3/23/11

ร่าง ระเบียบข้อบังคับ กองทุน อสม. อำเภอคำเขื่อนแก้ว



วันที่ 14 มีนาคม 2554: ผม นายพันธุ์ทอง จันทร์สว่าง เตรียม เอกสารประกอบการ ประชุม ชมรม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม .)อำเภอคำเขื่อนแก้ว ร่วมกับ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง.

เกี่ยวกับ การอนุมัติ ร่าง ระเบียบข้อบังคับ กองทุน อสม. อำเภอคำเขื่อนแก้ว

เพื่อเผยแพร่เป็นวิทยาทาน ต่อ อำเภออื่นๆที่ต้องการนำไปปรับใช้ จึงได้ร่างเสนอรายละเอียดดังนี้

ระเบียบข้อบังคับ

กองทุนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อำเภอคำเขื่อนแก้ว

เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมกองทุนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อำเภอคำเขื่อนแก้ว

จังหวัดยโสธร เป็นไปด้วยความเรียบร้อยเหมาะสม สอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์การพัฒนางานสุขภาพประชาชนของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอคำเขื่อนแก้ว ชมรม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อำเภอคำเขื่อนแก้วจึงกำหนดระเบียบข้อบังคับ เรื่อง กองทุนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อำเภอคำเขื่อนแก้ว

ไว้ดังต่อไปนี้

คำว่า กองทุน ตามระเบียบข้อบังคับนี้ หมายถึง กองทุนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อำเภอคำเขื่อนแก้ว

ข้อ ๑ ชื่อกองทุน และที่ตั้ง

๑.๑ ชื่อ กองทุน คือกองทุนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อำเภอคำเขื่อนแก้ว”

ชื่อ ย่อ ว่า กองทุน อสม .อำเภอคำเขื่อนแก้ว

๑.๒ ที่ตั้งของกองทุน ตั้งอยู่ ณ อาคารที่ทำการ ชมรม อสม . อำเภอคำเขื่อนแก้ว สำนักงานสาธารณสุขอำเภอคำเขื่อนแก้ว ถนนแจ้งสนิท บ้านลุมพุก ตำบลลุมพุก อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร

ข้อ ๒ วัตถุประสงค์

วัตถุประสงค์หลัก

เพื่อเป็นสวัสดิการและให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น แก่ สมาชิก กองทุนที่ประสบความทุกข์ หรือภัยภิบัติ

วัตถุประสงค์ทั่วไป

๒.๑ ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นสมาชิกกองทุนที่ประสบ ภัยภิบัติ เช่น วาตภัย อัคคีภัย

อุทกภัย ภายใต้ความเห็นชอบ ของคณะกรรมการกองทุน ทั้งนี้ ไม่เกิน รายละ ๓,๐๐๐ ต่อ ราย

๒.๒ เป็นสวัสดิการสำหรับสมาชิกกองทุนที่เจ็บป่วย ผู้ต้องเข้านอนรับการรักษาพยาบาล

ประเภทผู้ป่วยใน จากสถานพยาบาลของรัฐ รายละ ๓๐๐ บาทต่อคืน ทั้งนี้ รวมแล้ว ไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท

ต่อคนต่อปี

๒.๓ เป็นสวัสดิการสำหรับครอบครัวกรณีสมาชิกกองทุนหรือคู่สมรสเสียชีวิต รายละ ๒,๐๐๐ บาท

๒.๔ เป็นสวัสดิการสำหรับสมาชิกกองทุนที่เข้ารับการอบรม สัมมนาวิชาการ ทั้งนี้ รวมแล้ว ไม่เกินรายละ ๓,๐๐๐ บาทต่อคนต่อปี สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายดังนี้

๒.๔.๑ ค่าลงทะเบียน

๒.๔.๒ ค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย วันละ ๒๐๐ บาท

๒.๔.๓ ค่าพาหนะตามใช้จ่ายจริง

๒.๔.๔ ค่าที่พักตามใช้จ่ายจริง ทั้งนี้ ไม่เกิน ๘๕๐บาท ต่อคืน

ข้อ ๓ คุณสมบัติของสมาชิกกองทุน

๓.๑ สมาชิกสามัญ ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อำเภอคำเขื่อนแก้ว

