6/25/16

24มิย.2559 คำเขื่อนแก้ว ชนะเลิศDHSระดับเขต_นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ มอบรางวัล

วันที่24มิถุนายน 2559ผมนายพันธุ์ทอง จันทร์สว่าง ไปพร้อมกับ นายชำนาญ มาลัย สาธารณสุขอำเภอคำเขื่อนแก้ว  เข้าร่วมรับฟัง สรุปผลการตรวจราชการและนิเทศงาน  กรณีปกติ  รอบที่ 2  ปีงบประมาณ 2559 
ณ ห้องประชุม ชั้น 5 โรงพยาบาล ยโสธร
ประธานโดย นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ  ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10
นพ.วันชัย เหล่าเสถียรกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร และ นพ.ธนิต สุขผ่องศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ยโสธร นำคณะจากทุกอำเภอ ร่วมรับฟังคำแนะนำ
            DHS คำเขื่อนแก้ว รับรางวัลชนะเลิศระดับเขต   
ในโอกาสนี้ นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ  ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10 ได้มอบรางวัลชนะเลิศ ระดับเขต ให้กับ ระบบสุขภาพอำเภอคำเขื่อนแก้ว จากการใช้ กระบวนการ 555 ขับเคลื่อนวาระ 5 ดี เพื่อคนคำเขื่อนแก้วสุขภาพดี โดยมีภาคีระบบสุขภาพอำเภอคำเขื่อนแก้ว เข้าร่วมรับรางวัลอย่างอบอุ่น  

ชื่อ เกียรติบัตรการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ Best Practice สาขาปฐมภูมิ เขตสุขภาพที่ ๑๐
























