9/24/11

รพ.สต.เข้มแข็งด้วยงบประมาณไทยเข้มแข็ง







วันที่ 20 กันยายน 2554 รพ.สต.เข้มแข็งด้วยงบประมาณไทยเข้มแข็ง: ช่วงนี้อาจจะเป็นระยะสุดท้าย ที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล( รพ.สต.) ทุกแห่ง ได้รับ ครุภัณฑ์ และงบประมาณ ตามโครงการ ไทยเข้มแข็ง หรือ จะเรียกได้ว่า ได้เวลา ปิดฉากโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่ง โครงการไทยเข้มแข็ง เป็นโครงการที่ถือเป็นประวัติศาสตร์ของวงการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ ที่สามารถสร้างความเข้มแข็ง หรือ เพิ่มศักยภาพ ของ สถานีอนามัย เป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล( รพ.สต.) ทั่วประเทศ ให้แล้วเสร็จได้ ภายในระยะเวลาอันสั้น (1 กค 2552- 30 กค 2554) ภายใต้การสนับสนุน งบประมาณ สำหรับ สถานีอนามัย เกือบ 1 หมื่น ล้านบาท ทั้ง การพัฒนาโครงสร้างและภูมิสถาปัตย์ การสนับสนุนวัสดุ ครุภัณฑ์ ตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ การพัฒนาการบริหาร และ การพัฒนาระบบบริการ หรือ รพ.สต. 3 ดี ประกอบด้วย บรรยากาศดี บริหารจัดการดี และบริการดี

(ภาพประกอบ ขอบคุณ นายบุญทศ ประจำถิ่น จพ.สาธารณสุขชำนาญงาน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดงเจริญ และ นายอาณัติ ศรีเธาว์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทุ่งมน นายสุนทร วิริยะพันธ์ หัวหน้างานควบคุมโรคติดต่อ นางปราณี ศรีแสน นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กุดกุง )

ความเป็นมา

สืบเนื่องจากนโยบายรัฐบาล นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ข้อ 3.3.3 ปรับปรุงระบบบริการสุขภาพของภาครัฐทุกระดับให้ได้ มาตรฐาน โดยยกระดับสถานีอนามัย เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และพัฒนาระบบเครือข่ายการส่งต่อในทุกระดับให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงแนวทางการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข ที่ควรให้ความสำคัญกับระบบบริการระดับปฐมภูมิ (Primary Care) ตรงกับหลักการ สร้างนำซ่อม โดยการให้บริการเชิงรุกเน้นการป้องกันโรค เป็นการดูแลสุขภาพโดยองค์รวม จัดการกับปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ โดยให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วม มุ่งจัดการที่ต้นเหตุของปัญหาสุขภาพ พื้นที่บริการระดับตำบลจึงเป็นด่านแรกและพื้นฐานที่สำคัญ โดยเฉพาะเป็นการให้บริการแก่คนยากจนและประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ

ขอบเขตการดำเนินงาน

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมีขอบเขตการดำเนินการบริการสาธารณสุขผสมผสาน ทั้งด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การควบคุมและป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสภาพ รวมทั้งการจัดการปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชนและสังคม ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ โดยมีจุดเน้นดังนี้

1) ดำเนินการเชิงรุก โดยมุ่งเข้าหาประชาชนและชุมชนเพื่อการสร้างสุขภาพเป็นหลัก รวมทั้งมุ่งจัดการกับปัจจัยเสี่ยงที่เป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพ เช่น การดูแลทำกายภาพบำบัดที่บ้านผู้ป่วย เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ลดภาระของครอบครัว การเยี่ยมบ้านสำรวจผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (เบาหวาน ความดันโลหิตสูง) เพื่อการป้องกันโรคแทรกซ้อน การสำรวจหญิงมีครรภ์เพื่อให้มาฝากครรภ์ให้ครบก่อนคลอดเป็นการป้องกันทารกขาดธาตุเหล็กและสารไอโอดีน ร่วมกับ อบต.ดูแลพัฒนาการเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต. (มีเด็กเล็กประมาณ ๘ แสนคนทั่วประเทศ) ร่วมกับชุมชนรณรงค์ป้องกันไข้เลือดออก เป็นต้น

2) มีความเชื่อมโยงระบบบริการ โดยที่สามารถปรึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลพี่เลี้ยง หรือ ส่งต่อผู้ป่วยได้ตลอดเวลา ทั้งนี้อาจมีบริการเตียงนอนเพื่อสังเกตอาการโดยไม่รับ ผู้ป่วยไว้นอนค้างคืน และหากมีกรณีฉุกเฉิน ก็สามารถประสานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในการออกไปรับผู้ป่วยและให้การปฐมพยาบาลก่อนส่งต่อ

