27 พฤศจิกายน 2553: ชีวิตเรานี้มี4ต.ธรรมะดีๆจาก มหา วา พนมไพร: เตาะแตะ >>เต่งตึง >> โตงเตง >>ต้องตาย
หรือ อาจจะเพิ่มเป็น เต่า ๘ ตัวก้ได้ เตาะแตะ ต้วมเตี้ยม>>>เต่งตึง เติบโต>>> โตงเตง ต่องแต่ง>>>ต้องตาย ตัวตาย
ผม นายพันธุ์ทอง จันทร์สว่าง ประทับใจ วิธีการเทศนาสั่งสอน ญาติโยม ของ ท่านพระครูปริยัติสันติธรรม เจ้าคณะอำเภอพนมไพรหรือ ท่านมหา วา วัดป่าบ้านชาด เจ้าคณะอำเภอพนมไพร ในงาน ฌาปนกิจศพ คุณพ่อบัญญัติ โชติแสง ณ วัดทุ่งสว่างอารมณ์สุข ตำบลสระแก้ว ท่านเทศนาด้วยภาธรรมดาๆ ที่เข้าใจง่ายแต่แฝงไว้ด้วยคติเตือนใจที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ในการดำเนินชีวิต เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และความจริงเกี่ยวกับ 4ต. หรือเต่า ๔ ตัว ที่กำลังคลืบคลานมาสู่ชีวิตเรา ซึ่งผมขอบันทึกตัวอย่างบางตอน โดยย่อ ดังนี้
เต่าตัวที่ 1.เตาะแตะ ต้วมเตี้ยม-แรกเกิดมาก็ต้องหัดคลาน เดินต้วมเตี้ยม มีคนจับคนสอน ช่วยประคับประคองไปก่อนโดยเฉพาะคนที่คอยประคับประคองเราตั้งแต่เล็กจนโต คือ คุณพ่อคุณแม่ ของเรานั่นเอง
เต่าตัวที่ 2.เต่งตึง เติบโต-เมื่อเจริญวัยขึ้นเป็นหนุ่มสาวก็ดูดี เจริญหูเจริญตาขึ้น สามารถทำการงาน อาชีพ ช่วยเหลือเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ บางคน พอ เต่งตึง ก็เหมือน ดอกไม้กำลังผลิบาน เกสรสวยงาม หากไม่มีสติ ชีวิตก้อาจจะล้มเหลวได้ เกสรที่เบ่งบานเต่งตึงสวยงาม ก็ต้องมีแมลง มีผึ้งมาไต่ตอม เกสรบางเกสร ยังคงเบ่งบานต่อไป ชีวิตก้เจริญรุ่งเรือง วัยนี้ บางคน ใช้ความเต่งตึงไม่ถูกวิธี พอมี แมลง มีผึ้งมาไต่ตอม เกสรบางเกสร ก็ รีบหุบ รีบยุบเอา ก็จะทำให้วัยเต่งตึงนี้เริ่มต้นเหี่ยวเฉาก่อนวัยอันควร “พอมีคนไปซูนไปต้อง คั่นหุบเอา อีกบ่โดนก็เหี่ยวอ้าวต้าว หมดความงดงาม เหี่ยวม่าวต้าว นั้น วัยนี้พึงระมัดระวังรักษาให้ดี รักษาไม่ดี ใครเขาจะเอาไปทำพันธุ์ มะละกอ แตงไทย ถั่ว เขาคัดเอาแต่ลูกดีๆ ไปทำพันธุ์ไม่มีใครเอาลูกที่มีแป้ว มีแมงไปทำพันธุ์ เมล็ดข้าว เขายิ่งพิถีพิถัน คัดแล้วคัดอีก จึงจะได้ข้าวหอมที่มีคุณภาพ คนเราก็เช่นกัน ต้องมีสติในการดำรงชีวิต
สติ ไม่มา ปัญญาไม่เกิด สติมา ปัญญาเกิด สติเตลิด ก็ เกิดปัญหา เรื่องนี้ อุทธาหรณ์ ที่ดีคือ ญาติโยม ถวายน้ำดื่ม ใส่ขวดบรรจุน้ำมัน ให้ท่านดื่ม (ขี้กะตืกตายเบิด ตายฮอดแคแมในแข่ว) และ พระอายุ ๙๖ ปี ขยันกวดลานวัด ขยันมาก กวาดไปถึง ๕ หมู่บ้าน แล้วพอถึง ถนนใหญ่ ก็ถามชาวบ้านว่า วัดบ้านข่อยไปทางใด๋... เป็นต้น