            ผู้บริหาร ระบบสุขภาพอำเภอคำเขื่อนแก้ว ที่เข้าร่วมงานในวันนี้ นายสมศักดิ์ บุญทำนุก อำเภอคำเขื่อนแก้ว ประธาน รสอ.คำเขื่อนแก้ว ติดภารกิจสำคัญ ในพื้นที่ มอบหมายให้ คณะเข้ารับรางวัล อาทิเช่น
นพ.จักราวุธ จุฑาสงฆ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล คำเขื่อนแก้ว รองประธาน รสอ. คำเขื่อนแก้ว
นายชำนาญ มาลัย สาธารณสุขอำเภอคำเขื่อนแก้ว
นายวิชาญ สมยา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านาหลู่
นายวัฒนา วงเวียน           นายอกองค์การบริหารส่วนตำบลนาแก
นายไพศาล เพชรอุบล ประธานชมรม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอคำเขื่อนแก้ว
นายสวาท ศรชัย ประธานชมรม อสม. อำเภอคำเขื่อนแก้ว
คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล คำเขื่อนแก้ว
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นต้น
            ระบบสุขภาพอำเภอคำเขื่อนแก้ว (รสอ.) District Health System:DHS มีศูนย์ประสานงานอยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอคำเขื่อนแก้ว ขับเคลื่อนผ่านกลไกสุขภาพแบบบูรณาการใน 3 ระดับ ทั้งระดับอำเภอ(DHS)
ซึงมีนายอำเภอเป็นประธาน ระดับตำบล(THS) 13 ตำบล มี นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นประธาน ระดับหมู่บ้าน(VHS) 115 หมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน ร่วมกันขับเคลื่อนวาระ 5 ดี มุ่งสู่  “คนคำเขื่อนแก้วสุขภาพดีอย่างยั่งยืน”  เป้าหมาย 1.อายุเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด 80 ปี 2. อายุเฉลี่ยการมีสุขภาพดี 72 ปี 
โดยการพัฒนา ผ่านเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการคืนข้อมูลสุขภาพอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ ประสานความร่วมมือจากกลไกทุกภาคส่วนรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ร่วมกันประกาศและลงนาม ขับเคลื่อนวาระ 5 ดี    ได้แก่
 1.ดูแลตนเองดี (เน้นการป้องกันและควบคุมโรคเบาหวาน/ความดันโลหิตสูง)
 2. สะอาดดี (เน้นสะอาดปราศจากลูกน้ำยุงลายในครัวเรือน)
 3. วัยเรียนวัยรุ่นพฤติกรรมสุขภาพดี (เน้นลดการตั้งครรภ์ไม่พร้อม/การตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่น) 
 4. แม่และเด็กสุขภาพดี (เน้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนและเด็กมีพัฒนาการสมวัย)
5. ดูแลกันและกันดี (เน้นพัฒนาคุณภาพศูนย์ดูแลต่อเนื่องผู้สูงอายุติดเตียง,ผู้พิการต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน,ผู้ป่วยประคับประคองระยะสุดท้าย)
 โดยใช้กระบวนการ 5:5:5 คือ 5 : ภาคีเครือข่ายบวร ( 1.ท้องถิ่น 2.ท้องที่ 3.การศึกษา 4.ศาสนา
5.สาธารณสุข),
 5 ร่วม : 1.ร่วมคิด 2.ร่วมทำ 3.ร่วมรับผิดชอบ 4.ร่วมกำกับประเมินผล 5.ร่วมพัฒนาต่อเนื่อง และมีกระบวนการ ดำเนินงาน 5 ขั้นตอน ตามลำดับ คือ
                1. การคืนข้อมูลข่าวสารโรคและภัยสุขภาพ
                2. กรรมการทั้ง 5 ภาคีเครือข่ายร่วมตัดสินใจ
                3. จัดทำแผนสุขภาพชุมชน
                4. บูรณาการงบประมาณ
               5. ดำเนินงานกำกับและประเมินผล
ผลลัพธ์จากการขับเคลื่อนโดยกลกสุขภาพในทุกระดับ
มีผลลัพธ์การพัฒนาเกิดเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพในอำเภอคำเขื่อนแก้ว ดังนี้
1.ดูแลสุขภาพตนเองดี  วัยทำงาน โรคเบาหวาน/โรคความดันโลหิตสูง ยังเป็นปัญหาสุขภาพของ
คนคำเขื่อนแก้ว อัตราผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีภาพรวมร้อยละ17.92 ซึ่งยังต่ำกว่าเกณฑ์(เป้าหมายร้อย40) และโรคความดันโลหิตสูงอัตราผู้ป่วยที่ควบคุมระดับความดันโลหิตได้ดีร้อยละ33.94 ต่ำกว่าเกณฑ์ (เป้าหมายร้อย50) เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วย รสอ.มีนโยบาย สร้างครูก. โดยกำหนดให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลละ 3 คน (เป็นหมอครอบครัว 1 คน และผู้ช่วยหมอครอบครัว 2 คน) อบรมหลักสูตรแพทย์ทางเลือกวิถีธรรม 5 วัน ณ สวนป่านาบุญ จังหวัดมุกดาหาร และกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมไม่ได้ รพ.สต.ละ 2-4 ค่ายๆละ 50 คน หลักสูตรเข้มข้น 2 วัน และส่งต่อให้หมอครอบครัวดูแล แนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง บูรณาการ 32 ส และสมาธิบำบัดแบบSKT ในคลินิกเบาหวานและความดันโลหิตสูง มีโรงเรียนสุขภาพในการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อนในการดูแล เช่น ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ ความดันโลหิตควบคุมไม่ได้ CVD Risk เสี่ยงสูงมากและเสี่ยงสูงอันตราย