3) ชุมชนมีส่วนร่วม โดยมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งในการดำเนินงาน ของประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองท้องถิ่นให้สามารถร่วมกันดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัวและชุมชน อย่างยั่งยืน

การบริหารจัดการ

สนับสนุนการปฏิรูประบบการบริหารจัดการ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน/ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ราชการส่วนภูมิภาค องค์กรเอกชน โดยมีเป้าหมายร่วมให้เกิดระบบที่มีความยืดหยุ่น คล่องตัว มีความยั่งยืน มีความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ เป็นระบบที่ชุมชนสนับสนุน กำกับดูแล และรู้สึกเป็นเจ้าของ อีกทั้งเป็นการสอดรับกับนโยบายให้ค่าตอบแทนอาสาสมัครหมู่บ้าน (อสม.) เดือนละ 600 บาท ต่อคน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยให้การดำเนินการตามภาระกิจของโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบลประสบความสำเร็จ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพแบบถ้วนหน้า และมุ่งหวังให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐานได้โดยง่าย แต่อย่างไรก็ดี ปัญหาด้านการพัฒนาคุณภาพบริการของสถานีอนามัยที่ไม่เพียงพอและทั่วถึง ได้สะท้อนภาพความไม่เชื่อมั่น และไม่ไว้วางใจในบริการของสถานีอนามัย และหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ส่งผลให้เกิดการกระจุกตัว และความแออัดในการให้บริการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป รวมทั้งโรงพยาบาลระดับตติยภูมิอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ในเขตเมือง

การสนับสนุนงบประมาณ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ทำการเสนอคำขอรับการสนับสนุนการลงทุนในนโยบายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จากโครงการไทยเข้มแข็ง จำนวน 1,490 ล้านบาทและงบประมาณปกติ ประจำปี 2554 อีกจำนวน 6,000 ล้านบาท (ยังไม่รวมรถพยาบาล 829 คัน และรถกระบะอีก 63 คัน) ในการลงทุนเพื่อยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งงบประมาณเหล่านี้เป็นเพียงงบเบื้องต้นในการปรับปรุงโครงสร้าง และจัดระบบเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลแม่ข่าย แต่ยังไม่รวมถึงบุคลากรซึ่งจะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอีกเป็นเวลานาน

บทสรุป

ประเทศไทยได้พัฒนาระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี โดยมีสถานีอนามัย กระจายไปสู่ระดับตำบลทั่วประเทศและมีโรงพยาบาลชุมชนทุกอำเภอ ทั้งนี้ในระยะสิบปีที่ผ่านมา ความต้องการบริการสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนและ โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทว่าสถานีอนามัยส่วนใหญ่ยังมีข้อจำกัดในด้านศักยภาพ ซึ่งทำให้ไม่สามารถให้บริการเชิงรุกเพื่อ สร้างสุขภาพและบริการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ประชาชนจำนวนมาก ยังคงเดินทางไปรับบริการที่โรงพยาบาลในเขตเมือง ทำให้เกิดการกระจุกตัว และความแออัด ในการให้บริการรักษาพยาบาล และเป็นภาระอย่างมากต่อประชาชนทั้งค่าเดินทางและเวลาที่สูญเสียไปในการเดินทาง ทั้งที่ปัญหาสุขภาพเหล่านี้ส่วนส่วนใหญ่สามารถจัดการได้ในระดับสถานีอนามัย

ดังนั้น การดำเนินนโยบายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงได้ในระยะยาว รวมไปถึง การตั้งเป้าหมายและ สร้างการมีส่วนร่วมที่ชัดเจน โดยใช้กลยุทธ์การสร้างศรัทธาและความไว้วางใจ (Faith and Trust ) ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงภูมิสถาปัตย์ให้สวยงาม น่าใช้บริการ การเพิ่มศักยภาพของทีมสุขภาพ ซึ่งได้แก่ แพทย์ (ถ้ามี) พยาบาล เจ้าพนักงานเภสัชกรรม ทันตาภิบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข การสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับชุมชน เมื่อมารับบริการแล้วได้รับยาและเวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพและเหมาะสม ไม่ขาดแคลน การเพิ่มศักยภาพการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวานและความดันโลหิตสูงมากขึ้น ทำให้ไม่ต้องส่งตัวมาโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลชุมชน อันจะก่อให้เกิดความแออัดและอาจนำไปสู่การได้รับการรักษาอย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรอย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น

ทั้งนี้ งบไทยเข้มแข็งกระทรวงสาธารณสุข เคยเป็นข่าวดังตามหน้าหนังสือพิมพ์และจอโทรทัศน์ อยู่นานหลายเดือน จน ส่งผลให้ วิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศลาออกจากตำแหน่ง

และ สมาพันธ์แพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ / โรงพยาบาลทั่วไป ได้ออกแถลงการณ์ ความว่า

สมาพันธ์แพทย์รพศ./รพท.