เต่าตัวที่ 3.โตงเตง ต่องแต่ง-แก่ชรา เนื้อหนังมังสาร่างกายเหี่ยวย่น หย่อนยานลง ก็ไม่น่าดู ไม่แข็งแรง ต้องพึ่งพาลูกหลาน ผู้อื่นในบางเรื่องบางอย่าง
เต่าตัวที่ 4.ต้องตาย ตัวตาย-เมื่อหมดอายุขัย ถึงคราหมดลมหายใจ ก็ต้องตายจากกันไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง
ชีวิตคนเรา ประกอบขึ้นด้วย ธาตทั้ง ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อตายก็ต้องคืนสภาพ ให้กับ ธาตุทั้ง ๔ ต่อไป
ชีวิตคน ชีวิตสัตว์ก็เหมือนกันอย่างนี้แหละ ทุกอย่างเป็นอนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา เหมือนกับที่ว่า "ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่นฟื้นไม่มีหนีไม่พ้น นั่นแล.....
ในแง่สัจจธรรม ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน ต.ตาย ก็มีสิทธิ์มาเยือนได้ทุกวัย จึงไม่ควรจะประมาทในชีวิต รักษาศีล 5 เคารพพระรัตนตรัย ไม่หลงยึดติดกับของสมมุติในโลกรวมทั้งกายสังขาร
+++เตาะแตะ..ตอนเป็นเด็กยังเล็กอยู่
เต่งตึง...สู้ชูชันนั่นสาวหนุ่ม
โตงเตง..ยานยามเฒ่าป่วยเร้ารุม
ต้องตาย..สุมเป็นศพจบทุกคน
………………………………….
+++ไปไม่กลับ...ฝังกลบเป็นศพเน่า
หลับไม่ตื่น..ไปเผาเป็นเถ้าป่น
ฟื้นไม่มี..ชีวีวายตายทุกคน
หนีไม่พ้น....ทุกผู้รู้ไว้เทอญ
………………………………….
โดยส่วนตัวแล้ว ผม เคยรู้จัก หรือเคยได้ยิน วัฏจักรชีวิต 5 พ. ซึ่ง เป็นการแบ่งวัยของคนตั้งแต่วัยทารก จนถึงวัยชรา
1. วัยพึ่ง คือวัยที่พึ่งพ่อแม่ สังคมส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับคนในบ้าน
2. วัยพบ คือวัยรุ่น จนถึงวัยหนุน่มสาว พบเห็นผู้คน สิ่งแวดล้อมมากมายภายนอกบ้าน
3. วัยเพียร คือวัยทำงานหาเลี้ยงชีพ ประกอบการงาน
4. วัยพัก คือวัยเกษียณ หรือ หยุดหรือคลายจากการทำมาหาเลี้ยงชีพ
5. วัยพราก คือวัยชรา ซึ่งเป็นวัยสุดท้ายของชีวิต ที่ไม่มีใครหนีพ้น
ซึ่ง 4 ต. ที่ผมรับทราบวันนี้ เหมือน 4 พ. เปี๊ยบ เลย จึงขอนำมาเทียบเคียงกันได้ดังนี้
ตัวแรก-เตาะแตะ ต้วมเตี้ยม คือวัยเด็ก หรือ วัย พึ่ง
ตัวที่สอง-เต่งตึง เติบโต คือวัยเติบโต เป็นผู้ใหญ่ หรือ วัย พบ (เพียร)
ตัวที่สาม-โตงเตง ต่องแต่ง คือวัยชรา หรือวัย พัก
ตัวที่สี่-ต้องตาย ตัวตาย คือวัย พราก
อยากหนีจาก 4 ต. หรือ 4 พ. ก็ได้นะครับ ง่ายๆ พระท่านว่าให้ปฏิบัติธรรมะ ครับ
No comments:
Post a Comment