2.สะอาดดี มุ่งเน้นให้กลไกสุขภาพระดับระดับตำบล หมู่บ้าน ร่วมกับขับเคลื่อน ให้หลังคาเรือน,ชุมชน,วัด,โรงเรียน,ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สะอาดปราศจากลูกน้ำยุงลาย โดยให้ผนวกกิจกรรมการควบคุมกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลายโดยวิธีทางกายภาพและชีวภาพ เช่น การกำจัดขยะ และจัดหาที่เลี้ยงปลากระดี่, ให้อสม.ทุกคนมีการจัดประกวดความสะอาดคุ้มและหมู่บ้านทุกตำบล
3.วัยเรียนวัยรุ่นมีพฤติกรรมสุขภาพดี ในปีงบประมาณ2558 วัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี ตั้งครรภ์ซ้ำ
ร้อยละ 16.28 (เป้าหมาย10) ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ จึงกำหนดนโยบายให้โรงเรียนสอนทักษะชีวิต และเพศศึกษารอบด้าน โดยใช้หลักสูตร PATH สอนโดยครู โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง สนับสนุนงบประมาณ เป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ คู่มือและค่าวิทยากร ในโรงเรียนมัธยม 5 แห่ง โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา 12 แห่ง ครอบคลุม กลุ่มเป้าหมาย 100 % จัดหาตู้ถุงยางอนามัยหยอดเหรียญตำบลละ 2 แห่ง เพื่อให้การเข้าถึงถุงยางอนามัยได้สะดวก ลดภาวะเสี่ยงจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อม
4.แม่และเด็กสุขภาพดี มารดาหลังคลอดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน ร้อยละ 37.58 (ข้อมูล ต.ค.2557-ก.ย.2558) ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย(ร้อยละ 50) กลวิธีสำคัญในการแก้ไขปัญหา เน้นการดูแลหญิงตั้งครรภ์ภายใน 12 สัปดาห์ให้ได้ตามเกณฑ์การฝากครรภ์ 5 ครั้งคุณภาพ โดยส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์เข้าร่วมโครงการ ธนาคารนมแม่ มีอุปกรณ์ปั๊มนมแม่เป็นชุดของขวัญมอบให้  เมื่อมารดาหลังคลอดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ครบ 6 เดือน จะได้รับใบประกาศเกียรติคุณเป็นบุคคลต้นแบบ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่งในอำเภอคำเขื่อนแก้ว จัดหาตู้เย็นแช่แข็งนมตั้งเป็นธนาคารนม มีระบบขนส่งและฝากนมแม่ที่มีคุณภาพเพื่อสนับสนุนให้มารดาหลังคลอด(กรณีไปทำงานนอกพื้นที่ และไม่สามารถให้ลูกดื่มนมจากเต้าได้ตลอดเวลา) ให้ลูกได้ดื่มนมแม่ครบ 6 เดือน
มีระบบดูแลแม่และเด็กโดยทีมหมอครอบครัวดูแลอย่างใกล้ชิด มีการตรวจพัฒนาการเด็กตามเป้าหมายอย่างครอบคลุมครบถ้วน ซึ่งพบเด็กมีพัฒนาการล่าช้า จำนวน ๓ คน ส่งเข้าระบบการดูแล พร้อมจัดหาวัสดุอุปกรณ์ ส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการเด็กให้เหมาะสมตามวัย ครบถ้วนในทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกแห่ง เด็กมีพัฒนาการสมวัย ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการ ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ได้มาตรฐานและเพียงพอ 
5.ดูแลกันและกันดี ผู้สูงอายุติดเตียง ๘๔ คน ผู้พิการที่มีภาวะพึ่งพิง ๒๓๕ คน ผู้ป่วยที่ต้องการดูแลแบบประคับประครอง ๑๕ คน รวม ๓๓๔ คน ผู้สูงอายุติดเตียงเปลี่ยนมาติดบ้าน จำนวน ๗ คน (ข้อมูล ณ มี.ค. 2559) ได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วนจากทีมหมอครอบครัว(FCT) หมอครอบครัว(CMหลักสูตร 420 ชั่วโมง 1 คน ) และผู้ดูแล(CGหลักสูตร 70 ชั่วโมง 6 คน)  แบบดูแลกันและกันดีมีคุณภาพครอบคลุมและครบถ้วน โดยบริการผ่านศูนย์การดูแลต่อเนื่องระดับอำเภอ(COC) ตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว โดย ระบบสุขภาพอำเภอ ร่วมกับกลไกสุขภาพจากทุกตำบล จัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ ตั้งเป็นคลังวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นให้ผู้รับบริการยืมใช้ ฟรี
มีแผนการดำเนินงานในปี 2559 คปสอ.คำเขื่อนแก้วกำหนด ตำบลแคนน้อย เป็นพื้นทีดำเนินการตำบลต้นแบบดูแลผู้ป่วยระยะยาว( LTC )และ กำหนดให้มีการดำเนินงานพัฒนาตำบลจัดการสุขภาพ ครบทั้ง 13 ตำบล ภายใต้การบริหารกองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่น ทั้ง 14 กองทุน ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยบริการ เพื่อการพัฒนาสุขภาพประชากร 5 กลุ่มวัย สู่การพัฒนาเป็นตำบลจัดการสุขภาพแบบบูรณาการต่อไป


            ทั้งนี้ สำนักตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10  มีกำหนดตรวจราชการ ณ จังหวัดยโสธร ระหว่างวันที่  22 – 24  มิถุนายน  ๒๕๕๙ ซึ่งเป็น การตรวจราชการและนิเทศงาน  กรณีปกติ  รอบที่ 2  ปีงบประมาณ 2559  เพื่อรับทราบ   สถานการณ์ด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน และผลการดำเนินงานตาม    ตัวชี้วัดการตรวจราชการของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผลการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ อันเป็นผลมาจากการดำเนินกิจกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงาน     และสถานบริการสาธารณสุข ในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร

No comments:

Post a Comment