29 ธันวาคม 2552

เรื่อง งบไทยเข้มแข็งกระทรวงสาธารณสุข

กราบเรียน ฯพณฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
ฯพณฯวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นพ. บรรลุ ศิริพาณิช
นพ.วิชัย โชควิวัฒน
สื่อมวลชนทุกแขนง
ตามที่ได้มีการตรวจสอบทุจริตงบไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุขนั้น เป็นสิ่งที่ดีเพื่อให้มีการใช้งบประมาณของรัฐอย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด แต่ความพยายามชี้นำการเปลี่ยนแปลงงบประมาณไปสู่รพ.ชุมชนเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง

สมาพันธ์แพทย์รพศ./รพท.ขออธิบายหลักการดังนี้ ตลอดระยะเวลา 30 ปี ที่ผ่านมางบประมาณกระทรวงสาธารณสุขส่วนใหญ่นำไปใช้ในการพัฒนารพ.ชุมชน (รพ.อำเภอ) จนกระทั่งรพ.ชุมชนได้เกิดขึ้นทุกอำเภอ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ประชาชนจะได้รับการดูแลใกล้บ้าน รพ.ชุมชนได้ยกระดับจนสามารถให้บริการประชาชนได้ดี ในช่วงเวลาเดียวกัน รพศ./รพท. ได้รับงบประมาณน้อยมาก ส่วนใหญ่ต้องขอเงินบริจาคจากประชาชนหรือจากวัดมาสร้างตึกผู้ป่วย และซื้ออุปกรณ์การแพทย์ หาก รพศ./รพท. ใดไม่สามารถหาเงินบริจาคได้จะไม่มีการพัฒนา

นับแต่มีนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรคและมีการฟ้องร้องการรักษาพยาบาล รพ.ชุมชนทั่วประเทศ ได้ปรับลดขีดความสามารถของตัวเองจากที่เคยผ่าตัดไส้ติ่ง, ผ่าตัดทำคลอด หรือผ่าตัดอื่นๆ เป็นส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดมายัง รพศ./รพท. ทั้งหมดทำให้ผู้ป่วยในรพศ./รพท. เพิ่มขึ้น 2-3 เท่า ในช่วงระยะเวลา 6 ปี ที่ผ่านมาในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ไม่เพิ่มขึ้น แพทย์ พยาบาล ที่ทนทำงานหนักในรพศ./รพท. ไม่ไหวได้ลาออกไปทำให้การขาดแคลนรุนแรงขึ้น รัฐบาลปัจจุบันนี้ คือ รัฐบาลแรกในรอบ 30 ปี ที่เข้าใจต้นเหตุของปัญหา ได้จัดสรรงบประมาณให้รพศ./รพท. จัดสร้างตึกและซื้ออุปกรณ์การแพทย์ เพื่อรองรับกับความต้องการของประชาชนและรัฐบาลยังเห็นความจำเป็นของการรักษาใกล้บ้าน จึงตั้งเป้ายกระดับสถานีอนามัยขึ้นเป็นรพ.ตำบล ดังนั้น นโยบายจึงครอบคลุมทั้งการพัฒนาทางการแพทย์ขั้นสูง และการแพทย์พื้นฐานที่รพ.ตำบล

ทางสมาพันธ์ขอยืนยันว่านโยบายไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข เป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรดำเนินการต่อไป คณะกรรมการตรวจสอบทุจริตควรทำหน้าที่ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปอย่างถูกต้องเกิดประสิทธิภาพและรวดเร็ว ส่วนความเห็นว่างบประมาณควรไปที่ใดไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมการเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านในสภาและสื่อมวลชน

สมาพันธ์ขอแสดงความชื่นชมในการแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกของ ฯพณฯวิทยา แก้วภราดัย ขอแสดงความขอบคุณและเสียดาย รัฐมนตรี ที่มีความสามารถมีวิสัยทัศน์และมีความรับผิดชอบ แทนประชาชน

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

สมาพันธ์แพทย์รพศ./รพท.

Source by http://www.thaihospital.org/board/index.php?topic=21.0

No comments:

Post a Comment