียงแต่ขอบเขตของกฎหมาย จำเป็นต้องขยายออกไปให้ถึง ศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุและผลความเป็นจริงด้วย

( พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตร แก่ผู้สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของ

สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันจันทร์ 29 ตุลาคม 2522)

จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ ทำให้เห็นได้ว่า ความยุติธรรม เป็นหัวใจและรากฐานของ คุณธรรม และ จริยธรรม ในวิชาชีพกฎหมาย จึงมีปัญหาต้องพิจารณาต่อไปว่า เราจะก่อให้เกิดความยุติธรรม และจะรักษาความยุติธรรมไว้ได้อย่างไร

ความยุติธรรมในวิชาชีพกฎหมายจะเกิดขึ้นได้โดยอาศัยหลักสองประการ กล่าวคือ

ประการแรก จะต้องฝึกฝนตนเองให้เป็นคนที่รอบรู้กฎหมาย กล่าวคือ จะต้องรู้กฎหมายโดยละเอียดถี่ถ้วนทั้งในกฎหมายสารบัญญัติ และ วิธีสบัญญัติ หากรู้กฎหมายไม่ดี นอกจากจะไม่สามารถให้ความยุติธรรมแล้ว อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่คู่ความหรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้

นอกจากจะต้องรู้กฎหมายเป็นอย่างดีแล้ว ยังต้องมีความรอบรู้ในวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเป็นอย่างดี รวมตลอดทั้งจะต้องมีความรอบรู้ในเหตุการณ์ต่าง ๆ ของบ้านเมือง

ในเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ ศาลาดุสิตาลัย วันที่ 6 พฤศจิกายน 2518 มีความว่า

เมื่อกฎหมายของเราดีอยู่แล้ว จุดใหญ่ที่สำคัญที่สุดในการธำรงรักษาความยุติธรรมในบ้านเมือง จึงได้แก่การสร้างนักฎหมายที่ดีที่จะสามารถวิเคราะห์และใช้กฎหมายได้ตรงจุดประสงค์ ข้าพเจ้าจึงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้ทุกคนสร้างตนให้เป็นนักกฎหมายที่ดีที่แท้ โดยฝึกตนให้มีความกล้าในอาชีพของนักกฎหมาย คือกล้าที่จะปฏิบัติการไปตามความถูกต้องเที่ยงตรงทั้งตามกฎหมายและศีลธรรม ไม่ปล่อยให้ภยาคติ คือ ความเอียงเอนไปด้วยความหวาดกลัวในอิทธิพลต่าง ๆ เข้าครอบงำสำหรับเป็นกำลังส่งให้ทำงานได้ด้วยความองอาจ มั่นใจ และมุมานะ อีกประการหนึ่งต้องฝึกให้มีความเคารพเชื่อมั่นในสัจธรรมคือความถูกต้องตามคลองธรรม ตามความเป็นจริงอย่าง มั่นคง ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม ไม่เห็นสิ่งอื่นใดว่ายิ่งไปกว่าความจริง สำหรับป้องกันมิให้ความ อยุติธรรม และความทุจริตเกิดขึ้น

นักกฎหมายต้องรู้ว่ากฎหมายต่าง ๆ ที่ผู้ร่างกฎหมายและผู้มีหน้าที่ออกฎหมายบัญญัติมานั้น แม้ในขณะร่างกฎหมายผู้ร่างและผู้บัญญัติกฎหมายจะคิดและเข้าใจว่ากฎหมายที่ออกมาครอบคลุมปัญหาในขณะร่างหรือปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไดัอย่างดีและเป็นธรรมแล้ แต่เมื่อนำกฎหมายดังกล่าวไปใช้และปฏิบัติ ความจริงอาจไม่เป็นที่คาดหวังไว้ รวมทั้งปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภายหลังมีข้อเท็จจริงและมูลเหตุของปัญหาแตกต่างออกไปตามสมัยและความเจริญก้าวหน้าของสังคม ดังนั้น เราผู้ใช้กฎหมายจึงต้องคำนึงว่ากฎหมายที่มีอยู่นั้นเป็นเพียงหลักกว้าง ๆ เท่านั้น และเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่มีความตั้งใจจะนำไปใช้ให้เกิดความเป็นธรรม ในเรื่องนี้พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานแก่นักกฎหมายในโอกาสต่าง ๆ มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า

กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือในการรักษาความยุติธรรม จึงไม่ควรจะมีความสำคัญยิ่งไปกว่าความยุติธรรม หากควรจะต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมายและอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณาคดีใด ๆ โดยคำนึงถึงแต่ความผิดความถูกตามกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นดูเป็นการไม่เพียงพอ ต้องคำนึงถึงความยุติธรรมซึ่งเป็นจุดประสงค์ของกฎหมายด้วยเสมอ

พระราชดำรัสดังกล่าวตรงกับรากฐานของความเป็นธรรมที่ว่า ผู้ใช้กฎหมายจะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมก่อนกฎหมาย โดยเหตุนี้กฎหมายจึงเป็นเพียงแต่เครื่องมือหรืออุปกรณ์อย่างหนึ่งที่ผุ้ร่างกฎหมายบัญญัติไว้ เพื่อนำไปสู่ความเป็นธรรม โดยผู้ร่างกฎหมายเชื่อว่าถ้าเราทำตามกฎเกณฑ์ของกฎหมายแล้ว นั้นคือความเป็นธรรม หรือจะนำไปสู่ความเป็นธรรมได้ แต่ในทางปฏิบัติหาเป็นเช่นนั้นเสมอไปไม่ เพราะบางครั้งเมื่อนำไปใช้อาจพบปัญหาใหม่เกิดขึ้นที่ผู้ร่างกฎหมายไม่เคยคาดคิดมาก่อน รวมทั้งบางครั้งการแปลใช้กฎหมายตรง ๆ อาจไม่เป็นธรรมหรือขัดกับความเป็นธรรมได้ ฉะนั้น ในการพิจารณาปัญหาทางกฎหมายต่าง ๆ จะต้องหาความเป็นธรรมในเรื่องนั้นให้ได้เสียก่อน เมื่อได้ความเป็นธรรมแล้ว จึงผันหรือปรับความเป็นธรรมนั้นให้เข้ากับกฎหมาย จึงจะถือได้ว่าปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าว และเป็นนักกฎหมายที่ดีและมีอุดมการณ์

No comments:

Post a Comment