๓.๒ สมาชิกสมทบได้แก่ บุคคลทั่วไปที่เข้าร่วมกิจกรรมของกองทุนโดยสมัครใจ

ข้อ ๔ การสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุน

๔.๑ สมัครเป็นสมาชิกด้วยความสมัครใจ ตามแบบฟอร์มใบสมัครยื่นต่อนายทะเบียน

๔.๒ นายทะเบียนจะเป็นผู้กำหนด และ แจ้งเลขที่สมาชิก ให้กับผู้สมัครต่อไป

ข้อ ๕ การพ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกของกองทุน

๕.๑ ตาย ๕.๒ ลาออก

๕.๓ ให้ออกตามมติของคณะกรรมการดำเนินงานเนื่องจากสมาชิกทำความเสื่อมเสีย

แก่กองทุนอย่างร้ายแรง เช่น ประพฤติผิดวินัย ศีลธรรม อย่างร้ายแรง เป็นต้น

ข้อ ๖ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

๖.๑ สมาชิกมีสิทธิเท่าเทียมกันในการแสดงความคิดเห็นและเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆของกองทุน

๖.๒ สมาชิกต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับขนบธรรมเนียมประเพณี ศีลธรรมอันดีงาม

โดยเฉพาะต้องมีคุณธรรมประจำใจ และปฏิบัติตามระเบียบของกองทุน

๖.๓ สมาชิกต้องชำระค่าบำรุงกองทุน ปีละ ๑๐๐ บาท

ข้อ ๗ การยกเลิกหรือพิจารณาว่าสมาชิกเป็นบุคคลที่ทำความเสี่ยมเสียแก่กองทุน อย่างร้ายแรง

มีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้

๗.๑ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน สืบสวน หาข้อเท็จจริง โดยให้ประธานเลือกสรรจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ใช่คณะกรรมการกองทุน ๓ คน คณะกรรมการของกองทุน ๑ คนและผู้บริหารใน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอคำเขื่อนแก้ว ๑-๒ คน รวมอย่างน้อย ๕ คน

๗.๒ แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหา รับทราบ หลังจากคณะกรรมการ สอบสวน สืบสวนหาข้อเท็จจริงและออกระเบียบคำสั่งให้สมาชิกถือปฏิบัติต่อไป

๗.๓ คำตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด

ข้อ ๘ การบริหารกิจกรรมในกองทุน

บริหารโดยคณะกรรมการกองทุนซึ่งคณะกรรมการกองทุนได้รับการแต่งตั้งโดยประธาน ชมรม อสม .อำเภอคำเขื่อนแก้ว โดยให้ นายทะเบียน ชมรม อสม . ทำหน้าที่ นายทะเบียนกองทุน

๘.๑ คณะกรรมการกองทุน ให้ คณะกรรมการ บริหาร ชมรม อสม .อำเภอคำเขื่อนแก้ว ทำหน้าที่ คณะกรรมการ กองทุน โดยประกอบด้วย คณะกรรมการ จำนวน ๒๓ คน มีวาระ คราวละ ๓ ปี หากมีคณะกรรมตำแหน่งใดการว่างลง

ถ้ากรรมการที่เหลืออยู่เกินกว่า ๑๒ คน ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้และ คณะกรรมการอาจมีมติให้ที่ประชุมคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งแทนได้ แต่ให้อยู่ในวาระเท่าทีเหลืออยู่ของคณะกรรมการกองทุนชุดนั้น ซึ่งคณะกรรมการกองทุนมาจากการคัดเลือกโดยสมาชิก ประกอบด้วยตำแหน่งต่างๆดังนี้

ประธานกรรมการกองทุน รองประธานกรรมการ

เลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ

เหรัญญิก ผู้ช่วยเหรัญญิก

นายทะเบียน ผู้ช่วยนายทะเบียน

ประชาสัมพันธ์ ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์

ฝ่ายปฏิคม ผู้ช่วยปฏิคม

และกรรมการอีก ๑๑ คน

๘.๒ คณะกรรมการที่ปรึกษา

๘.๒.๑ บุคคลที่ผู้บริหาร/คณะกรรมการกองทุนเลือกสรรและเห็นชอบ

๘.๒.๒ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขา ต่าง ๆ ที่คณะกรรมการเห็นสมควร

ข้อ ๙ การเลือกตั้งคณะกรรมการ

ในการประชุมครั้งแรก ให้ นายทะเบียนชั่วคราว เป็นผู้เสนอผู้บริหารเรียกประชุมใหญ่ได้

๙.๑ ประธานกรรมการกองทุน เสนอที่ประชุมเพื่อเลือกสรรคณะกรรมการชุดใหม่ หรือเสนอรายชื่อ คณะกรรมการชุดใหม่ให้ผู้บริหารเลือกสรร ก่อนหมดวาระอย่างน้อย 3 เดือน

๙.๒ การเลือกประธานกองทุน และตำแหน่งต่างๆ ของกรรมการให้กรรมการเลือกสรรเอง

ข้อ ๑๐ หน้าที่ของคณะกรรมการ

คณะกรรมการของกองทุน มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานกิจการต่างตามวัตถุประสงค์

๑๐.๑ ประธานกรรมการฯ มีหน้าที่เป็นประธานการประชุม ควบคุม กำกับการดำเนินงานของ กรรมการฝ่ายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามระเบียบของกองทุน

๑๐.๒ รองประธานกรรมการ มีหน้าที่ปฏิบัติงานแทนประธานกรรมการ เมื่อประธาน ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือดำเนินการตามที่ประธานกองทุนมอบหมาย

๑๐.๓ ถ้าประธานกองทุน รองประธานกองทุน ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการกองทุนที่สมาชิกเห็นชอบทำหน้าที่ประธานกองทุนแทนในการประชุมคราวนั้นๆ

๑๐.๔ เลขานุการ มีหน้าที่ติดต่อประสานงานทั่วไป นัดหมายการประชุม รักษาระเบียบข้อบังคับ สรุปผลการประชุม จดบันทึก ทำรายงาน และดำเนินการต่าง ๆ ตามที่ ประธานกองทุน มอบหมาย

๑๐.๕ เหรัญญิก มีหน้าที่ควบคุมดำเนินการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินของกองทุน จัดทำบัญชี

รายรับรายจ่าย และบัญชีควบคุมทรัพย์สินของกองทุน รายงานสถานการณ์การเงินให้สมาชิกรับทราบ ตามวาระที่ประธานกำหนด (การเบิกจ่าย แต่ละครั้งใช้ ชื่อผู้ที่ได้รับมอบหมาย ใน คน)

๑๐.๖ นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำ ควบคุมยอดสมาชิกของกองทุนตั้งแต่

การรับสมัครเข้าเป็นสมาชิกและการลาออก การหมดสภาพจากการเป็นสมาชิกกองทุน

๑๐.๗ ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่รับผิดชอบเผยแพร่กิจกรรมต่างๆ ของกองทุนและรับผิดชอบเป็นพิธีกร ดำเนินกิจกรรมกลุ่มให้กับสมาชิกกองทุน ฯ หรือกิจกรรมตามที่ได้รับ มอบหมาย

๑๐.๘ ปฏิคม มีหน้าที่เตรียมการต้อนรับและให้การต้อนรับแขกผู้มาเยือน สมาชิกของกองทุน รวมถึงการต้อนรับทั่วไปในภารกิจของกองทุน ฯ

๑๐.๙ กรรมการที่ปรึกษา มีหน้าที่สนับสนุน ให้คำปรึกษา แนะนำหรือให้ความรู้แก่กรรมการ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมของกองทุน ฯ ได้อย่างเหมาะสม

ข้อ๑๑ การจัดประชุมของกองทุน

๑๑.๑ กำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการ และสมาชิก ตามที่ เลขานุการกองทุนนัดหมาย การประชุมแต่ละครั้งต้องมีคณะกรรมการและสมาชิกเข้าร่วมประชุมอย่างน้อยกึ่ง หนึ่ง ของจำนวนกรรมการ และจำนวนสมาชิก

๑๑.๒ ให้มีการประชุมใหญ่สมาชิกประจำปี อย่างน้อยปีละ ครั้ง

ข้อ ๑๒ การยกเลิกกองทุน กรณีมีการยุบหรือยกเลิกกิจการของกองทุนการเงินและทรัพย์สินของกองทุนให้ยกเป็นของ ชมรม อสม .อำเภอคำเขื่อนแก้ว ทุกรายการ

ข้อ ๑๓ การแก้ไขระเบียบ

๑๓.๑ การแก้ไขระเบียบนี้ต้องเป็นมติที่ประชุมของคณะกรรมการกองทุน ฯ หรือที่ประชุมใหญ่สมาชิก

โดยถือเอาคะแนนเสียง ใน ของที่ประชุมเป็นข้อยุติ

๑๓.๒ ให้คณะกรรมการมีอำนาจในการออกระเบียบปลีกย่อยได้ โดยไม่ขัดต่อระเบียบนี้

ข้อ ๑๔ การเลิกกองทุน จะทำได้ต่อเมื่อเป็นมติเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่สามัญหรือวิสามัญ คะแนนเสียง
เห็นชอบให้เลิกกองทุนต้องมี ๓ ใน ๔ ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่เข้าประชุม

ข้อ ๑๕ งบประมาณ ของกองทุน มีที่มาดังนี้

๑. จากค่าบำรุงกองทุนของสมาชิก ปีละ ๑๐๐บาท ต่อ คน

๒. จากการสนับสนุน ของ บุคคล หน่วยงาน องค์กรและมูลนิธิต่างๆ

ข้อ ๑๖ ให้คณะกรรมการและสมาชิกของกองทุน ทุกคน เป็นผู้รักษาระเบียบนี้โดยเคร่งครัด

ข้อบังคับนี้ ให้บังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นต้นไป

ลงชื่อ

(นายสวาท ศรชัย)

ประธาน ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านอำเภอคำเขื่อนแก้ว

No comments:

Post a Comment